จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : สาธิต อุปชา
ดีเดย์ 11 ส.ค. ฝากเงินเกิน 50 ล้านบาท เลิกคุ้มครอง! สถาบันคุ้มครองเงินฝากมั่นใจไม่โกลาหล ตุน 6.6 หมื่นล้านแบ็คอัพ ยันสถาบันการเงินไทยแกร่ง
11 ส.ค. 2554 ถือเป็นวันที่เป็น "จุดเปลี่ยน" ครั้งสำคัญของสถาบันการเงินไทย เพราะกฎหมายคุ้มครองเงินฝากจะเริ่มลดสัดส่วนการคุ้มครองเงินฝากในปีนี้เป็นปีแรก โดยลดวงเงินคุ้มครองเหลือไม่เกิน 50 ล้านบาท/บัญชีเงินฝาก และหลังจากนั้นอีก 1 ปี หรือในวันที่ 11 ส.ค.2555 สัดส่วนการคุ้มครองจะลดลงเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 บัญชีเงินฝาก
มีการตั้งประเด็นคำถามว่าสถาบันการเงินไทยมีความพร้อมเพียงพอหรือไม่ และจะส่งผลกระทบกับผู้ฝากเงินอย่างไร จะเกิดเหตุการโกลาหลหรือไม่ วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” มีคำตอบ จาก สิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก องค์กรที่จะเข้ามามีบทบาทกรณีสถาบันการเงินเกิดมีปัญหาจนถึงขั้นปิดกิจการ องค์กรแห่งนี้ก็จะเข้าไปทำหน้าที่ในการชำระบัญชีสถาบันการเงิน และคืนเงินฝากให้กับสถาบันการเงินตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด
"ผมว่าสถาบันการเงินในบ้านเรามั่นคงมาก มากเป็นพิเศษด้วยซ้ำไปเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินในสหรัฐ ยุโรป หรือในญี่ปุ่น และฐานะการเงินมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก เมื่อเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจ สมัยที่เราขอรับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) เมื่อ 14-15 ปีที่ผ่านมา เราผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ และคนก็อยากเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้เยอะ ซึ่งแสดงว่าไม่น่าจะมีปัญหา"
สิงหะ กล่าวว่า ภาพรวมสถาบันการเงินไทย ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ล้วนแล้วแต่มีความมั่นคง มีเงินกองทุนเพียงพอ เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาจนถึงขั้นต้องปิดกิจการ ที่สำคัญเศรษฐกิจไทย มีความแข็งแกร่ง ไม่ได้รับผลกระทบแม้จะเกิดวิกฤติการเงินในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติซับไพร์ม หรือวิกฤติหนี้เสียในยุโรปที่กำลังลุกลามอยู่ในขณะนี้
ส่วนความพร้อมในการรับมือกรณีที่สถาบันการเงินถูกปิดกิจการ สิงหะ กล่าวว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝากพร้อมเข้าไปดูแลตามที่กฎหมายกำหนด โดยปัจจุบันสถาบันการเงินส่งเงินเข้าสมทบกองทุนแล้วกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท จากจำนวนเงินฝากของสถาบันการเงินทั้งระบบที่มีประมาณ 7 ล้านล้านบาท แม้เงินกองทุนอาจดูเหมือนว่ามีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินฝาก แต่สถาบันคุ้มครองเงินฝากก็สามารถออกพันธบัตรได้ ซึ่งเชื่อว่าหากเกิดกรณีปิดกิจการสถาบันการเงินขึ้นในอนาคตไม่น่าจะมีปัญหาอย่างแน่นอน
ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ฝากเงิน หลังวันที่ 11 ส.ค.2554 ที่จะเริ่มลดสัดส่วนการคุ้มครองเงินฝากเหลือไม่เกิน 50 ล้านบาท/บัญชี สิงหะ บอกว่า เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับภาพรวมสถาบันการเงิน เพราะผู้ฝากเงินส่วนใหญ่กว่า 98.5% เป็นผู้ฝากเงินรายย่อยที่มีวงเงินต่ำกว่า 1 ล้านบาท แต่สำหรับลูกค้ารายใหญ่ที่มีวงเงินมากกว่า 50 ล้านบาท คงต้องมีการปรับตัว และกระจายการฝากเงิน เพื่อลดความเสี่ยง
