ติงจำกัดถือ50ไร่-แนะเน้นมาตรการภาษี-ให้คนรุ่นใหม่ทำเกษตร
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : เสถียร วิริยะพรรณพงศา
"เพิ่มศักดิ์"แย้มออกเอกสารสิทธิ์พลาด2แสนแปลง "ทีดีอาร์ไอ"แนะแก้ปัญหาคนรุ่นใหม่ไม่ทำเกษตร "ปัทมาวดี"แนะใช้มาตรการภาษีจูงใจ
ที่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) วันนี้(11 มี.ค.) มีสัมมนาวิชาการหัวข้อ "วิพากษ์ข้อเสนอปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรของคณะกรรมการปฏิรูป" มีนายปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ดำเนินการเสวนา
"เพิ่มศักดิ์"ย้ำจำกัด 50 ไร่ใช้ในหลายประเทศ
นาย เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศไทย(คปร.) ในชุดนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน กล่าวว่า เคยตั้งคำถามตั้งแต่ปี 2519 ช่วงที่ยังเป็นข้าราชการกรมป่าไม้ เหตุใดบ้านเมืองจึงมีปัญหาที่ดินมากขนาดนี้ เพราะทำงานเพียงปีเดียวก็พบปัญหาเรื่องการจัดการที่ดินถึง 12,000 เรื่อง และทุกเรื่องต้องส่งให้ ครม.ตัดสินใจ เมื่อมาทำงานร่วมกับกรรมการปฏิรูปจึงได้พิจารณาถึงเรื่องนี้ เพราะกระทบฐานรากของสังคมและความมั่นคงในชีวิตมากที่สุด
โดยเราเชื่อว่าคนไทยทุกคนต้องมีที่ทำ กินและมีที่อยู่อาศัย ถ้าคนไทยต้องอยู่หลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่พอทำกินไม่มีทางจะมีชีวิตที่ดีได้ จากข้อมูลระบุมีเกษตรกรกว่า 20 ล้านคน ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 3 ของประชากรประเทศไทย และพบ 8.8 แสนคนไม่มีที่ดินทำกิน
"คปร.เห็นปัญหาเรื่องเกษตรกรจำเป็นเร่ง ด่วน เมื่อพูดถึงปัญหาที่ดิน ปัญหาเกิดจากการถือครองกระจุกตัว อีกทั้งเกษตรกรต้องเช่าที่ดินร้อยละ 35 ของต้นทุนทั้งหมด ดังนั้น ต้องปรับโครงสร้างการถือครองที่ดิน เพราะเรายังไม่ทราบใครมีที่ดิน ใครถือครองรายใหญ่หรือเรียกง่าย ๆ ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลแท้จริง เนื่องจากมีข้อมูลล่าสุดเมื่อ 7 ปีที่แล้ว คปร.จึงต้องการแก้ไขการกระจุกตัวด้วยการกระจาย โดยไม่คิดถึงเรื่องการยึดมาเฉย ๆ เหมือนในอัฟริกา ด้วยการแทรกแซงกลไกตลาดเพื่อเพิ่มภาระการถือครองที่ดินโดยไม่ใช้ทำการเกษตร ด้วยการจำกัดการถือครอง หากใครถือครองมากก็ต้องจ่ายภาษีแพงขึ้น" นายเพิ่มศักดิ์ กล่าว
จากการตรวจกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินหลาย ฉบับมีช่องว่างค่อนข้างมาก จึงเป็นเหตุผลทำให้ที่ดินในมือเกษตรกรหลุดมือกว่าร้อยละ 60-70 ไปอยู่ในมือของนายทุน ทำให้คนกลุ่มแรกที่ถือครองที่ดินมาก คือ นักการเมือง ถ้าใช้กลไกของรัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็ปฏิรูปที่ดินไม่ ได้ มันต้องเปลี่ยนใช้ยาแรง ไม่เช่นนั้นไม่มีทางปฏิรูปสำเร็จ นอกจากนี้ ต้องหลอมรวมทุกองค์กรอยู่ภายใต้การกำกับของทุกกระทรวง มาทำงานร่วมกันเพื่อออกกติกา และมีคณะกรรมการนโยบายใหม่เพื่อจัดการเรื่องนี้ใหม่
