จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เดลิเมล์ - นี่อาจเป็นข่าวร้ายสำหรับนักศึกษาที่กำลังคร่ำเคร่งอ่านตำรา และพนักงานออฟฟิศที่ทำงานหน้าดำคร่ำเครียดทั้งวัน เพราะผลวิจัยระบุ ‘การพักชาร์จแบต’ ไม่ได้จำเป็นมากมายอย่างที่หลายคนคิดกัน
นานมาแล้วที่นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่าความมุ่งมั่นเป็นทรัพยากรที่มี จำกัด นั่นจึงเป็นสาเหตุทำให้คนเรารู้สึกถึงแรงกระตุ้นภายในให้หยุดพัก หาอย่างอื่นทำ หรือหาขนมกินเล่นก่อนกลับไปทำงานเมื่อรู้สึกว่าดีขึ้นแล้ว
แต่นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ท้าทายทฤษฎีนี้ โดยบอกว่ากำลังใจหรือความมุ่งมั่นเป็นเรื่องที่คนเราคิดกันไปเอง หลังจากพบว่าชุดความคิดและความเชื่อของมนุษย์เกี่ยวกับความมุ่งมั่นเป็นตัว ตัดสินระยะเวลาและประสิทธิภาพที่เราจะสามารถทำแบบทดสอบยากๆ
เวโรนิกา จ็อบ ผู้ร่วมจัดทำรายงานที่เผยแพร่อยู่ในวารสารไซโคโลจี้ ไซนส์ระบุว่า ถ้าคิดว่าความมุ่งมั่นเป็นสิ่งที่มีขอบเขตจำกัดทางชีววิทยา มีแนวโน้มว่าคนๆ นั้นจะรู้สึกเหนื่อยล้าเมื่อต้องทำงานยากๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่คิดว่าความมุ่งมั่นเป็นสิ่งที่ไม่ได้หมดไปง่ายๆ เราจะสามารถทำงานได้ต่อไปเรื่อยๆ
นักวิจัยได้พัฒนาแบบทดสอบ 4 ชุดและปรับเปลี่ยนความเชื่อของนักศึกษาที่เป็นอาสาสมัครเกี่ยวกับความมุ่งมั่น
หลังจากงานที่เหนื่อยล้า นักศึกษาที่เชื่อหรือถูกทำให้เชื่อว่าความมุ่งมั่นเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดทำ คะแนนในการทดสอบสมาธิต่ำกว่านักศึกษาที่เชื่อว่าความมุ่งมั่นเป็นสิ่งที่ควบ คุมได้
นักวิจัยยังพบว่าก่อนถึงสัปดาห์สุดท้ายในการทดสอบ นักศึกษาที่เชื่อว่าความมุ่งมั่นมีจำกัดกินอาหารขยะมากกว่านักศึกษาที่เชื่อ ต่างกันถึง 24% และผลัดวันประกันพรุ่งมากกว่าถึง 35%
ศาสตราจารย์แครอล ดเว็ก ผู้ร่วมจัดทำรายงาน เสริมว่าทฤษฎีที่ว่าความมุ่งมั่นเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่ผลการศึกษากลับออกมาในทางตรงกันข้าม
“นักศึกษาที่อาจมีปัญหาเรื่องการเรียนอยู่แล้ว ได้รับการบอกเล่าว่าความมุ่งมั่นของคนเรามีจำกัด และพวกเขาต้องพักบ่อยๆ แต่ความเชื่อในความมุ่งมั่นว่าเป็นทรัพยากรที่ไม่มีหมดสิ้น ทำให้คนเรามีความสามารถมากขึ้นที่จะทำงานที่ท้าทาย”
นักวิจัยสำทับว่า การค้นพบนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องสมาธิ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องคุมอาหาร ผู้ที่พยายามเอาชนะการเสพติด หรือพนักงานที่ต้องทำงานในเวลาจำกัด
“นี่เป็นตัวอย่างของบริบทที่ความคิดของเราเป็นตัวผลักดันผลลัพธ์ ความมุ่งมั่นไม่ได้ถูกควบคุมโดยกระบวนการทางชีววิทยามากมายอย่างที่เราคิด แต่ความเชื่อต่างหากที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนเรา” ผู้ช่วยศาสตราจารย์เกร็ก วัตสัน ผู้ร่วมจัดทำรายงานทิ้งท้าย