สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สองดวงใจคู่แผ่นดิน 60 เรื่องราวแห่งรัก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง



ในหลวงทรง “โรแมนติก”ไหม ? คำถามนี้หลายคนคงอยากรู้

         ในหลวงทรง “โรแมนติก”ไหม ? คำถามนี้หลายคนคงอยากรู้

        นับจากวันแรกที่พระองค์ทรงพบ รัก ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาท่านทูตวัย 15 ปีจวบจนถึงวันราชาภิเษกสมรสครบ 60 ปีในวันนี้ หนึ่งวันเต็มๆ กับการสืบค้นบันทึกลายลักษณ์อักษร ในห้อง 302 ชั้น 3 หอสมุดแห่งชาติ นอกจากอมยิ้มไปกับเรื่องราวรักแรกพบ ภาพฝีพระหัตถ์ บทเพลงพระราชนิพนธ์ มากไปกว่านั้นยังได้ประจักษ์ชัดถึงอีกหลายบริบทแห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ อัน เป็นความรักและหน้าที่ที่มาคู่กันของพระมหากษัตริย์และราชินีที่ทรงงานหนัก ที่สุดในโลก
        ...และทั้งหมดเป็น 60 เหตุการณ์สำคัญและเกร็ดเรื่องราวน่าสนใจ บนเส้นทางแห่งรัก 60 ปีราชาภิเษกสมรส

1. แรกพบ ณ เมือง Fontainebleau ชานกรุงปารีส ในปีพ.ศ.2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯเยี่ยมโรงงานต่อรถยนต์ในประเทศฝรั่งเศส ขณะนั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร เป็นบุตรีของม.จ.นักขัตมงคลท่านทูตประจำกรุงปารีส ได้มาร่วมเฝ้ารับเสด็จฯด้วย

2. เป็นการพบกันครั้งแรกที่ผิดจากแบบนวนิยาย เพราะม.ร.ว.สิริกิติ์อยู่ในอารมณ์ทั้งหิวและรอนาน เนื่องจากรถยนต์พระราชพาหนะเกิดเครื่องเสียและน้ำมันหมด ต้องใช้เวลาแก้ไขนานกว่าจะเสด็จฯมาถึง  

3. ทั้งสองพระองค์ยังทรงจำเหตุการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี เวลารับสั่งถึงจะทรงพระสรวล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมักจะ ทรงล้อว่า “เดินตุปัดตุเป๋ หน้างอคอยถอนสายบัว”

4. จุดแรกเริ่มที่ทำให้ทรงพอพระราชหฤทัยม.ร.ว.สิริกิติ์ เพราะสนใจดนตรีเช่นเดียวกัน

5. หลังจากทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่นอกเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในคืนวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2491 ในหลวงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ (พระฐานันดรในขณะนั้น)ว่า “ทรงรักม.ร.ว.สิริกิติ์อย่างแน่นอน” พระราชทานเหตุผลว่า เมื่อทรงฟื้นคืนพระสติครั้งแรกนั้น ทรงระลึกถึงบุคคลเพียง 2 คน คือ สมเด็จพระบรมราชชนนี และม.ร.ว.สิริกิติ์

6. ระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่นั้น นอกจากสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีแล้ว ยังมีม.ร.ว.สิริกิติ์ ร่วมเฝ้าอยู่ด้วย จึงเป็นผลให้ความสัมพันธ์ที่มีมาแต่เดิมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น


7. มีเรื่องเล่าจากบันทึกส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ถึงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรด เกล้าฯให้ประพันธ์คำร้องเพลงพระราชนิพนธ์ “เทวาพาคู่ฝัน” และ “อาทิตย์อับแสง” ถวายว่า  ในช่วงที่ทรงเริ่มรู้จักชอบพอกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อยังทรงเป็น ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร อยู่นั้น ต่างประทับห่างไกลกัน เมื่อ ต้องทรงจากกันก็เปรียบเหมือน “อาทิตย์อับแสง” และในพระราชหฤทัยของทั้งสองพระองค์ก็คงทรงหวังให้ “เทวาพาคู่ฝัน”มาให้

8. วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2492 ทรงหมั้นกับม.ร.ว.สิริกิติ์ โดยพิธีหมั้นจัดเป็นการภายใน ณ โรงแรมวินเซอร์ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

9. วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2492  วันเกิดครบ 17 ปีของม.ร.ว.สิริกิติ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯเป็นการส่วนพระองค์มาร่วมงานเลี้ยงด้วย ณ กรุงลอนดอน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกาศข่าวทรงหมั้นเพื่อคนไทยได้รับรู้

10. พระธำมรงค์เพชรรูปหัวใจที่ทรงหมั้น เป็นองค์เดียวกับที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงมอบแด่สมเด็จพระบรมราชชนนี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระ ราชดำรัสว่า“เป็นของมีค่ายิ่ง และเป็นที่ระลึกด้วย”

11. วันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพระราชทาน ณ วังสระปทุม

12. ในอดีตพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ยังเคยเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

13. ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายเช่นเดียวกับประชาชนชาวไทย ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสนอกสถานที่ ปิดอากรแสตมป์ 10 สตางค์ เสียค่าธรรมเนียม 10 บาท 

14. ของที่ระลึกพระราชทานในงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสเป็นหีบเงินขนาด เล็ก บนฝาหีบประดับอักษรพระปรมาภิไธย ภ.อ. และพระนามาภิไธย ส.ก.

15. หลังการอภิเษกสมรส รุ่งขึ้นเสด็จฯไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์โดยทางรถไฟ .ระหว่างเสด็จฯฮันนีมูน ทั้งสองพระองค์ทรงพระสำราญตอนเย็นๆมักจะเสด็จลงสรงน้ำทะเล

16. “พระราชวังไกลกังวล”เป็นวังส่วนพระองค์ที่รัชกาลที่7 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2469 ภายในบริเวณประกอบด้วยพระตำหนักหลายหลังมีชื่อคล้องจองกัน ได้แก่ พระตำหนักเปี่ยมสุข ปลุกเกษม เอิบเปรม เอมปรีดิ์

17. อ.หัวหิน ยังเป็นแห่งแรกที่ทรงเริ่มสำรวจพื้นที่ ดิน น้ำ อาชีพ การกินอยู่ของราษฎร โครงการแรกได้พระราชทาน“ถนนสายห้วยมงคล”ให้แก่ “ลุงรวย”และชาวบ้านที่มาช่วยกันเข็นรถยนต์พระที่นั่งจากหล่มดินในปีพ.ศ.2495 นับเป็นถนนสายแรกที่นำไปสู่โครงการพระราชดำริเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร

18. พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่  5 พฤษภาคม พ.ศ.2493  ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง

19. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

20. พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

21. วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2493 เป็นพระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียร หรือ “พีธีขึ้นบ้านใหม่” ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

22. เสด็จฯไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2493  โดยเครื่องบินสายการบิน เค.แอล.เอ็ม

23. การเสด็จฯประทับที่สวิสช่วงนั้นยังเป็นเหตุผลทางการเมืองของรัฐบาลสมัยนั้น เนื่องด้วยมีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อแน่ใจว่าสามารถรักษาสถานการณ์ไว้ได้จึงจะเชิญเสด็จฯกลับเมืองไทย 

24. ขณะประทับอยู่ที่เมืองโลซานน์ ณ พระตำหนักวิลล่า วัฒนา เลขที่ 51 Chamblandes dessus,Lausanne,(Vaud)Pully.ทรงปฏิบัติพระองค์เสมือนสามัญชน ชาวสวิสทั่วไปเรียกทั้งสองพระองค์ว่า Monsieur (Le Roi) และMadame(La Reine)

25. สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระประสูติกาลเจ้าฟ้าพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี  ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ.2494

