จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ เศรษฐ'ธรรมศาสตร์ ตลาดวิชา
โดย อารยะ ปรีชาเมตตา arayah@econ.tu.ac.th
วิกฤตการณ์ เศรษฐกิจเมื่อ ปี พ.ศ. 2540 ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่บังคับให้ภาคอุตสาหกรรมไทยในขณะนั้นต้องมีการ ปรับตัวกันอย่างจริงจังเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ผู้ประกอบการที่ปรับตัว ไม่ได้ก็ต้องล้มหายตายจากไป ซึ่งก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย ในขณะที่ผู้ประกอบการที่สามารถฝ่าฟันปัญหาจนผ่านพ้นไปได้ก็จะแข็งแกร่งมาก ขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงวิกฤตการณ์ดังกล่าว เพราะมันทำให้เกิดกำลังการผลิตส่วนเกินเป็นจำนวนมากเกือบจะทันทีทันใดโดยไม่ มีใคร คาดคิดมาก่อน ภาครัฐและเอกชนจึงต้อง มีการปรับยุทธศาสตร์และนโยบายกัน ขนานใหญ่ โดยการหันไปพึ่งพาการส่งออกมากขึ้นตามลำดับ เป็นต้น
จึงเกิดคำถาม สำคัญว่า กว่าทศวรรษที่ผ่านมานี้กระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในครั้งนั้น ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างขององค์ประกอบประเภทอุตสาหกรรม (industry churning) ในแต่ละจังหวัดอย่างไรบ้าง และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้จะได้ให้นัยเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่การกำหนดทิศ ทางที่ถูกต้องของการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในระยะยาวต่อไปหรือไม่ อย่างไรบ้าง
ดัชนีที่ใช้วัดขนาดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตในระดับจังหวัด
ผล ที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นการวัดขนาดของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง องค์ประกอบของประเภทอุตสาหกรรม (industry churning) ในระดับจังหวัด ซึ่งจะครอบคลุมระหว่างปี พ.ศ. 2540 และ 2550 เพราะใช้ฐานข้อมูลการสำรวจสำมะโนอุตสาหกรรมใน ปี พ.ศ. 2540 และ 2550 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งมีจำนวนสถานประกอบการทั้งหมดเท่ากับ 26,269 แห่ง และ 49,721 แห่งในปี พ.ศ. 2540 และ 2550 ตามลำดับ และได้แบ่งสาขาอุตสาหกรรมการผลิตออกเป็น 23 สาขาอุตสาหกรรมด้วยกัน
ดัชนี ตัวชี้วัดขนาดของการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของประเภทอุตสาหกรรมการผลิตใน ระดับจังหวัด เรียกว่า "excess churning index" ซึ่งเขียนเป็นสูตรได้ดังนี้
โดย ที่ excess churning index (c) คือดัชนีตัวชี้วัดขนาดของการเปลี่ยนแปลง องค์ประกอบของประเภทอุตสาหกรรมของจังหวัด c ใด ๆ ส่วนตัวแปร e (z, c, t) คือจำนวนแรงงานที่ปรับด้วยตัวปรับคุณภาพแล้ว (effective labor) ของอุตสาหกรรมประเภท z ในจังหวัด c ที่เวลา t (คือ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550)
ดัชนีดังกล่าวนี้จะมีค่าได้ใน 2 กรณี ต่อไปนี้เท่านั้น คือ
(ก) มีค่าเท่ากับศูนย์ หากอุตสาหกรรมทุกประเภทขยายตัว (ในรูปของการเพิ่มจำนวนการจ้างแรงงานที่ปรับด้วยตัวปรับคุณภาพแล้ว (หรือ effective labor)) ในอัตราที่เท่า ๆ กันในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ซึ่งก็หมายความว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างองค์ประกอบของประเภท อุตสาหกรรมของจังหวัดนั้น ๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวนั่นเอง
(ข) มีค่าเป็นบวก ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์ประกอบของประเภท อุตสาหกรรมในจังหวัดนั้น ๆ เนื่องจากจังหวัดดังกล่าวมีทั้งอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัว และอุตสาหกรรมที่กำลังหดตัวอยู่ในจังหวัดเดียวกันในช่วงเวลาที่ศึกษานั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างดังกล่าว
ผล การวัดค่าดัชนีนี้ของแต่ละจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด จะนำเสนอในรูปของแผนที่โดยจำแนกแยกเป็นรายจังหวัด (ดูแผนที่ประกอบโดยจังหวัดที่มีค่าดัชนีที่สูงกว่า จะมีสีที่เข้มกว่า) เพราะทำให้เห็นรูปแบบการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์ประกอบของประเภทอุตสาหกรรม เป็นกลุ่มจังหวัดต่าง ๆ ที่มีมิติในเชิงพื้นที่ได้สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดลักษณะการ เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในกลุ่มจังหวัดต่าง ๆ ในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2540-2550 ก็คือ การที่ประเทศไทยได้มี การเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนภายหลังจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งมีผลทำให้ค่า เงินบาทมีการปรับตัวลดลงมากเมื่อเทียบกับ เงินสกุลหลักต่าง ๆ ประกอบกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยที่มีลักษณะเปิดเสรีโดยการลด กำแพงภาษีลงมากทั้งในช่วงเวลาดังกล่าวและก่อนหน้านั้น ผลก็คือทำให้มีการลงทุนโดยตรงจาก ต่างประเทศไหลเข้ามามาก ขณะเดียวกัน ก็สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น และหากวิเคราะห์เจาะลึกต่อไปก็จะพบว่า (ก) กลุ่มจังหวัดทางภาคเหนือที่มีจังหวัดที่มีค่าดัชนีที่สูงนั้น