"ผมคิดว่าการลดสัดส่วนการคุ้มครองเป็นผลดีกับประชาชน และเป็นผลดีกับเศรษฐกิจโดยรวม ประชาชนไม่น่าจะวิตก เพราะเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานแกร่ง ขณะที่สถาบันการเงินไทยในขณะนี้ก็มีความเข้มแข็ง และเป็นอีกมิติหนึ่ง ที่ทำให้แบงก์หันมามองตัวเอง และเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม"
ส่วนการสื่อสารและการทำความเข้าใจกับผู้ฝากเงิน เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนกกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของระบบการเงินไทย สิงหะ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ได้ออกไปโรดโชว์ต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนถึงความมีอยู่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และบทบาทของกระทรวงการคลัง ธปท. ในการออกใบอนุญาต และการกำกับดูแลสถาบันการเงิน
ทั้ง 3 หน่วยงานจะออกไปให้ความรู้ประชาชน เพื่อให้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลา 3 เดือนนี้ ให้เข้าใจถึงบทบาทของกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ออกใบอนุญาตสถาบันการเงิน บทบาทของ ธปท.ในการดูแลและควบคุมสถาบันการเงิน และบทบาทของสถาบันคุ้มครองเงินฝากในการตั้งรับ และทำหน้าที่ชำระบัญชีสถาบันการเงินในกรณีที่ถูกปิดกิจการ
โดยในเดือน มิ.ย. สถาบันคุ้มครองเงินฝากเตรียมยิงสปอตโฆษณา ผ่านสื่อโทรทัศน์ เพื่อเป็นการสื่อให้เห็นถึงการมีอยู่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ
ขณะเดียวกันสถาบันคุ้มครองเงินฝากยังเตรียมนำผลการศึกษาโครงการทำสัญลักษณ์ หรือข้อความ เพื่อแสดงบนโปรดักท์เงินฝากของสถาบันการเงินว่า โปรดักท์ใดที่ได้รับการคุ้มครองหรือไม่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก เพื่อป้องกันความสับสนของผู้ฝากเงิน
สิงหะ บอกว่า สัญลักษณ์หรือข้อความที่ปรากฏ จะคล้ายกับมี อย. ในโปรดักท์ เพื่อแยกแยะให้ผู้ฝากได้รู้ว่า อันไหนได้รับการคุ้มครองหรือไม่ได้รับการคุ้มครอง โดยโครงการนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝากภายใน 1-2 เดือนนี้ แม้ในช่วงก่อนหน้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะมีการประสานงานกับสถาบันการเงินให้ติดสติกเกอร์ที่สาขา ว่า สถาบันการเงินได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งไม่ครอบคลุมธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ
"ที่ผ่านมาประชาชนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามข้อมูลเยอะมากว่าโปรดักท์ไหน ได้รับการคุ้มครองเงินฝากหรือไม่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งเราควรมีการแยกแยะให้ประชาชนได้รู้ ยกตัวอย่างเช่นตั๋วบีอี ที่ออกมาเยอะในช่วงนี้ ก็มีคนโทรเข้ามาถามเหมือนกัน"
ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กล่าวถึงขั้นตอนการยื่นขอรับเงินฝากคืนกรณีที่สถาบันการเงินถูกสั่งปิดกิจการว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังสั่งปิดกิจการสถาบันการเงิน ผู้ฝากเงินสามารถยื่นเอกสารหรือหลักฐานการฝากเงินมายังสถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือสาขาที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนชำระเงินของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ภายใน 90 วัน หลังจากที่ตรวจเอกสารหรือหลักฐานครบถ้วนภายใน 30 วัน ก็จะได้รับการคืนเงินฝากตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด