สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ล้างไพ่สัมปทานสู่ระบบ ไลเซนส์

จากประชาชาติธุรกิจ



รอคอยกัน มานานหลายปี ในที่สุดบ้านเราก็จะมีใบอนุญาตมือถือ 3G เสียที แม้จะเป็นประเทศเกือบท้ายสุดในแถบเอเชียก็ตาม หลังคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ส่งร่างหลักเกณฑ์เงื่อนไขการออกใบอนุญาตมือถือ 3G ไปยังราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ 21 ก.ค. 2553 ที่ผ่านมา

คาด ว่าในเดือน ส.ค.จะประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าประมูลได้ และในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.ย. กระบวนการประมูลใบอนุญาต 3G ก็จะเริ่มต้นขึ้น

เป็นไป ตามกำหนดเวลาที่วางไว้เป๊ะ แม้หลายวันที่ผ่านมาจะมีอาการหายใจ ไม่ทั่วท้องเพราะเกรงว่าจะมีเกมยื้อให้การประมูลต้องเลื่อนออกไป จากการสนธิกำลังของกระทรวงการคลังกับกระทรวงไอซีที ที่ออกมารับลูกนายกรัฐมนตรีเปิดแนวคิดในการแปรสัญญาสัมปทาน โดยเสนอให้ ยกเลิกสัมปทานมือถือ 2G เดิมเข้าสู่ระบบใบอนุญาต

"เรื่องนี้แม้ สำเร็จยากมาก แต่จำเป็นต้องทำ เพราะถ้าปล่อยไว้ เมื่อมีใบอนุญาต 3G ทั้งทีโอทีและ กสทฯจะไม่เหลืออะไรเลย" จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีไอซีทียอมรับตรงไปตรงมาถึงที่มาของแนวคิดในการแปรสัญญา

โดย ครม.เห็นชอบในหลักการตาม ข้อเสนอของคลังและไอซีที และให้ตั้ง คณะกรรมการร่วมเพื่อดำเนินการจัดทำแผนดำเนินการให้เสร็จใน 1 เดือน (22 ส.ค. 2553)

ความสับสนอลหม่านระหว่างนโยบายรัฐบาลเรื่องการแปร สัญญากับการออก ไลเซนส์ 3G ของ "กทช." จบลงด้วยดีหลังนายกรัฐมนตรี "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ไปพบปะเยี่ยมเยียน กทช.พร้อมรัฐมนตรี ไอซีทีเมื่อ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา

"เรื่อง 3G ได้แลกเปลี่ยนความเห็น เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า มติ ครม.มีความมุ่งหมาย เพื่อขอความร่วมมือในการประสานงานให้ทุกอย่างสอดคล้องกัน ทั้งรัฐบาลและ กทช.มีวัตถุประสงค์ตรงกัน คือต้องการเห็นการแข่งขันเป็นธรรมเกิดประโยชน์สูงสุด เพียงแต่ภาระหน้าที่ ที่แบ่งไปแต่ละส่วน หรือหน้าที่ที่แบ่งตามกฎหมายก็ต้องเชื่อมกันให้ได้" นายกรัฐมนตรีกล่าวและว่า

กทช.จะเดินหน้าประมูลตามกรอบเวลา โดยอีกเดือนกว่าก็จะเปิดให้เอกชนแสดงความจำนงเข้าประมูลได้ ซึ่งจะตรงกับกรอบเวลาที่รัฐบาลให้คณะทำงานไปศึกษาความเป็นไปได้เรื่องการแปร รูปแบบสัมปทานเป็นใบอนุญาตใน 30 วัน

"กทช.เห็นด้วยกับการยก เลิกสัมปทานมาเป็นใบอนุญาต และได้ให้ ข้อสังเกตในข้อ กม.และระเบียบต่าง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่รัฐบาลกับ กทช. แต่ต้องไปเจรจากับ ผู้ประกอบการ ซึ่งอาจมีความเห็นไม่ตรงกันเพราะเงื่อนไขสัญญาแต่ละสัญญาไม่ตรงกัน ทั้งมีกรณีทีโอที กสทฯ อาจมีความเห็นส่วนตัวว่าจะดำเนินการที่แตกต่างออกไป ฉะนั้นถือเป็นงานหนักของ รมว.ไอซีทีและคลังที่ต้องผลักดัน"

นายกฯ อภิสิทธิ์ย้ำว่า ความเห็นที่ แตกต่างของผู้ไม่เห็นด้วยก็ต้องอยู่กับการทำความเข้าใจว่าประโยชน์สูงสุดที่ จะเกิดกับประชาชนและประเทศ และเข้าใจว่าทุกคนต้องกังวลกับสถานะที่ตัวเองมีอยู่ แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการคือการวางบทบาทที่เหมาะสม สำหรับทีโอทีและ กสทฯในอนาคต