26. ในหลวงทรงตกแต่งห้องประทับพระธิดาองค์น้อยด้วยพระองค์เอง โดยปิดกระดาษสีอ่อนๆ ระบายรูปภาพเป็นนางฟ้า ผีเสื้อ ดอกไม้ แบบวอลล์เปเปอร์ และทรงต่อเครื่องเล่นในห้องทรงการช่างใต้ดิน

27. ทรงเป็นนักถ่ายรูปนิยม จะทรงฉายพระรูปสมเด็จฯและพระธิดา ไว้เป็นการบันทึกความเจริญเติบโตทุกระยะๆ ทรงเก็บเข้าอัลบั้มพร้อมวันเดือนปีอย่างละเอียด

28. วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2494 เสด็จนิวัติประเทศไทยโดยเรือ MEONIA

29. สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีทรงมีพระประสูติกาลพระราชโอรส-พระราชธิดาอีก 3 พระองค์โดยทุกพระองค์ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

30. พระราชโอรสพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์ได้รับพระราชทานพระกษีรธารา (นมแม่)

31. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2495 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารในพ.ศ.2515

32. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ.2498 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ในปีพ.ศ.2520

33. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2500

34. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศ 3  ครั้ง ตามลำดับดังนี้
 - ครั้งที่ 1  เมื่อวันที่  28 เมษายน พ.ศ. 2493 ในวโรกาสพระราชพิธีราชาภิเษก ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาม.ร.ว.สิริกิติ์ พระอัครมเหสี เป็น “สมเด็จพระราชินี สิริกิติ์”
 - ครั้งที่ 2  เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โปรดเกล้าฯ ประกาศสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินี”
 - ครั้งที่ 3  เมื่อวันที่ 5  ธันวาคม พ.ศ. 2499  หลังจากทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง ผนวช (22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ) จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอภิไธยขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”

35. นับเป็นพระบรมราชินีนาถองค์ที่สองแห่งราชวงศ์จักรี

36. เมื่อพระตำหนักจิตรลดารโหฐานปรับปรุงต่อเติมใหม่เสร็จในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ 2500 จึงเสด็จแปรพระราชฐานจากพระที่นั่งอัมพรสถานกลับไปประทับยังพระตำหนัก จิตรลดารโหฐานตามเดิม

37. พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีห้องทั้งหมดประมาณ 30 ห้องจึงเป็นพระตำหนักที่เล็กและจำกัด แต่อบอุ่นด้วยความรักระหว่างครอบครัวที่ประทับอยู่ด้วยกัน จนต่างทรงพระเจริญชันษาที่จะแยกเป็นครอบครัวของพระองค์เอง

38. ในปีพ.ศ.2501 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงเรียนจิตรลดาขึ้นในบริเวณพระตำหนัก เพื่อให้เป็นสถานศึกษาของพระราชโอรสพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์

39. “เรื่องการรับผิดชอบตนเอง และความรับผิดชอบในหน้าที่เป็นเรื่องที่ทรงเน้นมาก เมื่อมีหน้าที่อะไรก็ต้องทำอย่างเต็มใจ เช่น เมื่อตอนเด็กๆก็โปรดเกล้าฯให้ตามเสด็จงานบางงาน เมื่อโตขึ้นก็มีมากขึ้นตามลำดับ ทรงสอนให้รู้จักอดทน และภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติที่ด้อยโอกาส และมีความละอายใจถ้าไม่สามารถปฏิบัติตามหน้าที่ได้”...ตอนหนึ่งจากพระราช นิพนธ์ “สมเด็จแม่กับการศึกษา”ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

40. ในหนังสือ “สมเด็จแม่กับการศึกษา”สมเด็จพระเทพฯทรงเล่าตอนหนึ่งว่า “สมเด็จแม่โปรดให้เราอ่านหนังสือมากกว่าดูโทรทัศน์ มีเหตุผลว่าดูโทรทัศน์ (ซึ่งในตอนนั้นมีอยู่เพียงสองสามช่อง)เหมือนกับการถูกสะกดจิตให้ต้องดูและ ฟังรายการที่ผู้จัดรายการเพียงคนสองคนจัดขึ้น ในขณะที่หนังสือมีให้เลือกอย่างหลากหลาย”

41. สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติพระองค์เยี่ยงสามัญชนที่รักลูกรักบ้าน ทรงระวังมากตั้งแต่ความสวยงามและความสะอาดนับตั้งแต่เรื่องอาหารจนถึงสิ่ง เล็กๆน้อยๆแม้แต่ห้องน้ำก็ไม่พ้นพระเนตรพระกรรณ

42. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคย ทรงประกอบอาหารพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเมื่อทรงพระเยาว์ เมนูนี้เรียกกว่า “ไข่พระอาทิตย์”(เป็นไข่เจียวผสมข้าวสุก ทรงเล่าว่า เมื่อส่องกล้องแล้ว พื้นผิวดวงอาทิตย์มีลายเหมือนเมล็ดข้าว ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า Grain de riz )

43. เพลงพระราชนิพนธ์ Lullaby (ค่ำแล้ว) เพลงนี้มีผู้เข้าใจว่าทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แต่มีผู้นำรับสั่งของสมเด็จพระเทพฯมาถ่ายทอดว่า“ที่จริงแล้วไม่ได้ทรงพระราช นิพนธ์พระราชทานสมเด็จพระเทพฯ แต่ว่าเมื่อสมเด็จพระเทพฯ ทรงฟังเพลงนี้ทีไรทรงหลับทุกครั้ง”

44. เพลง“สดุดีมหาราชา”ที่คนไทยร้องกันได้ขึ้นใจ แต่แรกแต่งขึ้นเพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง“ลมหนาว”ของชรินทร์ นันทนาคร เมื่อพ.ศ.2509 ประพันธ์ทำนองและคำร้องร่วมกันโดยชาลี อินทรวิจิตร,สมาน กาญจนะผลิน,และสุรัสน์ พุกกะเวส

45. ปีพ.ศ.2502 ในหลวงทรงเริ่มเขียนภาพอย่างจริงจัง ในระยะแรกๆ ทรงเขียนภาพเหมือนจากพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

46. ทรงเคยปั้นงานประติมากรรมฝีพระหัตถ์เป็นพระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครึ่งพระองค์ ความสูง 12 นิ้วด้วย

47. ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในอดีตยังมีภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งยังเป็นม.ร.ว.สิริกิติ์ กำลังยิ้มแย้มสดชื่นในรถยนต์พระที่นั่ง

48. เมื่อครั้งที่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติใหม่ๆ โปรดที่จะถ่ายภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมพระราชโอรสและพระราชธิดา โดยเฉพาะเมื่อเสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

49.ในหลวงและราชินีเสด็จเยือนต่าง ประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีเป็นครั้งแรก เมื่อปีพ.ศ2502  โดยเสด็จเยือนเวียดนามเป็นประเทศแรก และเสด็จเยือนสาธารัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นประเทศล่าสุดในปีพ.ศ.2537

50. ปีพ.ศ.2503 เสด็จฯเยือนต่างประเทศยาวนานที่สุดถึง 7 เดือน ยังประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆในยุโรปอีก 13 ประเทศและ 1 รัฐ

51. มีเรื่องเล่าถึงบทสัมภาษณ์ที่ในหลวงพระราชทานสัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศ เมื่อปีพ.ศ.2503 ครั้งเสด็จฯเยือนยุโรปและสหรัฐอเมริกา นักข่าวกราบบังคมทูลถามว่าเพราะเหตุใดพระองค์ถึงทรงเคร่งขรึมนัก ไม่ทรงยิ้มหรือพระสรวลบ้างเลย ทรงชี้ไปที่พระราชินีซึ่งประทับอยู่ข้างๆ พร้อมกับตอบว่า “She’s my smile (นั่นไงยิ้มของฉัน)”

52. นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2498 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ โดยเสด็จตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อ ทรงเยี่ยมราษฎร แรกเริ่มที่ต.ห้วยมงคล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

