จากประชาชาติธุรกิจ
หนึ่งในหน้าที่ของนักการตลาดคือการถอดรหัส อารมณ์ความรู้สึก ความคาดหวัง และพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อสะท้อนถึงทิศทางและความรวดเร็วของสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสนใจในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีความได้เปรียบในธุรกิจที่ทำอยู่
เว็บไซต์ "แบรนดิ้ง สเตรติจี้ อินไซเดอร์" ระบุถึง 11 เทรนด์ด้านการตลาดในปี 2554 ที่ต้องจับตามอง ซึ่งการปรับตัวรับเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นอาจต้องอาศัยความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงก็อาจทำให้ดีขึ้นหรือแย่ลง แต่ก็เป็นการสร้างโอกาส ส่วนแบรนด์ที่ไม่สนใจเทรนด์นี้อาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
โดยเทรนด์แรกที่ต้องทำ ความเข้าใจ คือ "คุณค่า" เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคกำหนดเอง เพราะยุคแห่งการใช้จ่ายแบบไม่ยั้งมือกำลังถูกแทนที่ด้วยยุคแห่งการช็อปปิ้ง อย่างมีเหตุผล ซึ่งมีเพียงผู้บริโภคเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าพวกเขาต้องการอะไร ความแพร่หลายอาจจะกลายเป็นปัญหาสำหรับแบรนด์ที่ไม่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไฮเอนด์หรือโลว์เอนด์
เทรนด์ต่อมา "แบรนด์" บวก "คุณค่า" เพราะแบรนด์จะกลายเป็นตัวแทนของคุณค่า สิ่งที่ทำให้สินค้าและบริการมีคุณค่าจะรวมอยู่ในแบรนด์ และการที่ผู้บริโภคเชื่อว่าแบรนด์มีความหมายอย่างไร
ส่วนเทรนด์ที่ 3 นักการตลาดจะต้องนับรวมปัจจัยที่แท้จริง ที่ขับเคลื่อนสินค้าในแต่ละแคทิกอรี่ให้เติบโต ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจว่าผู้บริโภคคาดหวังอะไร และการโฟกัสที่กระบวนการและความพยายามของแบรนด์นั้น ๆ อย่างกรณีของ "Zappos.com" เว็บขายรองเท้าชื่อดังที่ไม่ได้มีดีที่รองเท้า แต่คุณค่าที่เป็นมูลค่าอยู่ที่ตัวขับเคลื่อนด้านอารมณ์ความรู้สึกผ่านบริการ ที่ดี ตั้งแต่การนำรองเท้าไปสู่ลูกค้าและการรับคืนสินค้า
เทรนด์ที่ 4 ความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทต่าง ๆ หรือเศรษฐกิจศีลธรรม (ethosnomics) โดยแบรนด์จะต้องสนับสนุนบางสิ่งโดยใช้มากกว่าเหตุผล แบรนด์ไม่ใช่แค่สนับสนุนเทรนด์ที่เกิดขึ้น หรือสักแต่ทำในสิ่งที่คนอื่นทำเพียงเพราะมีคนทำเรื่องนั้น ๆ แต่ความรับผิดชอบต่อสังคมจำเป็นต้องอาศัยความเชื่อมั่น ความยั่งยืน และการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง
เทรนด์ที่ 5 ความแตกต่างอาจเกิดจากอารมณ์ความรู้สึก เพราะความแตกต่างเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของสินค้าและบริการ ในขณะที่นวัตกรรมจะนำเสนอสินค้าที่พร้อมจำหน่าย แต่การสร้างความแตกต่างอาจมาจากการที่แบรนด์นำเสนออารมณ์ความรู้สึกไปสู่ผู้ บริโภค โดยเฉพาะความสามารถของแบรนด์ที่จะนำเสนอสินค้าประเภท "คุณทำได้ ผมทำด้วย" (me too products) เข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว
เทรนด์ที่ 6 กระแสบอกต่อ ซึ่งเครือข่ายสังคมออนไลน์และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันนอกพื้นที่ของแบ รนด์จะมีมากขึ้น และจะกลายเป็นเรื่องง่ายที่จะใช้อำนาจจากการคลิก เพื่อรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสินค้าที่ตัวเองสนใจจากคนแปลกหน้า ซึ่งแบรนด์ควรจะใช้ข้อมูลจากโลกเสมือนให้เป็นไปในทางบวกมากขึ้น
สำหรับเทรนด์ต่อมา อิทธิพลจากเพื่อนฝูงจะเพิ่มขึ้น หากผู้บริโภคเชื่อมั่นในชุมชนนั้น ๆ พวกเขาจะขยายความเชื่อมั่นต่อไปยังแบรนด์ด้วย ไม่ใช่เพียงเพราะกระแสปากต่อปาก แต่จะต้องเป็นการบอกต่อที่ถูกต้องด้วย
เทรนด์ที่ 8 ใส่แบรนด์ไว้ในมือลูกค้า ตอนนี้มีเทคโนโลยีแบบเคลื่อนที่ที่ช่วยเอื้อต่อธุรกรรมผ่านอุปกรณ์พกพามาก ขึ้น แบรนด์ใดที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าผ่านหน้าจอขนาดเล็กไม่สะดวก แบรนด์นั้นก็อาจพบกับความยากลำบากในที่สุด นอกจากนี้ผู้คนยังมองหาคูปองส่วนลดและโปรโมชั่นต่าง ๆ มากขึ้น แบรนด์จึงน่าจะโฟกัสความต้องการดังกล่าวด้วย
เทรนด์ที่ 9 การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเพราะอินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเปลี่ยนเกมธุรกิจไปจาก เดิมที่ผู้บริโภคคิดว่าต้องรู้จักแบรนด์ก่อนตัดสินใจซื้อ กลายเป็นความแพร่หลายที่เกิดจากกระแสปากต่อปาก และการตลาดแบบแพร่กระจายเช่นเดียวกับไวรัส แบรนด์จึงต้องรู้ว่าอะไรขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ สิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวัง และอะไรที่จะสร้างความภักดีต่อแบรนด์ เพราะนี่จะทำให้ได้เปรียบในยามที่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา
เทรนด์ที่ 10 แบรนด์ควรรับมือกับความคาดหวังของผู้บริโภค เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคกระหายนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเช่นแอปพลิเคชั่นที่มีบทบาทมากขึ้น แบรนด์จึงถูกคาดหวังในเรื่องนี้
และ สุดท้าย การสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคไม่ใช่เรื่องแปลก หากแต่เป็นวิถีธุรกิจที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งต้องใช้รูปแบบที่เหมาะสม ไม่ใช่โมเดลที่ล้าสมัย