สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก้สมการ ค่านิยม ไทย ๆ รายได้-รายจ่าย = เงินออม รายได้-เงินออม = ค่าใช้จ่าย

จากประชาชาติธุรกิจ

มีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้ง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศที่มี นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธาน แม้นายอานันท์พูดติดตลกว่า คณะกรรมการ 2 ชุดนี้เหมือน    ′แฝดอิน-จัน′ ก็ตาม ความหมาย ′แฝดอิน-จัน′ คือ คณะกรรมการชุด ′อานันท์′ เป็นการคิดจากข้างบนว่าควรปฏิรูปอย่างไร ขณะที่คณะกรรมการชุด ′ประเวศ′ มาจากข้างล่าง เอามาประกบกัน

′ประชาชาติธุรกิจ′ มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ′เอ็นนู ซื่อสุวรรณ′ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ

ทั้งนี้โดยบทบาทที่ผ่านมาของ ′เอ็นนู′ ได้ทำเรื่องปฏิรูปประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะ ′คน ธ.ก.ส.′        ที่ต้องเข้าถึง เข้าใจและพัฒนา โดยลงพื้นที่รับรู้รับฟัง ′เกษตรกร′มาตลอดชีวิตการทำงาน และเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อความรู้สึกของคนฐานราก ′เอ็นนู′ มองว่าการปฏิรูปประเทศไทยครั้งนี้จะต้องก้าวข้ามประเด็น ′การปรองดอง′ โดยมองประเทศโดยรวมว่าเมืองไทยมีดีอะไร อะไรยังมีปัญหาและควรแก้อย่างไร ที่ดีอยู่แล้วทำให้ดีขึ้นได้ไหม นี่คือแนวคิดการปฏิรูป พร้อมกับมองกลยุทธ์การขับเคลื่อนการปฏิรูปว่าต้องอาศัย 1.พลังความร่วมมือจากสื่อ ต่อให้คณะกรรมการคุยกันอย่างไร หากคนไม่ได้ยิน  ก็ไม่สำเร็จ นักการเมืองก็ไม่ฟัง  

2.การลงพื้นที่จริง ทำงานร่วมกับคนในท้องถิ่น ชุมชน ให้เขาพูดกับเราได้ตรงเราเชื่อว่าสองเรื่องนี้น่าจะทำให้งานเดินหน้าได้ คือได้พบคนที่เดือดร้อนจริง และสื่อความว่ามีคนเดือดร้อนและเขาจะแก้แบบนี้ เห็นด้วยไหม...ไม่เห็นด้วยอย่างไร นี่คือหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูป  

′เอ็นนู′ เชื่อว่า สังคมที่เป็นธรรม ต้องมี

1.ทุกฝ่ายต้องให้เกียรติทุกคน และทุกคนเป็น ′คนที่มีพลัง′ บ้านเราจะต้องหาวิธีเปลี่ยน ′ประชาชน′ ให้เป็น ′พลเมือง′ ′พลเมือง′ แปลว่า ′กำลังของเมือง′ ณ วันนี้ปล่อยให้เป็นประชาชน มีหน้าที่เรียกร้องให้คนอื่นมาช่วยทั้งจากรัฐบาล ราชการ เพราะฉะนั้นเราต้องเชื่อก่อนว่า คนมีความสามารถ มีพลัง และให้คนเหล่านี้มีโอกาส ทำอาชีพของตัวเอง เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงพลังตัวเองในการพัฒนาอาชีพ ครอบครัว  

2.ปัจจัยพื้นฐาน คนที่เกิดมาเป็นคนไทย เขาต้องมีปัจจัย 4 ระดับพื้นฐาน เช่น มีที่ดิน หากเขาไม่มีที่ดินเขาจะรักษาแผ่นดินทำไม ถ้าหากเขาต้องไปรบแทนคนอื่นเพื่อแผ่นดินไทย โดยที่เขาเองยังไม่มีแผ่นดินเลย เขาจะรักษาไปเพื่อใคร เพราะฉะนั้นปัจจัยพื้นฐานนี่ช่วยให้เขามีโอกาส อันนี้สำคัญมาก ๆ  

3.ระบบการตรวจสอบดูแลไม่ให้ ′ใครเกินไป′ ใช้อำนาจวาสนาเบียดบังคนอื่น เมื่อคุณรวบมาเยอะ ก็ไปเบียดคนอื่น ต้องไม่ยอมให้ใครสะสมแบบนี้ ถ้าถามว่าจะแก้อย่างไร