53. ขณะที่ในหลวงทรงสนพระราชหฤทัยด้านการชลประทานและการเกษตร สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ จะทรงใช้เวลากับราษฎรผู้หญิง เด็กและผู้สูงอายุ พระราชทานงานศิลปาชีพ

54. ขณะทรงประกอบพระราชภารกิจที่ต.สะเต็ง อ.เมือง จ.ยะลา ปีพ.ศ.2520 ทรงร่วมกันผ่านเหตุการณ์ระทึกขวัญ เมื่อมีเสียงระเบิดดังตูมขึ้นสองครั้งจนประชาชนที่มารับเสด็จกันแน่นพากัน วิ่งหนีอย่างอลหม่าน

55. การเสด็จฯเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดารต่างๆ เป็นพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติมายาวนานหลายสิบปี ในอดีตราวเดือนสิงหาคม-ตุลาคม เป็นช่วงเวลาเสด็จฯแปรพระราชฐาน ณ ทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส ถึงเดือนพฤศจิกายน จะประทับ ณ ภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร และในเดือนมกราคม-มีนาคม ประทับ ณ ภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่

56. “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง สอนลูกๆทุกคน สอนข้าพเจ้าก่อนแล้วก็สอนลูกว่า เมื่อคนเขายกย่องนับถือให้เป็นประมุขเท่าไร เราต้องรู้สึกว่า เราต้องทำงานให้หนักกว่าทุกคน ต้องมีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ” พระราชดำรัสตอนหนึ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระทานทานเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2522

57.  “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีโครงการพระราชดำริมากกว่า 3,000 โครงการทั่วประเทศ ทรงมุ่งให้ราษฎรให้กินดี อยู่ดีขึ้นทุกภาค งานที่ทรงทำนี่ ทำโดยไม่มีวันหยุดมาเกือบ 60 ปีแล้ว ทรงทำโดยไม่เบื่อหน่าย เพราะเป็นงานที่ทรงทำ ด้วยความรักที่มีต่อประชาชน ในห้องทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีแต่แผนที่ประเทศไทยทุกภาคเต็มไปหมด...” พระราชดำรัสตอนหนึ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2552 

58. แม้คนไทยอาจไม่ได้เห็นภาพข่าวเสด็จฯทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดาร ต่างๆ แต่เคยสังเกตไหมว่า แทบทุกครั้งที่มีเหตุการณ์อันน่าเศร้าสะเทือนใจ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ผู้เจ็บป่วยยากไร้ แม้กระทั่งล่าสุดเหตุการณ์นองเลือด 10 เมษายน หรือเหยื่อระเบิดที่สีลม ฯลฯ เรามักจะได้เห็นข่าว “ทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์” ตามมาเสมอ

59. ในยามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง ประทับรักษาพระวรกายที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายนเป็นต้นมา สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงเฝ้าพระอาการ ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชโดยตลอด

60 .นับตั้งแต่อภิเษกสมรสผ่านมา 60 ปี พลังแห่งรักของทั้งสองพระองค์เป็นที่ประจักษ์ผ่านโครงการพระราชดำริต่างๆ  แม้จะทรงมีพระชนมพรรษาเพิ่มมากขึ้น ปีนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะ เจริญพระชนมายุ 83 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 78  พรรษา แต่ยังทรงทำงานอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

 



หมาย เหตุ : เรียบเรียงข้อมูลจาก
- หนังสือ"ทำเป็นธรรม" และ "บันทึก เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" โดยท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
- หนังสือ "ตามเสด็จฯต่างประเทศ"โดยท่านผู้หญิงพึงจิตต์ ศุภมิตร
- หนังสือ "ด้วยพลังแห่งรัก"เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ จัดทำโดยกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถและกองศิลปาชีพ
- หนังสือ "100 เรื่องในหลวงของฉัน"โดย วิทย์ บัณฑิตกุล
- เว็บไซต์ http://www.supremeartist.org/ ของมูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9
- เว็บไซด์ http://th.wikipedia.org

 

Tags : สองดวงใจ คู่แผ่นดิน 60 เรื่องราวแห่งรัก

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view