"ตอนนี้สิ่งสำคัญมากที่สุด คือ การเปิดเผยข้อมูลที่ดิน โดยเฉพาะข้อมูลกรมที่ดินมีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ผิดพลาดกว่า 2 แสนแปลง เรื่องนี้รัฐไม่กล้าเพิกถอนและไม่กล้ารื้อ โดยแนวคิดการปฏิรูปที่ดินนั้น เราได้มาจากการจัดการที่ดินของเกาหลีใต้ ไต้หวัน ลาว บราซิล เป็นต้น คือการจำกัดการถือครองที่ดิน 50 ไร่ และการถือครองที่ดินแบบอื่น ๆ โดยมองว่าในอนาคตรัฐจะมีรายได้จากภาษีที่ดินอีกมาก อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวจะต้องมีคณะกรรมการระดับท้องถิ่นเป็นผู้ พิจารณาร่วมด้วย" นายเพิ่มศักดิ์ กล่าว
"ทีดีอาร์ไอ" ระบุปัญหาคือคนรุ่นใหม่ไม่ทำเกษตร
นายนิพนธ์ พัวพงศธร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สิ่งที่กังวลเกี่ยวกับข้อเสนอของ คปร.เรื่องการปฏิรูปที่ดินให้ การจัดการส่วนใหญ่เป็นอำนาจของรัฐ เพราะตนไม่เคยไว้ใจการใช้อำนาจการจัดการที่ดินของรัฐ ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องการถือครองที่ดินของประชาชนล้วนมาจากรัฐ ที่ต้องเร่งปฏิรูปคือการคืนความเป็นธรรมให้ประชาชนที่ถูกฟ้องร้องบุกรุก ที่ดินทำกินของตนเอง เพราะหากสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ไม่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้เป็นอันดับแรก ถือว่าทำงานล้มเหลว
ส่วนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมยากที่ จะปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ของคนในสังคมไทยให้ยอมรับในเรื่องกรรมสิทธิ์ชุมชน ได้ เพราะถึงแม้ต่างประเทศจะมีนักเศรษฐศาสตร์ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้จนได้รับ รางวัลโนเบล แต่การยอมรับของคนในประเทศไทยยังไม่ก่อเกิดและเป็นไปได้ยาก
ปัญหาเรื่องการปฏิรูปที่ดินใน สังคมไทย ไม่ได้อยู่ที่การกระจุกตัวของที่ดินทำกิน หากแต่อยู่ที่ในอนาคตที่ดินทำกินเพื่อการเกษตรนั้นจะไม่มีใครทำ นักวิชาการที่นำเสนอโมเดลต่าง ๆ ต้องยอบรับในสิ่งที่จะเกิดตามมาหลังจากการนำเสนอการปฏิรูปของตนเอง ไม่ใช่นำเสนอแล้ววิ่งหนี เมื่อเกิดผลกระทบอะไรตามมานักวิชาการที่เสนอเรื่องการปฏิรูปจะต้องรับผิดชอบ ในประเด็นนั้นๆ ด้วย จากตัวเลขการถือครองที่ดินที่ตนดำเนินการมามีเกษตรราว 6 แสนคนที่ถือครองที่ดินมากกว่า 50 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ส่วนภาคกลางมีเกษตรกรถือครองที่ดินเพื่อปลูกผลไม้และทำการเกษตรในรูปแบบอื่น อีกกว่า 300 ไร่
"จากข้อมูลเห็นชัดว่าเกษตรรายใหญ่มี จำนวนมาก ส่วนเกษตรรายย่อยที่มีปัญหาเรื่องความยากจนได้ผันตัวเองออกไปหารายได้นอกการ เกษตรแล้ว ดังนั้น ผมมองนโยบายดีที่สุดในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องการปฏิรูปที่ดินแต่ เป็นเรื่องของการปฏิรูปเรื่องความรู้และการศึกษา หากรูปแบบกฎหมาย คปร.เสนอผ่าน ผมมองว่าต้องเกิดการต่อต้านจากเกษตรรายใหญ่อย่างแน่นอน การต่อต้านไม่สำเร็จก็จะเกิดนอมีนีขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก และประเทศไทยเราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าไม่สามารถแก้ปัญหานอมินีได้สำเร็จ หากกฎหมายถือครองที่ดินสำเร็จออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ผมก็ต้องตั้งคำถามจากผู้นำเสนอกฎหมายฉบับนี้อีกว่า ส่วนต่างของที่ดินเกิน 50 ไร่จะจัดสรรอย่างไร จะมีการรับซื้อคืนหรือไม่และหากรัฐรับซื้อคืนนั้นจะใช้งบประมาณจากส่วนไหน และคนที่นำที่ดินส่วนต่างจาก 50 ไร่ไปค้ำประกันเงินกู้รัฐจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไร ทุกอย่างจะวุ่นวายไปหมด การปฏิรูปที่ดินจะ มองปัญหาเรื่องคนจนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องมองข้ามไปถึงเรื่องการจัดสรรความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในวันข้าง หน้าด้วย เพราะผมมองว่าสงครามในหมู่บ้านเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน"
ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ไทย กล่าวอีกว่า อนาคตเชื่อว่าผลผลิตการเกษตรจะลดลงอย่างแน่นอน เพราะการจัดสรรที่ดินของเกษตรรายใหญ่ไปตกอยู่ในมือรัฐหมด เราต้องยอมรับว่าปัญหาของเราไม่ใช่การกระจุกตัวของที่ดินทำกิน หากแต่ปัญหาของเราคือคนหนุ่มสาวไม่ทำการเกษตร ตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา คนหนุ่มสาวอายุ 24-25 ปี จำนวนถึง 4 ล้านคนไม่กลับมาทำการเกษตรอีก และจำนวนของคนหนุ่มสาวที่ละทิ้งการเกษตรเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เกษตรกรที่ประกอบอาชีพอยู่ก็จะแก่ลงเรื่อย ๆ และเมื่อแก่ตัวลงก็โอนกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินให้ลูกหลาน ซึ่งลูกหลานเองก็ไม่กล้าปล่อยให้เช่าเพราะกฎหมายการเช่าให้ผลประโยชน์ผู้ เช่ามากกว่าเจ้าของที่
ดังนั้น เราควรเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายการเช่าที่ดิน และสิ่งที่กังวลมากที่สุดอีกเรื่องคือ กรณีนิติบุคคลที่ถือครองที่ดินเป็นหมื่น ๆ ไร่ การถือครองที่ดินมีต้นทุนต่ำทำให้เกิดกระบวนการ "บวม บิน บูด" ของผู้มีอิทธิพลสมคบกับกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดินบางคน เป็นเรื่องที่เราต้องทำให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
"สมยศ" ชี้"ปฏิรูปกรรมสิทธิ์" เรื่องใหญ่
นาย ยศ สันตสมบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอส่วนใหญ่ของคณะกรรมการปฏิรูป ถ้าออกมาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้บริบทของปัญหาซับซ้อนมากจนเราต้องหยุดคิดว่าเราจะปฏิรูปเพื่อสร้าง ความยุติธรรมในสังคมให้มากขึ้น หรือจะปฏิรูปให้ประชาชนมีที่ดินทำกินมากขึ้นหรือเราจะปฏิรูปเพื่ออะไร เพราะที่ผ่านมา เห็นการพยายามปฏิรูปหลายครั้งแต่ก็หายไปเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง
"ผมจะพูดสองประเด็น คือ บริบทของปัญหา และวิธีคิดหรือกระบวนทรรรศน์ของการปฏิรูป เพราะการปฏิรูปตอนนี้เหมือนต้องการเปลี่ยนระบบกรรมสิทธิ์ และหากเป็นการปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์จริง ก็จะเป็นประเด็นใหญ่กว่าการปฏิวัติละตินอเมริกาเสียอีก"
