จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศาลตัดสินคุก4ปี กก.SCHอินดัสทรี่ เลี่ยงภาษีกว่า200ล้าน ให้การมีประโยชน์ลด3ปีไม่รอลงอาญา นับโทษต่อคดีเดิมรวม18ปี ยกฟ้องน้องชาย2คน
ที่ ห้องพิจารณาคดี 911 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก วันนี้(12 พ.ย.) เวลา 10.00 น. ศาลมีคำพิพากษา คดีดำหมายเลข อ.408/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายไพศิษย์ ชูชินวัตร อายุ 54 ปี นายไพรัชต์ ชูชินวัตร อายุ 51 ปี และ นายไพโรจน์ ชูชินวัตร อายุ 49 ปี กรรมการบริษัท เอสซีเอช อินดัสทรี่ส์ จำกัด ( SCH Industries) ตั้งอยู่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายลวดทองแดงเพื่อผลิตสายไฟ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันโดยฉ้อโกงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37(1)(2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 51 สรุปว่าระหว่างวันที่ 19 มิ.ย. 46 - 22 มี.ค. 47 จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการบริษัท เอสซีเอช ฯ นำเงินเข้าบัญชีเงินฝากในนามของคณะบุคคลของจำเลยทั้งสาม รวมเป็นเงินจำนวนหลายร้อยล้านบาท และได้ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีสำนักงานตรวจสอบภาษีกลาง กรมสรรพากร ออกหมายเรียกเพื่อมาให้ถ้อยคำเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสามนำเข้าบัญชี เงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปู่เจ้าสมิงพราย เพื่อประเมินภาษีเงินได้ สำหรับปี 2540 และ 2541 ซึ่งจำเลยทั้งสามเจตนาฉ้อโกงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ ได้ปกปิดข้อเท็จจริงโดยไม่ให้ถ้อยคำเกี่ยวกับรายการเงินฝากในธนาคารทั้ง 2 ธนาคารทั้ง 2 บัญชีว่าได้มาอย่างไร อันเป็นการร่วมกันโดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใด หลีกเลี่ยงการเสียภาษี ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นเหตุให้รัฐขาดรายได้ภาษีอากรในปีภาษี 2540 รวมเป็นเงิน 192,351,378.00 บาท และรัฐขาดรายได้ภาษีอาการในปีภาษี 2541 รวมเป็นเงิน 88,320,240.69 บาท เหตุเกิดที่ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.และ ต.สำโรงกลาง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และที่กรมสรรพากร แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม.
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และ จำเลยทั้งสามนำสืบแล้วเห็นว่า โจทก์เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบภาษี หลายปาก เบิกความสอดคล้องกันว่า เมื่อปี 2539-2540 ได้ออกหมายเรียกให้จำเลยทั้งสามนำเอกสารเพื่อเข้าชี้แจงเกี่ยวกับเงินรายได้ ที่ปี 2540 พบว่ามีเงินเข้าบัญชีที่มีจำเลยทั้งสามประมาณ 262 ล้านบาทเศษ ซึ่งการตรวจสอบพบว่าพวกจำเลยไม่ได้ยื่นแบบประเมินภาษี ไม่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และไม่เคยชำระภาษี ภงด.90 และ 94 โดยจำเลยที่ 2-3 ไม่สามารถชี้แจงเกี่ยวกับเงินดังกล่าว อ้างว่าไม่ทราบการเคลื่อนไหวบัญชี จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลให้สอบถามรายละเอียดกับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ผู้แทนเข้าชี้แจงแทน ที่ระบุว่าบัญชีธนาคารดังกล่าวเปิดไว้ใช้ส่วนตัวสำหรับพี่น้อง ส่วนเงินที่มีการนำเข้าบัญชีเป็นเงินที่ให้บริษัท SCH กู้ยืมและซื้อสินค้า อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินรายได้ที่จำหน่ายลวดทองแดงให้กับลูกค้าที่ไม่ต้องการใบ กำกับภาษี ซึ่งเอกสารที่จะนำมาชี้แจงนั้นไม่มีเพราะได้ทำลายเอกสารไปหมดแล้ว เนื่องจากเข้าใจว่าเก็บเอกสารไว้เพียง 5 ปี ศาลเห็นว่าพยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการเสียภาษี ได้เบิกความตามอำนาจหน้าที่ ไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสาม ขณะที่จำเลยทั้งสามไม่ได้โต้แย้งว่าพยานโจทก์ไม่มีอำนาจหน้าที่ประเมินภาษี หรือประเมินภาษีไม่ชอบอย่างใด เพียงแต่โต้แย้งว่าการประเมินภาษีไม่ถูกต้องตามความจริงเท่านั้น
ขณะที่ผู้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี และนางอรวรรณ ภรรยาจำเลยที่ 1 ให้การทำนองเดียวกันว่า การเปิดบัญชีเป็นบัญชีส่วนตัว และมีเงินที่ได้จากการขายลวดทองแดงให้กับลูกค้าที่ไม่ต้องการใบกำกับภาษี
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการบริษัท ภายหลังที่บิดาเสียชีวิต โดยจำเลยที่ 2-3 แม้เป็นกรรมการบริษัท แต่ก็ปฏิบัติตามคำสั่งจำเลยที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 2 -3 เซ็นชื่อในเช็คเปล่าทั้ง 2 ธนาคารก็มีภรรยาจำเลยที่ 1นำดำเนินการ ขณะที่จำเลยที่ 1 ดูแลและทราบการเคลื่อนไหวบัญชี และนำเงินรายได้จากการจำหน่ายลวดทองแดงให้กับลูกค้าที่ไม่ต้องการใบกำกับ ภาษีเข้าบัญชี รวมทั้งพบว่ามีการนำเข้าเช็คบริษัท SCH เข้าบัญชีด้วย ย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจในบริษัท จึงมีภาระต้องยื่นแบบประเมิน แต่ไม่เคยยื่นแบบประเมินภาษีก็ถือเป็นความผิด
พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ให้จำคุก 4 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 4 คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 3 ปี โดยให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีหมายเลขแดง อ.3898/2552 ที่ศาลอาญา ให้จำคุกจำเลยที่ 1 อีก 15 ปี ในความผิดเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินได้นิติบุคคลด้วย
ส่วนจำเลยที่ 2-3 แม้จะเปิดบัญชีร่วมด้วย แต่ฟังได้ว่าเปิดไว้ตั้งแต่ปี 2529 และ 2533 เพื่อไว้ใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งคดีนี้เหตุเกิดขึ้นภายหลังที่เปิดบัญชี โดยการยื่นแบบประเมินภาษีเป็นภาระของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้มีอำนาจในบริษัท จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2-3 กระทำผิด จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีแดง อ.3898/2552 นั้น ศาลอาญา มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 พ.ย.52 ให้ปรับบริษัท SCH ฯ จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท และให้จำคุกนางอรวรรณ ภรรยานายไพศิษย์ จำเลยที่ 4 และนายไพโรจน์ คนละ 15 ปี โดยให้ยกฟ้องนายไพรัชต์ จำเลยที่ 2 ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างอุทธรณ์