จาก โพสต์ทูเดย์
จ.ฉะเชิงเทรา นอกจากหลวงพ่อพระพุทธโสธร ที่มีชื่อเสียง ยังมีวัดจีนประชาสโมสร ที่สร้างในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งหนึ่งที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และสมควรไปกราบไหว้บูชา....
โดย...สมาน สุดโต
ใน จ.ฉะเชิงเทรา นอกจากหลวงพ่อพระพุทธโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร ที่มีชื่อเสียง ยังมีวัดจีนประชาสโมสร ที่สร้างในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งหนึ่งที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และสมควรไปกราบไหว้บูชา
พระประธาน3องค์ที่ทำจากกระดาษ
วัดจีนประชาสโมสร มีชื่อจีน “เล่งฮกยี่” เป็นวัดที่ขยายหรือเป็นสาขาของวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) ถนนเจริญกรุง ในกรุงเทพฯ เป็นวัดจีนในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน อยู่ที่ ต.บ้านใหม่ สร้างในปี พ.ศ. 2449 สมัยรัชกาลที่ 5
ที่ตั้งของวัดอยู่เลขที่ 291 ถนนบ้านใหม่ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา 24000 โทร. 038-511-069 ห่างจากตลาดท่าไข่ อันเป็นตลาดเก่าแก่ของแปดริ้วไม่มาก
เอกสารของวัดเล่าความเป็นมาของวัดว่า วัดแห่งนี้เป็นวัดจีนเพียงแห่งเดียวใน จ.ฉะเชิงเทรา สร้างโดยพระคณาจารย์จีนวังส์สมาธิวัตร (สกเห็ง) ปฐมเจ้าอาวาสแห่งวัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ กรุงเทพฯ ท่านสกเห็งนั้นถือว่าเป็นปฐมบูรพาจารย์แห่งนิกายมหายานในประเทศไทยอีกด้วย
ชื่อจีนของวัดคือ เล่งฮกยี่ คำว่า ฮก เป็นคำมงคลหมายถึงโชคลาภ วาสนา ความมั่งมีศรีสุข คำว่า เล่ง หมายถึงมังกร เมื่อรวม 2 คำ เล่งฮก จึงหมายถึงมังกรแห่งโชคลาภ หรือมังกรวาสนา
ที่ผมไปวัดนี้สืบเนื่องจากที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แห่ง จังหวัดฉะเชิงเทรา พาสื่อมวลชนชมอาคารอนุรักษ์ ศาลาว่าการมณฑลปราจีนบุรี ภายใต้หัวข้อ เยือนอาคารอนุรักษ์ ศาลามณฑลปราจีน ย้อนอดีตงานศิลป์ ถิ่นแม่น้ำบางปะกงแหล่งชีวิต พระศักดิ์หลวงพ่อโสธร เมื่อเดือนก่อน นอกจากพาชมศาลาว่าการมณฑลปราจีนบุรีที่ฝั่งแม่น้ำบางปะกงแล้ว สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้พาไปไหว้พระที่วัดจีนประชาสโมสร หรือวัดเล่งฮกยี่ วัดจีนแห่งเดียวของ จ.ฉะเชิงเทรา ด้วย
เมื่อเข้าไปไหว้พระ บูชาและฟังพระภิกษุเย็นจุง เจ้าอาวาสวัดจีนประชาสโมสรบรรยายและแนะนำวัดให้ฟังแล้วก็ตระหนักได้ทันทีว่า ที่นี่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ควรมากราบไหว้ เพื่อเสริมสร้างบุญบารมีอีกแห่งหนึ่งใน จ.ฉะเชิงเทรา
วัดจีนประชาสโมสรแห่งนี้ เหมือนวัดจีนทั่วไปที่เป็นที่รวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลากหลายที่คนจีนและคนไทย นับถือไว้ในที่เดียวกัน ดังนั้นเข้าไปไหว้ที่วัดนี้ได้ไหว้สิ่งศักดิ์ทุกอย่าง เหมือน One Stop Service ทีเดียวครับ