ได้แก่ จังหวัดแพร่ น่าน และตาก เป็นต้น ซึ่งจะตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น และอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกอื่น ๆ ทำให้แรงงานใน อุตสาหกรรมประเภทที่ใกล้จะอัสดง (หรือ sunset industry เช่น อุตสาหกรรมยาสูบ เป็นต้น) มีแรงจูงที่จะย้ายไปทำงานในอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร็วและสามารถจ่ายผลตอบแทน ได้สูงกว่านั่นเอง (ข) สำหรับกลุ่มจังหวัดในบริเวณพื้นที่เขตอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ซึ่งได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา เป็นต้นนั้นจะมีการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากต่าง ประเทศ และอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกอื่น ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่า excess churning index ของจังหวัดนี้จะมีค่าไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่โดยรอบ ซึ่งหมายความว่าอุตสาหกรรมทั้งหลายในจังหวัดเหล่านี้จะขยายตัวไปพร้อม ๆ กัน ในขณะที่กลุ่มจังหวัดที่ตั้งอยู่โดยรอบห่างออกไป (เช่น พิษณุโลก นครสวรรค์ พิจิตร ชัยภูมิ ลพบุรี กาญจนบุรี และหนองคาย เป็นต้น) กลับมีค่า excess churning index ที่สูงกว่าคำอธิบายที่สมเหตุสมผล ดูเหมือนจะเป็นว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดในพื้นที่เขต อุตสาหกรรมดังกล่าว ต่างก็มีส่วนในการสร้างแรงจูงใจในเรื่องผลตอบแทนที่ดึงดูดแรงงานจาก อุตสาหกรรมอื่น ๆ ในจังหวัดใกล้เคียงกันให้ไหลเข้ามาทำงานในจังหวัดที่เป็น พื้นที่เขตอุตสาหกรรมและจังหวัดรอบ ๆ ได้มากขึ้นตามลำดับนั่นเอง
นัยเชิงนโยบายต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในทศวรรษถัดไป
ใน ทศวรรษหน้าถัดไปนี้การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยคงไม่สามารถหวังพึ่งพาผลประโยชน์ ที่ได้จากความได้เปรียบในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเหมือนกับในทศวรรษที่ผ่านมา ได้อีกต่อไป ทั้งนี้เพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องใน ระยะยาว อันเป็นผลเนื่องมาจากปัญหาการขาดดุลการค้าที่เรื้อรังของสหรัฐเอง ในขณะที่ความไม่เชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปก็มีผลทำให้กระแสเงินทุนโลกไหลเข้ามาสู่กลุ่ม ประเทศแถบเอเชียมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต เพราะฉะนั้นโอกาสที่ค่าเงินบาทจะอ่อนตัวโดยเปรียบเทียบเหมือนในทศวรรษที่ ผ่านมาคงมีไม่มากนัก
ในทศวรรษที่ผ่านมา แรงงานไทยมีความยืดหยุ่นสูงในการตอบสนองต่อแรงจูงใจที่ดีกว่าในรูปของค่า จ้างที่เสนอโดยอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัวอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของการ ลงทุนจากต่างประเทศ แต่การที่อุตสาหกรรมไทยจะขยับไต่ขึ้นไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตที่สามารถสร้าง มูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นได้ต่อไปในทศวรรษหน้านั้น ผู้ประกอบการและแรงงานไทยจะต้องมีการลงทุนเพื่อสะสมทุนมนุษย์และองค์ความรู้ ที่จำเป็นต่อกระบวนการผลิตสมัยใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อที่จะได้มีความสามารถในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสถาบันที่จะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการทำเรื่องนี้ให้สำเร็จได้ก็คือ สถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยในประเทศที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง
แต่ ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า มีสถาบันการศึกษาระดับสูงจำนวนไม่น้อยที่กลับทุ่มเททรัพยากรที่มีค่าของตนไป กับการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนในเชิงพาณิชย์ในรูปของโครงการพิเศษต่าง ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่อย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างไร ทางด้านอุปสงค์เองซึ่งก็คือ ผู้เรียน ก็มีจำนวนมากที่ต้องการเพียงใบรับรองวุฒิมากกว่าความรู้ (เพราะอยู่ในสังคมที่มีค่านิยมแบบ "ปากเป็นเอก เลขเป็นโท") เมื่ออุปทานและอุปสงค์เช่นนี้มาเจอกันก็ทำให้ทุกฝ่ายตกอยู่ใน "กับดักดุลยภาพของตลาดการศึกษาด้อยคุณภาพ" เพราะ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างก็สมประโยชน์กัน จึงเกิดดุลยภาพขึ้นได้กล่าวคือ สถาบันการศึกษาได้ขายบริการการศึกษาคุณภาพต่ำในราคาตลาดที่ตนพอใจ ผู้เรียนได้รับใบรับรอง คุณวุฒิจากโครงการพิเศษเพื่อใช้ในการทำงานในราคาที่ตนพอใจ และ ภาคการผลิตเอง (บางส่วน) ก็สามารถจ้างแรงงานมาทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิ (เช่น จ้างแรงงานจบปริญญาโทมาทำงานประเภทที่ต้องใช้ความรู้เพียงระดับปริญญาตรี เป็นต้น) ในอัตราค่าจ้างตลาดที่ตนพอใจเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามสังคมไทยโดยรวมก็จะเป็นผู้รับภาระผลเสียเหล่านี้ในที่สุดหาก เราทั้งหลายยังไม่สามารถจะ หลุดพ้นออกจาก "กับดักแห่งความเสื่อม" นี้ได้โดยเร็ว