จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ปัญหาสมาร์ท การ์ดรุ่น 3 ทำผิดแบบ อยู่ตรงไหน หรือนายกฯต้องลงมาลุยอีกครั้ง
ชาวบ้านร้านถิ่นที่ไปติดต่อขอทำบัตรประชาชน ณ ที่ว่าการอำเภอ ด้วยหวังจะได้รับความรวดเร็วในการบริการประชาชนยุคมหาดไทยออนไลน์ และพก "บัตรอิเลกทรอนิกส์" เดินลงจากอำเภออย่าง "สมาร์ท"
การณ์กลับเป็นว่า ต้องได้รับ "ใบเหลือง" (บ.ป.2) กลับมาแทน ราวกับย้อนยุคสมัยผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม?
ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ชาวบ้านต่างพกบัตรสมาร์ทการ์ดแทนบัตรพลาสติกมาสอง สามปีแล้ว แต่เป็นด้วยปัญหาขัดข้องทางเทคนิค หรือความขัดแย้งด้านใดก็ตาม ชาวบ้านมิทราบหรอก
จนถึงวันนี้ บัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์แบบอเนกประสงค์ หรือบัตรสมาร์ทการ์ดรุ่นใหม่ ที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จะนำมาใช้แทนบัตรสมาร์ทการ์ดรุ่นปัจจุบัน ก็ไม่สามารถนำออกมาใช้งานได้
ซ้ำร้ายกว่านั้น ระหว่างที่รอการปรากฏโฉมของบัตรสมาร์ทการ์ดรุ่นใหม่อยู่นั้น บัตรที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ก็เกิดหมดสต็อกขึ้นมาพอดี
ทำไมการทำบัตรประชาชนรุ่นใหม่ ในยุคเทคโนโลยีล้ำหน้า ชนิดแค่หลับหูหลับตาชั่วไม่นานก็ตามไม่ทันแล้ว จึงมีปัญหาเกิดขึ้นได้!! และอะไรคือสาเหตุ?
ก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งรัฐบาล'ทักษิณ' มีนโยบายนำบัตรประชาชนอเนกประสงค์แบบสมาร์ทการ์ด มาใช้แทนบัตรประชาชนรุ่นเก่าที่เป็นพลาสติก มีลักษณะคล้ายบัตรเครดิต มีแถบแม่เหล็กสำหรับบันทึกข้อมูลโดยมีสำนักทะเบียนเป็นผู้ผลิตด้วย คอมพิวเตอร์ทั้งระบบ ซึ่งบัตรสมาร์ทการ์ดรุ่นทักษิณ คนรุ่นกลางๆ ยังมีใช้กันอยู่จะมี ไอซี ชิพ(IC Chip) สำหรับบันทึกข้อมูลบุคคลไว้ทั้งหมด
จุดประสงค์คือสามารถใช้แทนบัตรทุกประเภทที่ออกโดยหน่วยงานรัฐ และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบคอมพิวเตอร์ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ได้ด้วยระบบออนไลน์
รัฐบาล'ทักษิณ' ขณะนั้น มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2547 อนุมัติงบประมาณผูกพันรวม 7,910 ล้านบาท เพื่อผลิตและบริหารบัตรชนิดนี้ จำนวน 64 ล้านบัตร แยกการจัดทำ 3 ระยะ โดยปี 2547 ผลิตจำนวน 12 ล้านบัตร ใช้งบประมาณ 1,670 ล้านบาท ในปี 2548 จำนวน 26 ล้านบัตร งบประมาณ 3,120 ล้านบาท และปี 2549 จำนวน 26 ล้านบัตร งบประมาณ 3,120 ล้านบาท
แต่การจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ดต้องหยุดไป 1 ปี และกลับมาจัดทำใหม่ในปี 2550 ซึ่ง ไอซีที ส่งมอบให้กรมการปกครองไปครบแล้วตั้งแต่ปี 2551