บางอย่างไม่ใช่แค่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ยังเป็นสิ่งศักดิ์ที่มีแห่งเดียวในไทย เพราะพระพุทธรูปที่เป็นพระประธาน 3 องค์ ในอุโบสถ และพระอรหันต์ 18 องค์ ที่ปิดทองเหลืองอร่ามนั้น ทำจากกระดาษ หรือเปเปอร์มาเช สั่งทำและนำเข้ามาจากเมืองจีนในสมัยรัชกาลที่ 5
พระประธานที่ทำจากกระดาษ หรือที่เรียกว่าเปเปอร์มาเช 3 องค์ คือ พระอมิตพุทธเจ้า พระศรีศากยมุนี และพระไภษัชคุรุพุทธเจ้า และ 18 อรหันต์ ทั้งหมดนั้นนำมาจากเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
แต่เดิมนั้นนำเข้ามาเพื่อประดิษฐานที่วัดเล่งเน่ยยี่ หรือวัดมังกรกมลาวาส ถนนเจริญกรุง แต่วัดยังสร้างไม่เสร็จ จึงนำไปประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้เป็นเวลา 104 ปี (นับปี พ.ศ. ที่สร้างวัดคือ 2449)
เจ้าอาวาสกับหัวมังกร
วันที่ผู้เขียนไปไหว้พระพร้อมกับคณะผู้แทนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฉะเชิงเทรา พระภิกษุเย็นจุง ท่านเจ้าอาวาสเปิดโอกาสให้ผู้มีศรัทธาลองยกพระที่ทำจากกระดาษ เทียบกับพระพุทธรูปที่หล่อจากโลหะ เพื่อพิสูจน์ว่าทำจากกระดาษจริงๆ
ที่ต้องให้พิสูจน์น้ำหนัก เพราะพระที่ทำจากกระดาษ หรือเปเปอร์มาเช ปิดทองเหลืองอร่าม ดูภายนอกคิดว่าเป็นพระที่หล่อจากทองเหลืองหรือสัมฤทธิ์ ด้วยว่าเป็นพระที่สวยงามและสมบูรณ์ เมื่อได้ลองยกก็ต้องยอมรับว่าน้ำหนักต่างกันลิบลับ คือ พระที่ทำจากกระดาษแน่นอนว่าน้ำหนักเบา เมื่อเทียบกับที่หล่อจากโลหะ
นอกจากองค์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วไปแล้ว ที่ขาดไม่ได้ คือ หลวงพ่อพระพุทธโสธร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวแปดริ้วก็มีให้กราบไหว้ด้วยเช่นกัน แต่ที่วัดนี้เป็นองค์จำลองหล่อด้วยสัมฤทธิ์ สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงครอง สิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปี
สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ได้แก่ พระโพธิสัตว์และเทพ คือ รูปปั้นท้าวจตุโลกบาลขนาดใหญ่ ได้แก่ ท้าวกุเวรมหาราช ปกครองทิศอุดร ท้าวธตรัฏฐมหาราช ปกครองทิศบูรพา ท้าววิรุฬหกมหาราช ปกครองทิศทักษิณ ท้าววิรุฬหปักษ์มหาราช ปกครองทิศปัจฉิม
เทวรูปจีน อ้วยโห้ แต่งกายชุดนักรบ ไปขอลาภได้ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พันหัตถ์ พันเนตร ที่แสดงถึงการการทอดทัศนาทั่วโลกธาตุ มีอำนาจในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์
พระเวทธรรมโพธิสัตว์ (อุ่ยท้อ) พระพิทักษ์พระศาสนา เทพหลักเมือง มีหน้าที่ดูแลวิญญาณในเมืองหรือชุมชน
แปะกง แปะม่า ผู้คุ้มครอง รักษาสถานที่ พระศรีอริยเมตไตรย (มีเหล็กฮุด) อำนวยพรให้มั่งมีศรีสุข อุดมด้วยลาภ เงินทอง เทพไฉ่เซ่ง เอี้ย เทพแห่งโชคลาภ ความมั่งคั่ง เอี๊ยอ๊วง ไต่ ตี่สิ่ง ล้ง ราชาแห่งโอสถและเทพแห่งกสิกรรม
