จาก โพสต์ทูเดย์
สลับเหลี่ยมเฉือนคม ปชป.-ภูมิใจไทย ชิงงบลงทุนระบบ 1.76 แสนล้านบาท
พรรคประชาธิปัตย์ สลับกันชิงเหลี่ยมเฉือนคมกันไปมาอย่างต่อเนื่องกับพรรคภูมิใจไทย ตั้งแต่เรื่องการประมูลขายข้าวในกระทรวงพาณิชย์ ข้ามมากระทรวงคมนาคม ที่ดองโครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน รวมถึงล่าสุดการชิงเป็นตัวนำงบลงทุนระบบ 1.76 แสนล้านบาท ที่ ครม.อนุมัติ
ขณะ ที่กระทรวงคมนาคมภายใต้พรรคภูมิใจไทย กำลังจะเดินหน้าแผนลงทุนระบบรางกับจีน ทางพรรคประชาธิปัตย์นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้ชิงเดินทางไปเยือนจีนตัดหน้า พร้อมนำมารายงานให้ ครม.ทราบว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ยื่นข้อเสนอที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการก่อสร้างเส้น ทางรถไฟเชื่อมระหว่างไทย-ลาว-จีน และอาจจะต่อเชื่อมผ่านจากทางตอนใต้ของไทย จากสุไหงโกลก ไปมาเลเซีย โดยก่อสร้างเป็นระบบสแตนดาร์ดเกต รางขนาด 1.435 เมตร ที่สำคัญชงต่อให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชน และตั้งนายโสภณซารัมย์ รมว.คมนาคม พรรคภูมิใจไทย เป็นที่ปรึกษา
ผล ดังกล่าวทำให้นายโสภณ พรรคภูมิใจไทย ได้เร่งแผนงานลงทุนระบบรางเดิมให้เร็วขึ้น ยกคณะเดินทางด่วนไปจีน วันที่25-27 ส.ค.ที่ผ่านมา ดันแผนปรับปรุงระบบรางรถไฟ และการผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน
เป็น ที่น่าสังเกตว่า ทุกเรื่องที่เป็นเมกะโปรเจกต์ของกระทรวงคมนาคม ทางพรรคประชาธิปัตย์จะขอเข้ามามีส่วนร่วมหรือขอให้ศึกษาซ้ำไปซ้ำมา จนงานไม่เดินหน้า อาทิโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มอบหมายให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นประธานกำหนดระยะเวลา 2 เดือนแล้วเสร็จ
นอก จากนี้ ขณะที่ผู้บริหารกระทรวงคมนาคมเดินทางไปจีนเพื่อร่วมหารือเรื่องการร่วมลงทุน ระบบราง ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจกระทรวงการคลัง ของพรรคประชาธิปัตย์ได้ยกทีมผู้บริหารและนักข่าวไปดูงานที่จีนเช่นกัน แต่ไปคนละแห่ง ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงคมนาคมไปเพียง 3 วัน และกลับมาชิงแถลงข่าวที่สนามบินสุวรรณภูมิเลย
นายโสภณ กล่าวหลังกลับจากสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ขณะนี้จีนสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนทำโครงการรถไฟความเร็วสูงในเส้น ทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ขนาดราง1.435 เมตร ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีน ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะต้องเร่งจัดทำกรอบการดำเนินงานในโครงการนี้ทั้งหมดเพื่อ เสนอให้ ครม.รับทราบ
จากนั้นจะต้องผ่านกระบวนการตามมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญให้รัฐสภาพิจารณาและนำไปเจรจากับจีน พร้อมนำข้อสรุปต่างๆ มารายงานให้รัฐสภาทราบอีกครั้งก่อนที่จะเดินหน้าต่อไป คาดว่ากระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะแล้วเสร็จในปี 2554 จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2555
ใน ส่วนของการก่อสร้างรางรถไฟขนาด1 เมตรนั้น จะพัฒนาให้ความเร็วเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ ร.ฟ.ท. กำหนดไว้ประมาณ 80-120 กม./ชม. หรือเฉลี่ย 100 กม./ชม. จะต้องเพิ่มความเร็วเป็น 120 กม./ชม.