บัตรประชาชนไฮเทคนี้ ส่อปัญหามาตั้งแต่การจัดทำรุ่นแรกแล้ว ครั้งนั้น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ไอซีที ต้องมีการจัดประมูลใหม่ถึง 2 ครั้งท่ามกลางข้อครหาเรื่อความไม่โปร่งใส รวมถึงข้อท้วงติงเรื่องความไม่ปลอดภัยของระบบข้อมูลส่วนบุคคล และการใช้งานไม่ได้กับระบบคอมพิวเตอร์ของกระทรวงมหาดไทย
แต่จนแล้วจนรอด ไอซีที ก็สามารถเข็นบัตรสมาร์ทการ์ดรุ่นแรกนี้ออกมาจนได้ โดยว่าจ้างบริษัท ซีเอสที เป็นผู้จัดทำบัตรจำนวน 12 ล้านบัตร ในราคา 888 ล้านบาท หรือราคาใบละ 74 บาท
จากนั้น ไอซีที ยังเดินหน้าประมูลบัตรสมาร์ทการ์ดครั้งที่ 2 จำนวน 13 ล้านบัตร มูลค่า 962 ล้านบาท ต่อในยุคน.พ.สุชัย เจริญรัตนกุล รองนายกรัฐมนตรีและรักษาการ รมว.ไอซีที แต่หลังการประมูลไปเมื่อ 17 สิงหาคม 2549 ซึ่งได้ผู้ชนะคือ กลุ่มกิจการร่วมค้าไออาร์ซี เอชเอสที ที่เสนอราคา 486,850,000 บาท หรือใบละ 37.45 บาท กลับมีการร้องเรียนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่า ไอซีที ดำเนินโครงการไม่ชอบมาพากลด้านการเสนอราคา และการประมูลขัดกับเงื่อนไข ทีโออาร์ ทำให้การจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ดในปีนี้ต้องหยุดชะงัก ไป และไปเปิดประมูลใหม่ในปี 2550
การจัดทำบัตรรุ่นที่ 2 ครั้งใหม่นี้ เป็นการจัดหาบัตรจำนวน 26 ล้านบัตร ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้า วี เอส เค เป็นผู้ชนะการประมูลไปด้วยวงเงิน 920,000,000 บาท หรือคิดเป็นราคาใบละ 35 บาท เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2550
สำหรับการจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ดที่เกิดปัญหาและกำลัง กล่าวถึงนี้ ถือเป็นการจัดทำสมาร์ทการ์ดรุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นล็อตใหม่อีกจำนวน 26 ล้านบัตร โดย ไอซีที รับเป็นผู้ดำเนินการจัดหา และมีการประกวดราคากันช่วงเดือนมิถุนายน 2552 ในรัฐบาล'อภิสิทธิ์'
การจัดทำบัตรฯครั้งนี้ กลุ่มกิจการค้าร่วม วี เค เป็นผู้ชนะการประมูล ด้วยการเสนอราคาเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 902,157,788 บาท ซึ่งต่อมากรมการปกครอง มีนโยบายต้องการปรับปรุงรูปแบบบัตรใหม่ให้มีความก้าวหน้า ดูสวยงาม ทันสมัย และป้องกันการปลอมแปลงได้มากขึ้น ซึ่งที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2552 ก็มีมติอนุมัติให้ตามนั้น
สำหรับคุณสมบัติของบัตรสมาร์ทการ์ด รุ่นที่ 3 ที่กิจการค้าร่วม วี เค เสนอนั้นจะมี IC Chip NXP รุ่น P5CD080 ขนาดหน่วยความจำ 80 Kbyte ซึ่งมากกว่าบัตรรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 รวมทั้งยังมี Card Operating System คือ JCOP V 2.4.1 และเป็น Global Platform version 2.1.1 ตามข้อกำหนดด้วย
ถัดจาก ครม.มีมติไม่กี่วัน นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการปกครองสมัยนั้น ในฐานะเจ้าของเรื่องได้ทำบันทึกถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย แจ้งให้ทราบว่ากรมการปกครองได้เห็นชอบเลือกแบบบัตรสมาร์ทการ์ดรุ่นปรับปรุงใหม่แบบ 1E ที่ ไอซีที เสนอมา