′เอ็นนู′ กล่าวว่าอาจจะยาก บ้านเมืองเราเดินแบบทุนนิยมมาไกลมาก และคนตัวใหญ่กินเยอะ ถ้าเป็นรถเมล์ก็เบียดคนอื่นไปกองที่ท้ายรถแล้ว ดังนั้นการแก้ต้องมาจาก  ผู้ที่มีอำนาจต้องยอมรับก่อนว่า เราไปไม่รอดถ้าสังคมยังปล่อยให้อยู่อย่างนี้ ต้องยอมสละสิ่งที่ตัวเองได้สิทธิเหนือคนอื่น ดังนั้นต้องแก้จากข้างบน ต้องยอมสละบางส่วน หรือ     ยุติการกอบโกย แล้วต้องแบ่งปัน  

′เรายังมีคนยังไม่ยอมพอ ยังพยายามใช้ทุกอย่างที่ตัวเอง  ได้เปรียบ เราถูกฝรั่งกรอกหูมาว่า compettiveness     เป็นคาถาสำคัญ เราจะต้องเอาชนะคนอื่น เราจะสร้างความได้เปรียบตรงไหนบ้าง ไม่เห็นมีข้อไหนที่พูดถึงการแบ่งปัน เขาไม่ได้สอน เขาเน้นการได้เปรียบ หากเรายังเชื่อทฤษฎีนี้ คุณก็มีปัญหานะ พิสูจน์แล้วระดับโลกที่เขามีปัญหา อย่าคิดว่าการสร้างกฎ กติกา มารยาท เรื่องความโปร่งใส ธรรมาภิบาล ซีเอสอาร์ แล้วจะทำให้คนเปลี่ยน แต่คนที่ออกกฎพวกนี้มาอย่างสหรัฐอเมริกา ล่มสลายกันหมด กลายเป็นโกงกันหมด กฎกติกามันไม่จริง ถ้าคุณ absolute power มันจะ absolute corruption′  

พร้อมกับชี้แนะว่า ′ผมอยู่ในภาคเกษตร ผมมองว่าบ้านเราไปเชื่อฝรั่ง คือ ′คิดทำมาค้าขาย′ แทน ′คิดทำมาหากิน′ เดิมเราคิดทำมาหากิน หากมีกินก็มีแรงไปประกอบอาชีพ ไปทำอย่างอื่น ทำให้เขาคิดว่าทำอย่างไรให้พออยู่พอกิน เหลือแล้วค่อยขาย แต่เราถูกสอนใหม่ว่าทำมาหากิน พออยู่พอกิน ′ดี′ แต่ ′ไม่รวย′ นะ หากอยากรวยต้องเปลี่ยนความคิด ต้องทำมาค้าขาย เพราะ  ค้าขายเท่านั้นที่รวย เห็นไหมพ่อค้ารวยกันหมด ก็เลยเปลี่ยนวิถีคน    ให้คนมาคิดว่าทำอะไรมา ′ขาย′ เราพบว่า ชาวนาจำนวนมาก   ปลูกข้าวที่ตัวเองไม่กิน ปลูกไปขาย ได้เงินกลับไปซื้อข้าวมากิน   มันผิด กลายเป็นชีวิตไปขึ้นกับคนอื่น′   

ต้องคิดทำ′Local′ก่อนแทนที่จะทำเพื่อ′Global′ ให้คนไทยมีกินมีใช้ก่อน ส่วนที่เหลือตั้งราคาได้ เพราะเรามีกินแล้ว หากให้ราคาแค่นี้เราไม่ขาย ถ้าหากผลิตมาเรายังไม่ได้กินแล้วเราต้องขายจีดีพีของเราแทนที่ 70%ส่งออก กลับทางเป็น..กินใช้เอง 70% ส่งออก 30% ถ้าข้างนอกเป็นหวัด เราจะได้ไม่เป็นหวัด นี่คือภูมิคุ้มกัน แต่เราไม่สร้างเลย หรืออย่างเราขายข้าวโพด ราคาขึ้นกับราคาที่   ชิคาโก สหรัฐอเมริกา เพราะคิดทำเพื่อขายก็ขึ้นอยู่กับคนซื้อเพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยน ต้องกลับทาง แต่ค่อยๆพลิก โดยมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน  

′โดยเราต้องคิดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำถึงปลายน้ำ  ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ประโยชน์ เพราะถ้าสู้กันเมื่อไหร่คนตัวเล็กตายก่อน ตัวใหญ่มักรวมกับตัวใหญ่ ต้องคิดให้ครบ′ ′เอ็นนู′ แนะว่า เราต้องก้าวข้ามปัญหาให้ได้ หากเราติดอยู่กับปัญหา มันจะวน เราต้องรู้ปัญหา วางปัญหาลง แล้วคิดดูว่าเรามีข้อดีอะไร ขยายความเข้มแข็งนั้นออกไป เพื่อทำให้เรื่องที่ไม่ดีมันเล็กลง ๆ จากประสบการณ์การทำงานที่ ธ.ก.ส. อย่าไปยึดติดกับปัญหา หยุด รู้แล้ววางลง ทำเรื่องที่ดีให้มันใหญ่ขึ้น ๆ  

