จากประชาชาติธุรกิจ
ครม.อนุมัติ 11 กิจการรุนแรง "สุวิทย์" ลงนามประกาศกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รอประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้วันถัดไป สผ.ระบุมี 10-12 โครงการโดนหางเลข เปิดรายชื่อ 2 โครงการแรกที่เจอแจ็กพอต "อ่างเก็บน้ำคลองหลวง-ห้วยโสมง" ต้องกลับมาทำ HIA ด้าน กฟผ.เผยไม่กระทบ เหตุโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมที่กำลังก่อสร้างกำลังผลิตไม่ถึง 3,000 MV
ผู้ สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน อย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอจำนวน 11 กิจการ โดยทั้ง 11 กิจการจะต้องดำเนินการมาตรา 67(2) รัฐธรรมนูญ 2550 ด้วยการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รายงานผลกระทบสุขภาพ (HIA) การรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และให้องค์การอิสระให้ความเห็น
ทั้งนี้ 11 กิจการที่ ครม.เห็นชอบ ประกอบด้วย 1)กิจการถมทะลหรือทะเล สาบนอกเขตชายฝั่งเดิม ตั้งแต่ 300 ไร่ขึ้นไป ยกเว้นการฟื้นฟูสภาพชายหาด 2)เหมือง ต่าง ๆ ได้แก่ เหมืองใต้ดิน-เหมืองแร่ตะกั่ว/ สังกะสี/ทองคำทุกขนาด, เหมืองถ่านหินขนาด 2.4 ล้านตัน/ปี และเหมืองแร่ในทะเลทุกขนาด 3)นิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งขึ้นใหม่ หรือขยายเพื่อรองรับโรงงานปิโตรเคมี หรือโรงงานถลุงแร่เหล็กมากกว่า 1 โรง ทุกขนาด 4)โรงงานปิโตรเคมีขั้นต้น ทุกขนาด หรือการขยายกำลังการผลิตตั้งแต่ 35% ขึ้นไป โรงงานปิโตรเคมีขั้นกลางขนาดกำลังการผลิต 100 ตัน/วัน หรือขยายกำลังการผลิต 35% ขึ้นไป ในส่วนที่ใช้สารเคมีเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 1 และขนาดกำลังผลิต 700 ตัน/วัน หรือขยายกำลังการผลิตรวมแล้วมากกว่า 700 ตัน/วันขึ้นไป ในส่วนที่ใช้สารเคมีเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2A
5)โรง งานถลุงแร่หรือหลอมโลหะ โดยโรงถลุงแร่เหล็กขนาด 5,000 ตัน/วันขึ้นไป, โรงถลุงแร่เหล็กที่มีการผลิตถ่านโค้กทุกขนาด, โรงถลุงแร่ทองแดง ทองคำ หรือสังกะสี กำลังการผลิต 1,000 ตัน/วันขึ้นไป, โรงถลุงแร่ตะกั่วทุกขนาด, โรงหลอมโรงโลหะ (ยกเว้นเหล็กและอะลูมิเนียม) ขนาด 50 ตัน/วัน และโรงหลอมตะกั่ว ขนาด 10 ตัน/วันขึ้นไป 6)กิจการผลิตหรือกำจัดหรือปรับแต่งสารกัมมันตรังสี เดิมทุกขนาด 7)โรงงานฝังกลบหรือเผาของเสียอันตรายทุกขนาด 8)โครงการระบบขนส่งทางอากาศ ที่การก่อสร้างหรือขยายทางวิ่งตั้งแต่ 3,000 เมตรขึ้นไป
9)ท่า เทียบเรือที่มีความยาวหน้าท่าตั้งแต่ 300 เมตรขึ้นไป หรือพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือมีการขุดลอกร่องน้ำตั้งแต่ 100,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือมีการขนถ่ายวัตถุอันตรายที่เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 ตั้งแต่ 25,000 ตัน/เดือนขึ้นไป ยกเว้นท่าเทียบเรือโดยสาร หรือท่าเทียบเรือสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภค หรือท่าเทียบเรือสำราญ 10)เขื่อนเก็บกักน้ำหรืออ่างเก็บน้ำตั้งแต่ 100 ลบ.ม.ขึ้นไป หรือมีพื้นที่กักเก็บน้ำตั้งแต่ 15 ตารางกิโลเมตร ขึ้นไป และ 11)โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน ขนาดกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป, โรงไฟฟ้าชีวมวล 150 เมกะวัตต์ขึ้นไป, ความร้อนร่วม 3,000 เมกะวัตต์ขึ้นไป และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกขนาด
ด้านนางสาวสุชญา อัมราลิขิต ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ร่างประกาศดังกล่าว นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามแล้ว เหลือขั้นตอนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
จากการ ตรวจข้อมูลเบื้องต้นสำหรับโครงการที่ผ่านความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวด ล้อม (EIA) หลังจากรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้ และเข้าข่าย 11 กิจการข้างต้นมีอยู่ประมาณ 10-12 โครงการ ครอบคลุมทั้งโครงการด้านอุตสาหกรรม, โรงไฟฟ้า และเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ ที่ชัดเจนว่าเข้าข่ายมี 2 โครงการคือ อ่างเก็บน้ำคลองหลวง จ.ชลบุรี ได้รับความเห็นชอบ EIA เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ได้รับความเห็นชอบ EIA เมื่อเดือนกันยายน 2552 ซึ่งต้องให้โครงการ ดังกล่าวกลับมาดำเนินตามเงื่อนไข มาตรา 67(2) ให้ครบ สำหรับ 76 โครงการในมาบตาพุดที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจะหลุดจาก 11 กิจการรุนแรงหรือไม่ ก็ต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีหลักของศาลปกครองกลางวันที่ 2 กันยายนนี้อีกครั้งหนึ่ง
"ตอนนี้ที่หารือกับกรมชลประทานเบื้องต้น กรมชลประทานแจ้งว่า ได้ศึกษาและจัดเตรียมงบประมาณสำหรับดำเนินการจัดทำ HIA แล้ว ก็คงจะไม่มีปัญหา ส่วนโครงการอุตสาหกรรม หรือโรงไฟฟ้า ต้องประสานไปยังหน่วยงานอนุญาตให้กลับมาดำเนินการตามเงื่อนไขมาตรา 67(2) ด้วย" นางสาว สุชญากล่าว
ด้านนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศ 11 ประเภทกิจการที่ส่งผลกระทบรุนแรงในช่วงระยะสั้นนี้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่มีกำลังการผลิตไม่ถึง 3,000 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าใหญ่ในอนาคตที่ กฟผ.จะต้องก่อสร้าง เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน นั้นอาจจะต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งภาพรวมจะใช้เวลาดำเนินการประเมิน 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี แต่จะไม่กระทบต่อเวลาการเริ่มผลิตเข้าสู่ระบบแน่นอน เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงแรกจะเข้าระบบในอีก 9 ปีข้างหน้า หรือในปี 2562