หมอเทวดาฮั่วท้อ เซียนซือ บรมครูแห่งการแพทย์และเภสัชกรรมจีน พระกวนอิมโพธิสัตว์
ที่ไม่ควรพลาดอีกแห่งหนึ่ง คือ วิหารบูรพาจารย์ ซึ่งประดิษฐานพระสำเร็จหรือสังขารของอดีตท่านเจ้าอาวาสที่มรณภาพในท่านั่ง วิปัสสนากรรมฐาน และไม่เน่าเปื่อย มีประชาชนบูชาเป็นประจำ เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการงานและการเรียน
ซุ้มวิหาร
พระกษิติครรภ์มหาโพธิสัตว์ ผู้โปรดสัตว์ในนรก พระตี่จั๊งอ๊วงโพธิสัตว์ ปางธุดงค์โปรดสัตว์ และพระสารีริกธาตุที่คณาจารย์ฝ่ายทิเบต อัญเชิญมาถวายวัด
พระภิกษุเย็นจุง ท่านเจ้าอาวาสแนะนำให้บูชาอีก 2 รายการ คือ มังกรที่แกะสลักจากไม้อย่างงดงาม แต่น่าเกรงขาม โดยมีรูปเจ้าแม่กวนอิมที่แกะสลักจากไม้เช่นกัน ประดิษฐานด้านบน
มังกรเป็นมังกรแห่งโชคลาภ วาสนา ผู้บูชาทำง่ายๆ ด้วยการนำเงินใส่ในปากมังกร (แต่ห้ามถูกหนวด) ท่านจะได้ในสิ่งที่ปรารถนา
เมื่อบูชาพระต่างๆ รวมทั้งเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสร็จแล้ว ท่านเจ้าอาวาสแนะนำให้มาตีระฆังใหญ่ที่ตั้งอยู่ในวิหาร ระฆังนี้หล่อจากแต้จิ๋ว ประเทศจีนน้ำหนักกว่า 1 ตัน รอบตัวระฆังจารึกอักษรคาถามหาปรัชญาปาริมาสูตรและบทสวดมนต์ การได้ตีระฆังก็เท่ากับได้สวดมนต์บทนี้ด้วยเช่นกัน
นอกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวแล้ว วัดนี้ยังมีสิ่งที่หายากหรือที่อื่นๆ ไม่มี คือ ป้ายชื่อวัดจีนประชาสโมสร ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระราชทาน หลังจากโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อวัดเป็นไทย
การเปลี่ยนชื่อวัดมีขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการเดินรถไฟสายตะวันออก กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดนี้ ในครั้งนั้นพระราชทานเงิน 1 ชั่ง หรือ 80 บาท สำหรับบำรุงวัด พร้อมกับพระราชทานชื่อวัดว่าจีนประชาสโมสร มีความหมายว่าเป็นที่ชุมนุมชาวจีน
ทางวัดได้เก็บรักษาแผ่นป้ายชื่อพระราชทานไว้เป็นอย่างดีจนถึงทุกวันนี้
สรุปว่า วัดนี้เป็นพุทธสถานศูนย์รวมจิตใจทั้งของคนไทยและคนจีนมาตั้งแต่อดีตจวบถึงปัจจุบัน
ส่วนการเดินทางไปที่วัดก็สะดวก ขอแนะนำว่า ไหว้หลวงพ่อโสธรที่วัดโสธรวราราม แล้วขับรถเลยไปชมศาลาว่าการมณฑลปราจีนบุรี ที่เป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฉะเชิงเทรา ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ตลาดท่าไข่ หาวัดจีนประชาสโมสรได้ไม่ยาก ไปไม่ถูกถามชาวบ้านร้านตลาดจะได้คำตอบ ไหว้พระขอพรแล้ว กลับเข้าตลาดหาซื้อของฝากหรือหาอาหารอร่อยรับประทานที่ตลาดเก่า จะแวะร้านอาหารที่มีชื่อเสียง เช่น ร้านป้าหนู ที่อยู่ริมน้ำก็ได้ แต่เสี่ยงเอาหน่อย เพราะวันหยุดว่ากันว่าไม่มีที่ให้นั่ง อิ่มท้องแล้วก็กลับบ้าน พร้อมกับอิ่มบุญด้วย