′วันนี้เราชอบแก้โดยย้ายปัญหาไปอยู่ที่อื่น สักพักมันจะวนกลับมา วิธีแก้ต้องทำปัญหาให้จาง หากสังเกตจะพบว่า พอมีปัญหาเราก็ให้นายกรัฐมนตรีแก้ รมต.แก้ ปลัดกระทรวงแก้...ผู้ใหญ่บ้านแก้ แต่ตัวเองไม่แก้ เพราะทุกคนไม่เชื่อในพลังของตัวเอง ทุกคนมีพลัง แต่จะมีมากน้อยแตกต่างกัน ทำไมไม่สร้างสิ่งเหล่านี้ ทำให้สิ่งที่ไม่ดีหรือปัญหามันจาง อย่าเรียกร้องจากคนอื่น เริ่มจากตัวเรา เช่น เรียกร้องวินัย แต่ไปเรียกร้องจากคนอื่น ไม่เรียกร้องจากตัวเอง เช่น โดนจับใบขับขี่ก็มองหาใครช่วยได้ เราต้องทำเรื่องพวกนี้ก่อน ต้องเข้มงวดตัวเอง ผ่อนปรนผู้อื่น อย่าไปฝันว่าโลกนี้จะมีนักการเมืองที่ดีที่สุด นายกฯที่ดีที่สุด เขามีจุดอ่อนอะไร เราจะช่วยอะไรได้ไหม เช่นเดียวกับงานในที่ทำงาน หากเราไปเสริมให้เข้มแข็งขึ้นได้ไหม′  

ดังนั้นการที่เราเดินแนวทุนนิยมมาไกลมาก ทำให้เราไปเชื่อเรื่อง ′เงิน′ ทั้ง ๆ ที่ ′เงิน′ ควรเป็น ′เครื่องมือ′ ไม่ใช่ ′เป้าหมาย′ เงินทำให้สะดวก แต่เอาเครื่องมือมาเป็นเป้าหมาย ดังนั้นทำให้คนจะพยายามให้ได้ ′กระดาษ′ แผ่นนี้มาด้วยวิธีใดก็ได้โดยไม่สนใจ สังคมจึงเพี้ยนหมด  

′ผมได้คุยกับคนเยอรมัน เขาบอกว่าหากเรารู้จักสะสมเงินโดยวิธีที่ถูกจะช่วยได้เยอะ โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย อย่างที่อาจารย์จำเนียร (ผู้จัดการ ธ.ก.ส.คนแรก) สอนว่า โภคทรัพย์ของผู้ครองเรือนดี เหมือนจอมปลวกที่ก่อขึ้น คาบดินทีละนิดมาไม่นานเป็น  จอมปลวกที่ใหญ่ขึ้น คนเยอรมันก็เช่นเดียวกัน เขาสอนให้เด็ก ๆ ยึด 2 ตัว คือวินัย และการออม 

วินัยยึดให้คนอยู่ด้วยกันได้ โดยไม่ต้องกล้ำกลืนกัน ประเทศไม่มีทางไปได้ ถ้าไม่มีวินัย 2.การออม ทุกคนต้องก่อร่างสร้างตัว สำคัญมากคือการจัดการกระแสเงิน เขาบอกว่าคนไทยคิดผิด ใช้สมการการเงินผิด"

"รายได้-รายจ่าย" = เงินออม

มีรายได้ใช้จ่ายไป ถ้าเหลือแล้วค่อยเก็บ ถ้าไม่เหลือก็ไม่เก็บ และระยะหลังไทยถูกกระแสให้ใช้จ่ายเกินตัว สมการจึงเป็น

"รายได้-ค่าใช้จ่าย" = หนี้สิน

ค่าใช้จ่ายถ้า รายได้ไม่พอ ก็ต้องไปยืมเขามา เป็นการสร้างหนี้ แต่เยอรมันเขาไม่ยอม เขาไม่ใช้ทั้ง 2 สมการนี้ เขาใช้สมการ

"รายได้-เงินออม" = ค่าใช้จ่าย

ไม่ว่าคุณมีรายได้แค่ไหน คุณต้องออมก่อนตามความสามารถคุณ ที่เหลือค่อยมาบริหารว่าจะใช้แค่ไหน คิดแค่นี้จบเลย ก็ไม่มี หนี้สิน เหมือนจอมปลวก เงินออมเวลาโตขึ้นจะเป็นจอมปลวกใหญ่

นี่คือการคิดใหม่ รื้อใหม่

ข้อ ไม่ดีต้องเอามาเป็นบทเรียนว่าไม่ควรทำซ้ำ ประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาดต้องไม่กลับมาอีก

Tags : แก้สมการ ค่านิยม ไทย ๆ รายได้-รายจ่าย เงินออม รายได้ เงินออม ค่าใช้จ่าย

view