จาก โพสต์ทูเดย์
ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับตัวเลขแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวมของสหรัฐลง พร้อมประกาศช้อนซื้ออุ้มพันธบัตร ด้วยเหตุผลห้อยท้ายว่า “เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวช้า”
ท่าทีที่ปรากฏนั้นกำลังเป็นสัญญาณบาง อย่างที่ เบน เบอร์แนนคี ประธานเฟดส่งมาถึงรัฐบาล
ขณะที่ก่อนหน้านี้ก็มีสัญญาณแปลกๆ ออกมาจากเพนตากอนว่าจะมีแผนตัดทอนรายจ่าย
นอกจากนี้ดูเหมือนว่าปัจจัยที่ฉุดเศรษฐกิจสหรัฐดิ่งลงเหวเริ่มชัดเจนขึ้น เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่เฟดและประธานาธิบดี บารัก โอบามา ก็ไม่ได้ละทิ้งความพยายามที่จะดิ้นให้หลุดพ้นจากวิกฤตเหล่านั้นก็ตาม
แล้วอะไรที่ผู้คัดท้ายเรืออย่างโอบามา และเบอร์แนนคีฝ่าไปไม่พ้น...
เวลานี้เฟดยังคงยืดมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยออกไป นั่นเพราะดอกเบี้ยที่ต่ำลงหมายถึงการ ออกเครดิตก็ง่ายขึ้น ซึ่งปกติแล้วก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจโต งานเพิ่ม
แต่ในเวลานี้อาจไม่ใช่เวลาปกติสำหรับชาวสหรัฐ
ใครจะสนใจอัตราดอกเบี้ย ในเมื่อไม่มีใครคิดแม้แต่จะกู้ ดังนั้นยาขนานนี้จึงไม่ได้ผล เพราะไม่ได้เยียวยาเศรษฐกิจ แต่เป็นเพียงการเอาใจตลาด
คาดการณ์ว่า ตัวเลขการซื้อขายภาคอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ที่ราว 2.25% เท่านั้น
ลดอัตราภาษีก็ทำมาแล้ว อัตราการว่างงานสหรัฐก็ยังห้อยค้างเติ่งแกว่งไปมาอยู่ที่ราว 9.5% เดือน ก.ค. ชาวสหรัฐราว 1.31 แสนคน ยังคงตกงาน
ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเปิดเผยมาแต่ละตัว ก็ยังคงหน้าปวดหัวพอๆ กับหน้าตื่นกลัว
อัตราส่วนที่ควรจะเป็นในสหรัฐเวลานี้ก็คือ แต่ละเดือนต้องมีอัตราการจ้างงานราว 1.4 แสนตำแหน่ง เพื่อสร้างสมดุลกับจำนวนประชากรที่โตขึ้น และยิ่งภาวะการว่างงานอ่อนแรงยาวนานเท่าไร แรงผลักดันที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวแรงอีกครั้งก็ยิ่งแผ่วเบาลงไป ด้วย
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะบริษัทเอกชนจำนวนมากยังคงอุ้มเงินไว้นิ่งๆ แทน การทุ่มลงทุน นั่นเพราะความไม่กล้าที่จะเคลื่อนไหว ขาดความมั่นใจ แม้ผลประกอบการหลายบริษัทจะกระเตื้องขึ้นมาแล้ว
การใช้จ่ายในภาคครัว เรือนกำลังเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจราว 70% แต่ก็ยังนิ่ง นั่นก็ยิ่งทำให้การต้านภาวะเงินฟืด การชะลอตัวของเศรษฐกิจยากเย็นมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้นแนวโน้มการเติบโตของตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคล่าสุด ได้ปรับลดลงจาก 2.4% มาอยู่ที่ 1.5%
ตัวเลขจากสถาบันล้มละลายแห่งสหรัฐ มีจำนวนผู้ล้มละลายในเดือน ก.ค. อยู่ที่ 137,698 คน เพิ่มขึ้น 9% จากเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2548
เศรษฐกิจสหรัฐป่วยเกินกว่าที่หลายคนคาดไว้
ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐเผชิญกับภาวะถดถอยระลอก 2 (DoubleDip Recession) เพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือ ในช่วงปี 2523 เท่านั้น
ในเวลานั้นเศรษฐกิจมีการผกผันและฟื้นตัวในรูป WShaped คือสหรัฐดิ่งลงสู่ภาวะถดถอยในช่วงต้นปี 2523 และก็สามารถฟื้นขึ้นมาอีกครั้งอย่างรวดเร็วในช่วง 2524 ในอัตราการเติบโต 8.4% จนกระทั่ง พอล โวลเกอร์ ประธานเฟดในสมัยนั้น และเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจเคียงข้างโอบามาในเวลานี้ ตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อหนีภาวะเงินเฟ้อ ก่อนที่จะหล่นฮวบอีกครั้งในช่วงกลางปี 2524 ยาวไปจนถึงปลายปี 2525
อดีตมักจะสะท้อนปัจจุบันได้เสมอ ซึ่งในเวลานี้ดูท่าว่าสหรัฐกำลังเหยียบย่ำอยู่บนเส้นทางเดิม และกำลังยืนอยู่ที่ปลายหน้าผาสูง ขยับมากก็เกรงว่าจะดิ่ง ไม่ขยับก็ต้องทรุดลงสักวัน
เมื่อวิกฤตครั้งที่สองเกิดขึ้นจริงนั่นอาจจะไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาของเฟด โอบามา เดโมแครต หรือริพับลิกัน แต่คงเป็นปัญหาของชาวอเมริกันยักษ์สหรัฐที่เป็นเงาตะคุ่มๆ ปกคลุมสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกให้มืดครึ้ม รวมถึงไทยที่แขวนชีวิตไว้กับภาคการค้าและการส่งออกก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจ แรงสั่นสะเทือนครั้งนี้ยังไงก็แรงถึงไทยแน่นอน
เวลานี้สิ่งที่ต้องครุ่นคิดคงไม่ใช่อยู่ที่ภาวะถดถอยระลอก 2 ว่าจะเกิดหรือไม่ แล้วประเทศฝ่ายรับอย่างไทยคงต้องกระโดดข้ามคำถามนั้น และเตรียมตั้งป้อมปราการให้แข็งแกร่ง ไม่ให้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นกระแทกเราแรงจนเกินไปเสียมากกว่า