เมื่อเรื่องผ่านขึ้นไปถึงฝ่ายการเมือง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมปีเดียวกัน น.ส.ศุภพานี โพธิ์สุ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กลับมีบันทึกส่งกลับมาที่อธิบีกรมการปกครองอีกครั้ง ขอให้ทบทวนเรื่องดังกล่าว
เวลาล่วงมาถึงต้นปีใหม่ นายวงศ์ศักดิ์ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาทบทวนรูปแบบบัตรสมาร์ทการ์ดรุ่นใหม่อีกครั้ง โดยมีแนวทางการพิจารณา 2 แนวทางคือ
แนวทางที่ 1 ใช้บัตรแบบ 1E ของ ไอซีที และแนวทางที่ 2 ใช้บัตรรูปแบบเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จนในที่สุดคณะกรรมการมีมติไม่เอกฉันท์กลับไปเลือกใช้บัตรแบบเดิม
เรื่องน่าจะจบเพียงแค่นี้ เมื่อนายวงศ์ศักดิ์ ทำหนังสือถึงนายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวง ไอซีที แจ้งว่า กรมการปกครองตกลงเลือกใช้บัตรประชาชนรูปแบบเดิม และต้องการให้ ไอซีที จัดซื้อจัดจ้างผลิตบัตรตามรูปแบบที่กรมการปกครองเสนอไป
ทว่า ไอซีที กลับมีหนังถือถามกลับมาที่อธิบดีกรมการปกครองอีกครั้งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 ขอให้พิจารณารูปแบบบัตรแบบ 1E ใหม่อีกที ซึ่งก็เป็นผล อธิบดีวงศ์ศักดิ์ มีหนังสือตอบกลับไปที่ปลัด ไอซีที เมื่อวันที่ 29 มีนาคม เห็นชอบให้ ไอซีที ผลิตบัตรสมาร์ทการ์ดแบบ 1 E โดยอ้างถึงอำนาจของอธิบดีกรมการปกครอง ในฐานะเจ้าพนักงานออกบัตร พิจารณาแล้วเห็นชอบให้ใช้รูปแบบบัตรแบบ1E ซึ่งเป็นการกลับมติของคณะกรรมการฯอีกครั้ง จึงเป็นอันว่าบัตรสมาร์ทการ์ดรุ่นใหม่นี้จะต้อง เลือกใช้แบบ 1E ตามที่กรมการปกครองยืนยันมา
การจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ด เริ่มดำเนินไปตามไลน์การจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีความคืบหน้า หลังจากที่อธิบดีกรมการปกครองคนใหม่ นายมงคล สุระสัจจะ ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 เมษายน ทำหนังสือถึงกระทรวง ไอซีที แจ้งทำนองยืนยันว่า บัตรสมาร์ทการ์ดตัวอย่าง ที่ ไอซีที ส่งให้กรมการปกครองทดสอบระบบทั้งแบบที่มี ไอซี ชิพ(IC CHIP) จำนวน 5,000 บัตร และที่ไม่มี ไอซี ชิพ 20,000 บัตร สามารถใช้งานกับระบบได้เป็นปกติดี
การตอบรับของกรมการปกครอง ทำให้ ไอซีที เร่งเดินหน้าจัดหาบัตรสมาร์ทการ์ดที่ได้รับมอบหมายมา จำนวน 26 ล้านบัตรอย่างไม่รอช้า โดยในล็อตแรก ไอซีที ได้ส่งมอบไปแล้ว 300,000 บัตร และตามมาอีก 300,000 บัตร รวมบัตรที่ส่งให้กรมการปกครองไปแล้วจนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 600,000 บัตร
เวลาผ่านไป 2 เดือน เหมือนว่าการจัดทำบัตรประชาชนเจ้าปัญหาจะสิ้นกระบวนการลงแล้ว แต่ความจริงกลับไม่เป็นอย่างนั้น ปัญหาแย่ลงกว่าที่คิด
