กลายเป็นฝันสลายของกระทรวงการคลัง เมื่อถูกคณะรัฐมนตรี (ครม.)
จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวการเงิน
กลายเป็นฝันสลายของกระทรวงการคลัง เมื่อถูกคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตีตกร่างพระราชบัญญัติการกำกับและพัฒนานโยบายรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ.สคร. ทำให้ต้องรอรัฐบาลใหม่มาจึงจะเริ่มนับหนึ่งกันใหม่อีกครั้ง
ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีความพยายามมายาวนานที่ต้องการยกระดับการพัฒนารัฐวิสาหกิจไทยกว่า 50 แห่ง ที่มีทรัพย์สินรวมกันถึง 7.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 86% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
ขณะที่เงินลงทุนในแต่ละปีของรัฐวิสาหกิจก็ไม่แพ้งบลงทุนของรัฐบาลปี หนึ่งๆ กว่า 23 แสนล้านบาท แม้จะมีการเบิกจ่ายงบลงทุนจริงๆอยู่ในสัดส่วน 8085% เมื่อเทียบกับงบลงทุนของรัฐบาลปีละ 3.94 แสนล้านบาท
เม็ดเงินลงทุน 2 ก้อนนี้จึงเป็นหัวรถจักรใหญ่ในการลากพาเศรษฐกิจไทยให้ขยับไปไหนได้ในยามการลงทุนภาคเอกชนติดหล่ม
จำนวนมูลค่ามหาศาลของเงินลงทุนเหล่านี้ หากกำกับให้ดีก็จะเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
แต่ที่ผ่านมาการดำเนินการก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ ไม่คืบหน้า การบริการรัฐวิสาหกิจยังขาดยุทธศาสตร์โดยรวม การบริหารแบบต่างคนต่างทำ อำนาจการตัดสินใจอยู่ในมือของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่กำกับดูแลเกือบทั้งหมด
นี่จึงเป็นหลุมดำให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาล้วงลูก เข้ามากำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงของตัวเอง ที่ยิ่งวันยิ่งหนักข้อมากขึ้น
ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจกลายเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ จึงมีแต่วันเหี่ยวแห้งลง บางแห่งก็ขาดทุนเป็นหนี้เป็นสินท่วมตัว
จึงไม่น่าแปลกใจพอมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.สคร. เข้าสู่ที่ประชุม ครม. จึงถูกรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต่างๆ ผนึกกำลังกันคว่ำกฎหมายนี้ชนิดไม่น่าจะได้เกิดอีกต่อไป
เพราะเห็นว่าร่างกฎหมายอำนาจคลังมากเกินไป ทำให้เจ้ากระทรวงต่างๆ ไม่สามารถเข้าไปล้วงลูกดูแลผลประโยชน์ต่างๆได้เหมือนในอดีต
ถ้าพิจารณาจากร่าง พ.ร.บ.สคร. จะพบว่าได้ให้ความสำคัญของอำนาจคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) มากขึ้น เพื่อให้การดำเนินตามนโยบายของรัฐวิสาหกิจบังเกิดผลในทางปฏิบัติ ไม่ใช่เสือกระดาษ ไร้อำนาจไปสั่งการ
แต่ร่างกฎหมายใหม่เปิดทางให้ กนร. มีอำนาจเสนอแนะและให้คำปรึกษากับ ครม. ถึงนโยบายและแนวทางกำกับดูแลการดำเนินงาน แนวทางการแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ ยังให้ดาบ กนร. พิจารณาแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ การปรับปรุงองค์กร ก่อนเสนอให้ ครม. เห็นชอบอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าอำนาจของ กนร. ใหม่ ที่มีกระทรวงการคลังเป็นเลขานุการของคณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจคุมได้ตั้งแต่หัวจรดหาง
นั่นย่อมกลายเป็นดาบที่ไปตัดเส้นทางอำนาจของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่กำกับดูแลไปในตัว
ร่างกฎหมายใหม่ยังกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สามารถกำหนดบทลงโทษรัฐวิสาหกิจที่บริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ
นี่ก็กลายเป็นดาบสองสำทับลงไปอีก
เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่ดูแลรัฐวิสาหกิจถึงกับนั่งไม่ติด ตีกฎหมาย สคร. ตกชนิดไม่ปิดบังอำพรางกันว่ากลัวอำนาจของคลัง อำนาจของ กนร. ที่เพิ่มขึ้นจะมาทับซ้อน
แต่สิ่งที่เจ้ากระทรวงต้นสังกัดไม่พูดออกมาให้ชัดๆ ว่า หากปล่อยให้กฎหมายนี้ผ่านออกมา จะทำให้เจ้ากระทรวงที่กำกับดูแลเข้าไปดูแลผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ที่ปีหนึ่งมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับลงทุนของประเทศ และยิ่งนานวันมีแต่จะยิ่งโตขึ้นอีกมาก
ขืนปล่อยไปจะล้วงลูกก็ทำได้ลำบากมากขึ้น ไม่เต็มไม้เต็มมือเหมือนที่ผ่านมา ที่คิดเอง ชงเอง ทำเอง ตั้งแต่เริ่มจนปิดโครงการ บ้างก็เขียนใส่มือ
เจ้ากระทรวงที่ดูแลรัฐวิสาหกิจต่างๆ ก็อ่านเกมออกว่า กนร. ที่มีอำนาจเพิ่มขึ้น ก็เป็นร่างทรงที่กระทรวงการคลังสร้างขึ้น เพื่อให้มีอำนาจในการเข้าไปดูแลรัฐวิสาหกิจ ให้สมน้ำสมเนื้อกับเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งที่ผ่านมาเป็นผู้ถือหุ้นแต่ไม่สามารถพลิกฟื้นรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาได้
รัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง มีสินทรัพย์ 78 ล้านล้านบาท กลับส่งเงินกำไรเข้าคลังเพียงแค่ปีละ 8 หมื่นล้านบาท ดีสุดก็ 8.5 หมื่นล้านบาท เท่านั้น ที่เหลือปันให้กรรมการจ่ายโบนัสทั้งๆ ที่ขาดทุน
ปัญหาของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) คือตัวสะท้อนภาพ
กรณีของบริษัท ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม ที่มีปัญหาทั้งการขาดทุน การลงทุน การประมูลสัมปทาน
ปัญหาดังกล่าวเป็นหัวใจที่ทำให้คลังต้องมีการยกเครื่องเพิ่มอำนาจการบริหารรัฐวิสาหกิจใหม่ ด้วยการเสนอร่างกฎหมาย สคร. เห็นชอบไฟเขียว
แต่นักการเมืองที่หูตาจมูกไวเป็นกรด ย่อมเห็นต่างอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าจะเป็นประโยชน์ส่วนรวม แต่กระทบประโยชน์ส่วนตัว
ส่งผลให้ไม่สามารถปล่อยกฎหมายอย่างนี้ผ่านมาตัดไม้ตัดมือของรัฐมนตรีเจ้า กระทรวงที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ จึงรวมพลังต้องตัดไฟแต่ต้นลมล้มกฎหมายไป