นายยศ กล่าวอีกว่า บริบทของการเข้าถึงสิทธิที่ดิน ใครบ้างที่มีสิทธิ์ ใครบ้างถูกกีดกัน และใครบ้างมีอำนาจตัดสินใจ ในเรื่องนี้ไม่ค่อยมีใครรู้ ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นรากเหง้าของความขัดแย้ง ยกตัวอย่างเวียดนาม ชาวบ้านถูกไล่ที่ เพราะนายทุนจากเกาหลีจะมาสร้างรีสอร์ท พื้นที่แห่งนั้นมีคนเวียดนามจำนวนมากต้องเสียชีวิต เพราะการต่อสู้กับสังคมนิยม แต่ปัจจุบันต้องมาต่อสู้กับระบบทุนที่เข้ามารุกรานประเทศในลักษณะนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหาของการถือครองที่ดินในประเทศไทย คือรูปแบบของการดำเนินการเกษตรแบบ"เกษตรพันธสัญญา" ทำให้รูปแบบการใช้ที่ดินเปลี่ยน และการขยายตัวของพื้นที่อนุรักษ์ทำให้ชาวบ้านถูกกีดกันสิทธิในการใช้ป่า ทันที เกษตรกรที่ถูกกีดกันในการใช้ป่าไม่สามารถอยู่ได้ อันนี้เป็นปัจจัยใหญ่ที่จะต้องคำนึงถึง
"ปัญหาที่เกิดขึ้นอีกอย่าง คือ เกิดการเก็งกำไรที่ดินจากคนเมืองที่มีฐานะรวย ทำให้ระบบการเกษตรพังพินาศ กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นซับซ้อน ซึ่งเราต้องใส่ใจอย่างพิถีพิถัน ตอนนี้มีใครบ้างถูกกีดสิทธิและถูกกีดกันทำไมและอย่างไร และโดยส่วนตัวผมมองว่าการกีดกันชาวบ้านนั้นเกิดจาก 4 เงื่อนไขหลัก คือ 1.เรามีกฎหมายที่บกพร่อง 2.ตลาดถูกบิดเบือนและผูกขาดโดยการเมืองทำให้เราไม่สามารถใช้มาตรการหลาย อย่างที่ใช้ได้ในสภาวะตลาดที่ไม่ถูกบิดเบือนในการเมือง 3.มีผู้อิทธิพลอยู่ในท้องถิ่น 4.รัฐรับผิดชอบแต่เรื่องของตัวเอง ถ้าหากเราอยากปฏิรูปอย่าไปวางพื้นฐานอยู่บนการพึ่งรัฐ เพราะรัฐทำอยู่เพียงอย่างเดียวคือรักษาผลประโยชน์ของตนเอง" นายยศ กล่าว
"ปัทมาวดี"แนะใช้มาตรการภาษีกดดัน-จูงใจ
นาง ปัทมาวดี ซูซูกิ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า กังวลการจำกัดเพดานการถือครอง 50 ไร่เพื่อการทำเกษตร เพราะมีแนวคิดทั้งเรื่องระบบโควต้าและระบบภาษี แนวคิดที่ปนกันอาจจะสร้างความสับสนในการจัดการ จึงเสนอควรออกแบบการจัดการเรื่องที่ดินด้วยระบบภาษีจะเหมาะสมกว่า เพราะผู้ถือครองที่ดินจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรจะถือครองที่ดินนั้นต่อไปหรือ ไม่ หากจะกำหนดเรื่องภาษีน่าจะเป็นแรงจูงใจได้ดีกว่า
"ดิฉันมีความกังวลว่า การห้ามไม่ให้เกษตรกรนำที่ดินไปผู้ให้ผู้อื่นเช่าน่าจะมีปัญหา เพราะข้อเท็จจริงเกษตรกรไทยมีแนวโน้มอายุสูงขึ้นอาจจะทำการเกษตรไม่ไหว อาจจะให้คนอื่นเป็นผู้ทำการเกษตรแทน ดังนั้น จึงอยากให้ คปร.พิจารณาเรื่องนี้ ทั้งนี้ ยังมองว่าแนวคิดการจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรจะสร้างปัญหาตาม มาอีก เพราะแนวคิดของการทุน คือให้ซื้อที่ดินมาเพื่อให้เกษตรกร ซึ่งไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ซื้อแพงแล้วจะขายถูกหรือไม่ หากราคาประเมินต่ำไป คนจะขายที่ดินก็ไม่อยากขาย" นางปัทมาวดี กล่าว
ชาวคลองโยง เผยรุ่นลูกเช่าที่ดินทำเกษตร
นาย บุญลือ เจริญมี ตัวแทนชาวบ้านคลองโยง จ.นครปฐม ซึ่งได้โฉนดชุมชนแห่งแรกในประเทศไทย ตามนโยบายรัฐบาล กล่าวว่า ตอนนี้ที่ดินใน ต.คลองโคลง กว่า 16,000 ไร่ และอยู่ในมือเกษตรกรตัวจริงแค่ 1,400 ไร่ เพราะที่ผ่านมา ไม่มีกติกาห้ามเกษตรกรขายที่ดิน ดังนั้น พบว่าบางครอบครัวที่มีที่ดิน 100 - 200 ไร่ได้ขายที่ดินให้นายทุนไป และตอนนี้รุ่นลูกต้องมาเช่าที่ดินของตัวเองทำเกษตร