หลังจากที่ ไอซีที ส่งบัตรล็อตที่ 3 ตามไปอีก 400,000 บัตร กระบวนการทุกอย่างก็มีอันต้องสะดุดกึกลงทันที เมื่อกรมการปกครองออกมาปฏิเสธบัตรทั้งหมด 1 ล้านบัตรของ ไอซีที โดยมีหนังสือแจ้งไปเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ขอให้ ไอซีที ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับบัตรทั้งหมดกลับคืนไป ด้วยเหตุผลว่า บัตรแบบ 1E ที่จัดทำมาไม่เป็นตามลักษณะของบัตรตามกฎกระทรวง คือ
1.รูปแบบบัตรมีเส้นสีแดง (MICROTEXT) พาดผ่านตำแหน่งพิมพ์รูปภาพด้านหน้าบัตร ซึ่งไม่เป็นไปตามลักษณะของแบบบัตรฯ ที่ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์แบบเอนกประสงค์ท้ายกฎกระทรวง ออกตามความในพ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ที่กำหนดให้บัตรมีสีขาวลายพื้นสีฟ้า
2.สัญลักษณ์ด้านหลังบัตรซึ่งเป็น จุดตรวจสอบบัตรฯ ภาพแรกที่ปรากฏบน HOLOGRAM ไม่ใช่รูปแผนที่ประเทศไทย ซึ่งไม่เป็นไปตามลักษณะของบัตรตามแบบบัตรท้ายกฎกระทรวง
เป็นอันว่าจนถึงวันนี้ บัตรสมาร์การ์ดรูปแบบใหม่ ซึ่งได้มีการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีทันสมัย มีไอซี ชิพ สำหรับจัดเก็บข้อมูลจากหลายหน่วยงาน พร้อมลายพิมพ์นิ้วมือเจ้าของบัตร เพื่อใช้ในการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลในการขอรับบริการต่างๆจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนไว้ในบัตรเดียวและมีสัญลักษณ์สำหรับตรวจสอบป้องกันการปลอมแปลงบัตร ที่มีประสิทธิภาพยากแก่การปลอมแปลง ก็ยังเป็นปัญหาคาราคาซังอยู่ต่อไป
ปัญหาการจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ด รุ่นที่ 3 นี้ มีความคล้ายคลึงกับการจัดทำบัตรรุ่นแรกอย่างน่าสนใจ คือบัตรรุ่นแรกนั้น เมื่อจัดทำออกมาแล้วล็อตแรกจำนวน 6 ล้านบัตร ไม่สามารถใช้งานกับระบบคอมพิวเตอร์ของกรมการปกครองได้ ทำให้กรมการปกครองไม่ยอมรับมอบบัตรฯ จาก ไอซีที จนกลายเป็นปัญหาระหว่างหน่วยงานขึ้นมาในสมัยนั้น
แต่ทุกอย่างก็จบลงได้ เมื่อหัวหน้ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีคำสั่งลงมา ทำให้กระทรวงมหาดไทย ต้องรับมอบบัตรจำนวน 12 ล้านบัตรจนครบเมื่อปี 2548 ก่อนที่จะมีการจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ดรุ่นที่ 2 ตามมาอีก 26 ล้านบัตร และยังใช้งานกันอยู่จนถึงปัจจุบัน
ขณะที่บัตรสมาร์ทการ์ดรุ่นที่ 3 นี้ มีการอ้างว่าจัดทำผิดแบบ ไม่ตรงตามลักษณะของกฎกระทรวง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งกันเองภายในกระทรวงมหาดไทย และระหว่างมหาดไทย กับ ไอซีที ก็ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายหัวหน้ารัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะจบปัญหานี้ด้วยวิธีแบบคนข้างบนหรือเปล่า