สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

9 โรคร้ายรอซ้ำ เหยื่อน้ำท่วม

จาก โพสต์ทูเดย์

เห็นทีจะขำไม่ออก เพราะขณะนี้มีพื้นที่ถึง 28 จังหวัด 170 อำเภอ 1,195 ตำบล 7,800 หมู่บ้าน และประชาชนกว่า 8 แสนราย ต้องเสียน้ำตาเพราะประสบกับอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซ้ำร้ายกว่านั้นยังต้องเสี่ยงกับ “โรคระบาด” ที่รอเข้าซ้ำเติมอย่างไร้ความปราณี

โดย.. ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ต่อให้เป็น 100 นอสตราดามุส ด้วยเอ๊า! ลองได้แหลมขึ้นมาช่วง ก.ย.แล้วทายทักประมาณว่า “เดือนหน้าประเทศไทยกว่า 20 จังหวัดจะต้องกลายเป็นเมืองบาดาน” เชื่อเถอะ แม้แต่คุณเองก็คงต้องหัวเราะร่ากับมุขตลกตื้นๆ นี้  ... หรือใครเถียงว่าไม่จริง?

แต่ถึงตอนนี้เห็นทีจะขำไม่ออก เพราะมีพื้นที่ถึง 28 จังหวัด 170 อำเภอ 1,195 ตำบล 7,800 หมู่บ้าน และประชาชนกว่า 8 แสนราย ต้องเสียน้ำตาเพราะประสบกับอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซ้ำร้ายกว่านั้นยังต้องเสี่ยงกับ “โรคระบาด” ที่รอเข้าซ้ำเติมอย่างไร้ความปราณี

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายถึงโรคร้ายที่มักเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วมว่า สามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วงอุบัติการณ์ ได้แก่ ช่วงที่น้ำไหลบ่าใหม่ๆ ซึ่งจะมีความรุนแรงและรวดเร็วจนประชาชนไม่ทันตั้งตัว เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในขณะสัญจร และการเคลื่อนย้ายสิ่งของหนีน้ำที่ส่วนใหญ่จะถูกไฟฟ้าช็อต หรือเสี่ยงต่อสัตว์มีพิษกัด

จากนั้นอีก 1 – 2 สัปดาห์ จะเข้าสู่ช่วงน้ำท่วมขังระยะแรก ซึ่งระยะนี้จะมีโรคฟักตัวจำนวนมาก เช่น โรคฉี่หนู โรคตาแดง โรคไข้หวัด อุจจาระร่วง น้ำกัดเท้า รวมทั้งบาดแผลติดเชื้อ แต่หากน้ำยังท่วมขังต่อไปอีกจนถึงช่วงน้ำท่วมขังระยะที่สอง จะเริ่มมีโรคที่เกิดจากสัตว์เป็นพาหะ อาทิ โรคไข้เลือดออก และถ้าประชาชนมีการอพยพหนีน้ำมาอยู่รวมกัน ยิ่งต้องระวังโรคระบาดที่ติดต่อจากคนสู่คน คือโรคหัดเยอรมัน

“ในเมื่อแต่ละพื้นที่มีน้ำท่วมไม่พร้อมกันจึงต้องเฝ้าระวังต่างกัน ตามช่วงเวลาและความเสี่ยงของโรคที่จะเกิด แต่ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือโรคฉี่หนูและอุจจาระร่วง”ผู้อำนวยการสำนัก โรคติดต่อทั่วไประบุ

สำหรับมาตรการเฝ้าระวังโรคในแต่ละพื้นที่ จะมีทีมสำรวจผู้ป่วยเพื่อนำข้อมูลมาประเมินเป็นรายวัน หากพบสัญญาณผิดปกติก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสอบสวนและคุมโรค ทั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 แนวทางควบคู่กัน ได้แก่การป้องกันล่วงหน้าด้วยการประเมินความเสี่ยงของโรคพร้อมวางแผนป้องกัน และการควบคุมเมื่อเกิดโรคโดยให้ทีมเคลื่อนที่เข้าไปในพื้นที่ซึ่งตัดขาดการ สัญจร เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วย

“หลักการประเมินว่าเป็นโรคระบาดหรือโรคธรรมดา จะใช้สถิติย้อนหลัง 5 ปีเทียบเคียงกับข้อมูลปัจจุบัน ซึ่งหากมีจำนวนสูงขึ้นจากเกณฑ์เฉลี่ยจะถือว่าเกิดการระบาด”นพ.โอภาสกล่าว และอธิบายต่อว่าโรคที่มากับน้ำส่วนใหญ่ก็จะเกิดขึ้นอยู่แล้วตามปกติ แต่สถานการณ์น้ำท่วมถือเป็นสิ่งเร้าทำให้มีปัจจัยเสี่ยงมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามหากให้ประเมินความรุนแรงของการระบาดครั้งนี้คงยาก แต่มั่นใจว่าหากเกิดขึ้นจริงก็สามารรับมือและควบคุมได้

โรคติดต่อที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม

 