ขณะที่นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีไอซีทีในฐานะประธานคณะทำงานกล่าวว่า 1 เดือนจากนี้คงต้องขอความเห็น กทช.อีกหลายเรื่อง รวมถึงจะทำงานควบคู่กับการหารือร่วมกับเอกชนและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ โดยได้มอบหมายงานให้คณะทำงาน แยกเป็นทีมงานด้านกฎหมาย เทคนิค และการเงินกลับไปศึกษาข้อมูลและปัญหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ก่อนนำข้อสรุปเบื้องต้นมารายงานในวันพุธที่ 28 ก.ค.นี้ คาดว่าจะได้แนวทางเบื้องต้นที่จะทำได้ตามกรอบนโยบายที่ ครม.มอบหมายมา

นั่น คือ ให้ยุติสัญญาสัมปทาน และให้เข้าสู่ระบบใบอนุญาต

"ตัวเลขต่าง ๆ ไม่ว่าค่าใบอนุญาตหรืออายุใบอนุญาตจะยังไม่มีธงตั้งไว้ให้ไป พิจารณาหาข้อสรุปของตัวเลขที่เหมาะสม เพื่อให้ได้โมเดลที่ดีที่สุด หลังสิ้นสุดกรอบเวลา 30 วัน ก่อนเสนอให้ กทช.พิจารณาว่าอยู่ในกรอบอำนาจที่ทำได้หรือไม่ ซึ่งจากการหารือกับกฤษฎีกามีประเด็น กม.ที่เกี่ยวข้องมาก เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะให้ ครม.ตัดสินใจว่าจะเปลี่ยน กม.หรือกติกาที่เป็นข้อติดขัดหรือไม่" รมต.ไอซีทีย้ำ

ฟากยักษ์มือถือ เริ่มจากบิ๊กเอไอเอส "วิเชียร เมฆตระการ" มองว่า ถ้าอยากให้อุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้ต้องลืมอดีตเพื่อหาทางยุติปัญหาทั้ง หมด วิธีการออก ใบอนุญาตเพื่อแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่จะทำอย่างไรให้ถูกต้องชัดเจนเป็นธรรมและเท่าเทียม

"ถ้า เงื่อนไขชัดเจน เอกชนก็จะรู้ว่าต้องเผชิญอะไรบ้าง จะได้เป็นภาพรวมทั้งหมด เพราะการจะลงทุนมีความเสี่ยง ข้อมูลต้องครบถ้วน รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดกับ ผู้บริโภคด้วย ซึ่งยังไงก็ดีเราก็ยังจะเข้าประมูลใบอนุญาต 3G ด้วย เพราะคือสิ่งที่แน่นอนที่สุด ไม่ต้องรอว่าใบอนุญาต 2G จะมาเมื่อใด"

ฟาก "ธนา เธียรอัจฉริยะ" แห่งดีแทคกล่าวว่า แม้คนจะมองว่าดีแทคเสียเปรียบเพราะอายุสัมปทานเหลือมากที่สุด ขณะที่ ทรูมูฟได้เปรียบที่สุด แต่ถ้ามองภาพรวมแล้วจะทำให้อุตสาหกรรมเดินหน้าต่อได้ ก็เป็นสิ่งดี จึงสนับสนุนการแปรสัญญา

"ถ้าแปรแล้วได้อายุไลเซนส์ เท่าสัมปทานที่เหลือก็ไม่รู้จะทำทำไม ส่วนการต้องคืนคลื่นที่เหลือใช้เพื่อให้รัฐนำไปใช้ หากเป็นการนำไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ดีแทคก็ยินดี แต่ต้องไม่ใช่ยึดไปให้คู่แข่งใช้มาทิ่มแทงเรา"

ขณะที่บิ๊กกลุ่มทรู "ศุภชัย เจียรวนนท์" ระบุว่าคงต้องนำรายละเอียดและเงื่อนไขในการแปรสัญญาสัมปทานเป็นใบอนุญาตให้ คณะกรรมการบริษัทพิจารณาก่อน ทั้งตัวเลขค่าใบอนุญาต ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยเฉพาะสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินที่สร้างขึ้นมา เนื่องจากตามเงื่อนไขสัมปทานเดิมเป็นการสร้างแล้วโอนให้เจ้าของสัมปทานก่อน ได้สิทธิมาบริหาร เมื่อเปลี่ยนเป็นระบบใบอนุญาตแล้วใครจะเป็นเจ้าของทรัพย์สิน

ใน เบื้องต้นค่ายมือถือพร้อมใจกันตอบรับแนวคิดดังกล่าว ถ้ารวมเข้ากับการรับลูกของ "กทช." และความมุ่งมั่นตั้งใจของกระทรวงการคลังและไอซีที ดูเหมือนว่าการล้างไพ่สัมปทานเข้าสู่ระบบใบอนุญาตในครั้งนี้อาจไม่ใช่ mission impossible เหมือนในอดีต

แต่การแก้โจทย์ก็ยังยากไม่ต่างไป จากเดิมนัก ไม่เฉพาะภาครัฐที่ต้องบาลานซ์ผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจกับการสร้างแรงจูงใจ ให้เอกชนเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่าน ในมุมของเอกชนเองก็คงต้องมองให้ทะลุไปถึงการประมูลไลเซนส์ 3G ซึ่งว่ากันว่าไม่น่าจะมีใครยอมตกขบวน

Tags : ล้างไพ่สัมปทาน ระบบไลเซนส์ 2G + 3G โจทย์ สมประโยชน์

view