"ไทย เราเสียโอกาสมามากแล้ว เพราะขณะนี้จีน-ลาวได้สำรวจเส้นทางในลาว ซึ่งจะก่อสร้างเส้นทางรถไฟต่อเชื่อมระหว่างโมฮั่น-หลวงพระบาง-เวียงจันทน์ ระยะทาง420 กม. คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2554 ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี ซึ่งไทยจะต้องเร่งการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงให้เสร็จทันใกล้เคียงกับลาว เพื่อเชื่อมโครงข่ายรถไฟในภูมิภาค ส่งเสริมด้านการขนส่งสินค้าและคน เบื้องต้นคาดว่าจะจัดทำกรอบความร่วมมือและเจรจาระหว่างไทย-จีน รายงานต่อที่ประชุม ครม.ภายในสัปดาห์หน้านี้" นายโสภณ กล่าว
สาเหตุ ที่ต้องผลักดันไฮสปีดเทรนเพราะผลตอบแทนเชิงพาณิชย์สูงถึง 20%ซึ่ง ร.ฟ.ท.ต้องการทำให้เกิดผลประโยชน์และรายได้มาชดเชยภาระหนี้ ส่วนการร่วมลงทุนกับจีนเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังต้องรับไปพิจารณา
นาย สุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวเสริมว่า จีนพิจารณาความเป็นไปได้ของเส้นทางรถไฟหลังจากคณะผู้นำจีน นายเจิ้งหมิงหลี่ อธิบดีจากกระทรวงรถไฟ ได้นำคณะเข้ามาดูสภาพพื้นที่ในไทยระหว่างกรุงเทพฯ-หนองคายพบว่า เส้นทางในไทยจะดำเนินการก่อสร้างได้ง่ายกว่าลาว เนื่องจากอยู่ในเขตภูเขาไม่เกิน 30% ดังนั้น คาดว่าระยะทางจากเดิมที่สำรวจไว้จากกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กม. จะสั้นลงเหลือเพียง 580 กม.เท่านั้น และมีความเร็วสูง 200 กม./ชม. มีสถานีที่จอดทั้งสิ้น 16 สถานี และไทยจะทำรางเดี่ยว คาดว่าจะใช้เงินน้อยกว่าลาวที่ใช้รางคู่ ใช้เงินลงทุนกว่า 8 แสนล้านบาทดังนั้นไทยจะมีค่าก่อสร้างถูกกว่า 30-40%
"เรา จะใช้แนวเส้นทางเดิมที่มีอยู่ทั้งหมดให้มากที่สุด แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือทางโค้งจะต้องมีรัศมีกว้าง 4,500 ม. โดยจีน-ลาวไทย จะก่อสร้างทางจากคุนหมิง-เวียงจันทน์-หนองคาย-กรุงเทพฯ ระยะทางรวมกว่า 1,000 กม. ซึ่งหากแล้วเสร็จจะช่วยให้สามประเทศสามารถขนส่งสินค้าไปสู่ยุโรปได้สะดวก และมีต้นทุนค่าขนส่งต่ำลงมากกว่าปัจจุบัน" นายสุพจน์ กล่าว
นาย สุพจน์ กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้จะทำให้เกิดภาพความชัดเจนในการลงทุนว่า ในอนาคตจะมีการก่อสร้างท่าเรือปากบารา ขยายท่าเรือสงขลา 2 ฯลฯ หรือไม่ เพราะโครงสร้างรถไฟจะเชื่อมระบบโครงข่ายคมนาคมภายในประเทศ ทั้งการวางแผนแม่บทสร้างสถานีรับ-ส่งสินค้าในแต่ละภูมิภาคให้เป็นเรื่อง เดียวกันทั้งหมดด้วย