1.โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อราและแผลพุพองเป็นหนอง ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรคหรืออับชื้นจากเสื้อผ้าและ เครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาดเป็นเวลานาน โดยจะมีอาการเท้าเปื่อย เป็นหนอง และเริ่มคันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย จากนั้นผิวหนังจะพุพอง นิ้วเท้าหนาและแตก มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนคือผิวหนังอักเสบ ป้องกันได้ด้วยการเช็ดเท้าให้แห้ง หากมีบาดแผลควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ

2. โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อได้ทุกเพศทุกวัย แพร่กระจายในลมหายใจ เสมหะ น้ำลาย อาการมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ไอจาม อ่อนเพลีย ป้องกันได้ด้วยใช้ผ้าปิดปากเวลาไอจาม ดื่มน้ำอุ่นมากๆ มีไข้สูงเกิน 7 วันควรพบแพทย์

3.โรคปอดบวมเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด เช่น น้ำสกปรกจนทำให้เกิดการอักเสบ อาการไข้สูง ไอมาก หอบหายใจเร็ว เห็นชายโครงบุ๋ม ริมผีปากซีดหรือเขียวคล้ำ กระสับกระส่ายหรือซึม หากมีอาการควรรีบพบแพทย์ทันที

4.โรคตาแดง ติดต่อได้ง่ายในเด็กเล็กแต่เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส แต่หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ อาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 1 – 2 วัน จะมีอาการระคายเคือง ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง ทั้งนี้ในหากดูแลถูกวิธีจะหายได้ใน 1 – 2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดูแลอาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กระจกตาดำอักเสบ ทั้งนี้ป้องกันได้ด้วยล้างดวงตาให้สะอาดเมื่อถูกฝุ่นละออง หมั่นล้างมือบ่อยๆ ไม่ควรขยี้ตา

5.โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารค้างคืนหรือเน่าบูด แบ่งออกเป็นหลายโรค ได้แก่ โรคอุจาระร่วง อาการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ อาจมีมูกเลือดและมีการอาเจียนร่วมด้วย อหิวาตกโรค จะถ่ายเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าวทีละมากๆ อาการรุนแรง

อาหารเป็นพิษ มักมีอาการปวดท้องร่วมกับการถ่ายอุจาระเหลว คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการปวดศีรษะและเมื่อยเนื้อตัวร่วมด้วย โรคบิด จะถ่ายอุจจาระมีมูกหรือเลือดปน มีไข้ ปวดท้องและมีปวดเบ่งร่วมด้วย โรคไข้ทัยฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย มีอาการสำคัญคือมีไข้ เบื่ออาหาร ท้องผูก เมื่อยเนื้อตัว ปวดศีรษะ

ป้องกันได้โดยล้างมือให้สะอาด เลือกรับประทานอาหาร กำจัดสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอย เพื่อไม่ให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน แต่หากป่วยจำเป็นต้องดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ รวมทั้งดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ด้วย

6.โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มีหนูเป็นตัวแพร่โรคที่สำคัญ เชื้อออกมากับปัสสาวะสัตว์แล้วปนเปื้อนในน้ำท่วมขัง โดยโรคนี้จะติดต่อทางบาดแผล รอยขีดข่วน หรือไชเข้าตามเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนานๆ อาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 4 – 10 วัน จะมีไข้สูงทันที ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และศีรษะมาก บางรายมีอาการตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ท้องเดินร่วมด้วย จำเป็นต้องรีบพบแพทย์ มิเช่นนั้นอาจถึงขั้นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามสามารถป้องกันได้โดยสมรองเท้าบู๊ทยางกันน้ำ ทำความสะอาดที่พักไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของหนู

7.โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะพบได้ทุกวัยในทุกพื้นที่ มีอาการไข้สูงตลอดทั้งวัน หน้าแดง เกิดจุดแดงๆ เล็กๆ ตามลำตัว ต่อมาไข้จะลดลง ซึ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะอาจเกิดอาการรุนแรง มีความผิดปกติ เช่น ถ่ายดำ ไอปนเลือด เกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้การรักษาห้ามใช้ยาแอสไพริน และระวังไม่ให้ถูกยุงกัด

8.โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่นที่พบในเด็ก เกิดจากเชื้อไวรัส มักพบในฤดูฝน หากมีการแทรกซ้อนอาจเสียชีวิตได้ สำหรับการติดต่อผ่านทางการไอจาม เชื้อกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย อาการหลังจากได้รับเชื้อ 8 – 12 วัน มีไข้ ตาแดง พบจุดขาวๆ เล็กๆ ในกระพุ้งแก้ม ป้องกันได้โดยฉีดวัคซีน หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย 

 9.โรคไข้มาลาเรีย ติดต่อโดยยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำเชื้อโรค มักพบในพื้นที่ป่าเขามีแหล่งน้ำจืดธรรมชาติ อาการหลังรับเชื้อ 7 – 10 วัน จะปวดศีรษะ โดยทั่วไปคล้ายไข้หวัด แต่หลังจากนั้นจะหนาวสั่นและไข้สูงตลอดเวลา อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ป้องกันโดยหลีกเลี่ยงยุงด้วยการทายาหรือสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด 

Tags : 9 โรคร้ายรอซ้ำ เหยื่อน้ำท่วม

view