จากประชาชาติธุรกิจ
ภาวะ น้ำท่วมในหลายพื้นที่ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายเป็นวงกว้าง ผลผลิต หรือวัตถุดิบลดลง จนอาจมีผลผลักดันให้ราคาสินค้าสูงขึ้น โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ให้แถลงตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อ กรณีของการเกิดอุทกภัย รวมถึงภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ตลอดจนการคาดการณ์เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ ในปี 2554 เมื่อเทียบกับปี 2553
นาย ยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แม้ในช่วงเดือนตุลาคมจะเกิดปัญหาอุทกภัยในหลายแห่งทั่วประเทศ แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่ออัตรา เงินเฟ้อมากนัก เนื่องจากในช่วงตุลาคมเป็นฤดูกาลที่มีผลผลิตทางการเกษตรมาก โดยเฉพาะผักและผลไม้ แต่หากสถานการณ์ น้ำท่วมยังคงอยู่นานอาจจะส่งผลกระทบ ต่อเงินเฟ้อในช่วงเดือน พ.ย.ได้ โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร เช่น ผักและผลไม้ ข้าว ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าคง ไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในภาพรวมทั้งปีนี้ ซึ่งน่าจะอยู่ในกรอบไม่เกิน 3.5%
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ เป้าหมายดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) หรืออัตราเงินเฟ้อในปี 2554 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.2-3.7% จากปี 2553 ทั้งปี ซึ่งจะขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่เกิน 3.4-3.5% โดยการคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2554 ครั้งนี้อยู่ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 78-88 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 28-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และรัฐบาลยังคงใช้มาตรการ ลดค่าครองชีพบางมาตรการต่อไป
สำหรับเงิน เฟ้อในช่วง 2 เดือนสุดท้าย (พ.ย.-ธ.ค.) น่าจะขยายตัวเฉลี่ยแต่ละเดือนไม่เกิน 3.3-3.4% ซึ่งน่าจะทำให้เงินเฟ้อไตรมาส 4/2553 ขยายตัวที่ 3.2% จากปัจจุบันเฉลี่ยล่าสุดเงิน 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ขยายตัวสูงขึ้น 3.4% เป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. 2553 เท่ากับ 108.52 สูงขึ้น 2.8% เทียบกับ ต.ค. 2552 และสูงขึ้น 0.03% เทียบกับ ก.ย. 2553
"เงินเฟ้อเดือน ต.ค.นี้เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง แม้จะเกิดอุทกภัยในหลายจังหวัด แต่ก็ส่งผลต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่มาก"
สาเหตุ ที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนตุลาคมขยายตัวแบบชะลอตัวอยู่ในอัตราเพียง 2.8% เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 5.5% สินค้าสำคัญราคาสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะผักและผลไม้ 22.5% ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้น 11.2% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ 3.7% ไข่และผลิตภัณฑ์นม 3.3% เครื่องประกอบอาหาร 3.5% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้นเท่ากัน 1% ส่วนดัชนีหมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 1.3% สินค้าสำคัญที่สูงขึ้น เช่น น้ำมัน เชื้อเพลิง 4.4% ค่าโดยสารสาธารณะ 0.5% หมวดเคหสถาน ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำประปา 2% ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าของใช้ส่วนบุคคล 0.7% หมวดบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา 0.5%
อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายในได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่ากับเงิน เฟ้อพบว่า กรณีที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นทุก ๆ 1% จะทำให้เงินเฟ้อลดลง 0.15% โดยจำแนกผลจากอัตรา แลกเปลี่ยนแข็งค่าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ สินค้าที่นำเข้าวัตถุดิบมาผลิตน้อยกว่า 30% เช่น นมผง ผงซักฟอก ยาสีฟัน สินค้าที่นำเข้าวัตถุดิบผลิตมากกว่า 30% เช่น ปิโตรเลียม น้ำมันหล่อลื่น กระดาษลูกฟูก และกลุ่มที่นำเข้าวัตถุดิบผลิต 90% เช่น กลุ่มก่อสร้าง สายไฟฟ้า ปุ๋ยเคมี ซึ่งกลุ่มสุดท้ายน่าจะมีการปรับราคาลดลง
"ซึ่งผล จากค่าเงินบาทแข็งค่าจึงไม่ส่งผลต่อการดูแลเงินเฟ้อมากนัก ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงไม่ควรนำมาเป็นเหตุผลในการพิจารณาปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ไข ปัญหาเงินเฟ้อ"
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นการคำนวณโดยตัดรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงานออกไป เท่ากับ 103.83 สูงขึ้น 1.1% เทียบกับ ต.ค. ปีที่ผ่านมา และสูงขึ้น 0.11% เทียบกับเดือน ก.ย.ปีเดียวกัน ส่งผลให้เงินเฟ้อ พื้นฐานเฉลี่ย 10 เดือนสูงขึ้น 0.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา