สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ค่าแรงขั้นต่ำ250บาทขาดตัว?

จาก โพสต์ทูเดย์

หากค่าแรงขั้นต่ำเป็นอัตราเดียวเท่ากันทั้งประเทศแล้ว คือ ต้องระวังปัญหาการขาดแคลนแรงงานในจังหวัดที่มีการกระจุกตัวของโรงงาน อุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย....

โดย...สรศาสตร์ สุขเจริญสิน ผู้อำนวยการหลักสูตร เศรษฐศาสตร์การเงิน คณะพัฒนาเศรษฐกิจ นิด้า www.econ.nida.ac.th

ในครั้งที่แล้ว (13 ก.ย. 2553) ผมได้กล่าวถึงประเด็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดว่าเป็นประโยชน์หรือ ไม่ ในตอนนี้จะได้กล่าวถึงประเด็นต่างๆ ที่เป็นประเด็นเล็กๆ น้อยๆ แต่ก่อให้เกิดความสับสนอลหม่านในประเทศพอสมควรครับ

 

ประเด็นแรก ค่าแรงขั้นต่ำควรขึ้นเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศหรือไม่ ผมเห็นว่าเราไม่ควรปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็นวันละ 250 บาท เท่ากันทั่วประเทศ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัด เดิมนั้นไม่เท่ากัน ถ้าปรับให้เป็นวันละ 250 บาท เท่ากันทั่วประเทศ จะทำให้บางจังหวัดต้องปรับค่าแรงขึ้นอีกวันละเกือบ 100 บาท เช่น จ.พะเยา ที่ปัจจุบันมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 151 บาท ต้องปรับขึ้นเกือบ 70% เลยทีเดียว ขนาดผู้บริหารระดับสูงของบริษัทใหญ่ๆ ทั้งหลาย ยังไม่ได้ปรับเงินเดือนมากขนาดนี้เลย

นอกจากนี้ แรงงานที่ได้เงินเพิ่มขึ้นขนาดนั้นจะบริหารจัดการและวางแผนทางการเงินได้ทัน หรือครับ ผมเกรงว่าจะมีการใช้จ่ายเงินกันแบบก้าวกระโดดไปซะด้วยมากกว่า

ผลกระทบอีกอย่างหากค่าแรงขั้นต่ำเป็นอัตราเดียวเท่ากันทั้งประเทศแล้ว คือ ต้องระวังปัญหาการขาดแคลนแรงงานในจังหวัดที่มีการกระจุกตัวของโรงงาน อุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย เพราะก่อนหน้านี้ แรงงานในจังหวัดต่างๆ จะได้รับอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่แตกต่างกันออกไป แต่เมื่อทุกจังหวัดเท่ากันหมดแล้ว แรงงานก็อยากจะกลับไปทำงานในจังหวัดบ้านเกิดของตัวเองหรือจังหวัดใกล้เคียง

ประเด็นนี้ฟังดูผิวเผินดูเหมือนจะดี แต่ลองนึกถึงว่าโรงงานต่างๆ ที่อยู่ในจังหวัดที่มีการกระจุกตัวของโรงงานอุตสาหกรรม เช่น สมุทรปราการ หรือสมุทรสาคร ว่าจะไปหาคนจากที่ไหน เพราะทุกวันนี้ก็แทบจะแย่งแรงงานกันอยู่แล้ว

ประเด็นที่สอง ตัวเลข 250 บาท นั้นเหมาะสมหรือไม่ บางคนบอกว่า ในอดีตไม่ค่อยได้ปรับตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ก็เลยมองว่าเป็นโบนัส คืนกำไรให้แรงงาน ถือเป็นการปรับฐานครั้งใหญ่ แบบนี้ผมว่าอันตราย ลองคิดดูเล่นๆ ว่า มีโรงงานแห่งหนึ่งที่ จ.พะเยา ต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำอีกเกือบ 100 บาทต่อคนต่อวัน หากมีคนงาน 100 คน นั่นก็หมายถึง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นวันละ 1 หมื่นบาท หรือเดือนละ 2.5 แสนบาท นี่ยังต้องมีค่าโอทีอีกนะครับ

ผมว่ากำไรที่เคยมีคงหายไปกับค่าแรงหมด ซึ่งการขึ้นราคาสินค้าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ทางเลือกของโรงงานนี้มีอยู่ไม่มาก คือ ถ้าไม่ใช้เครื่องจักรทำงานและปลดคนงานออก ก็คงแอบแทนที่แรงงานไทยด้วยแรงงานต่างด้าว (ที่อาจจะเข้าเมืองผิดกฎหมาย) หรืออาจถึงขั้นปิดกิจการไปเลยก็ได้

ประเด็นต่อมา คือ ผลกระทบกับแรงงานที่มีประสบการณ์ ที่ได้ค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน เช่น นาย ก ทำงานมา 5 ปี ในโรงงานที่ตั้งอยู่ใน จ.สมุทรปราการ ได้ค่าแรงในปัจจุบันอยู่ที่ 236 บาทต่อวัน สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันคือ 206 บาท อยู่ 30 บาท คำถามคือว่าหลังจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดนี้ นายจ้างของนาย ก จะใจดีปรับค่าแรงเพิ่มจากขั้นต่ำอีก 30 บาท เป็น 280 บาทต่อวันหรือไม่ ผมเกรงว่าจะไม่

เพราะฉะนั้น คนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่จะได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะประสบการณ์และทักษะการทำงานที่มากกว่าแรงงานไร้ฝีมือที่ได้ค่าแรงขั้น ต่ำจะไม่ได้รับการพิจารณา หรือได้รับความสำคัญน้อยลง งานนี้ได้ล้างไพ่แรงงานทั้งระบบกันจริงๆ ล่ะครับ

กล่าวโดยสรุป แนวคิดการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องที่ดี แต่ผมคิดว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้แต่ละฝ่ายได้ปรับตัวและปิดช่องว่างระหว่างคุณภาพแรงงานกับค่าแรงที่ เพิ่มขึ้น อย่างที่มีกลุ่มผู้เรียกร้องมาเสนอให้ปรับเพิ่ม 7 บาท ก่อนเป็น 213 บาท ในเขตกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการก็ควรปรับไปก่อน แล้วก็พิจารณาปรับจังหวัดอื่นๆ ให้มากหน่อย จะได้ทำให้ส่วนต่างค่าแรงระหว่างแต่ละพื้นที่แคบลง

หากต้องการจะปรับให้ถึง 250 บาทจริงๆ ก็ปรับค่าแรงกันบ่อยหน่อย ปรับไปปรับมาก็ถึง 250 บาทเองล่ะครับ ซึ่งอย่างน้อยการค่อยๆ ปรับ ก็ทำให้ทั้งนายจ้างที่ต้องเสียเงินเพิ่มและลูกจ้างที่ต้องใช้เงินเพิ่ม ได้มีเวลาตั้งตัววางแผนรับมือกันได้ทัน

Tags : ค่าแรงขั้นต่ำ 250บาท ขาดตัว

view