จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ Thai Startup Cafe โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช www.facebook.com/thaistartupcafe
อย่างที่ทราบกันดี ว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับ Startup สูงมากในปี 2016 ที่ผ่านมา ทำให้คนจำนวนมากหันมาสนใจ Startup กันมากขึ้น ผมจำได้ว่าเมื่อผมมาเริ่มทำ Startup ในปี 2012 นั้น คนทำ Startup มีไม่น่าจะเกินร้อยราย เรียกว่าทุกคนในวงการแทบจะรู้จักกันหมด
แต่พอมาปี 2016 เทรนด์การทำ Startup ก็บูมขึ้นมา คงเป็นเพราะมูลค่าการเติบโตของ Startup น่าสนใจ และไหนจะนวัตกรรมที่ผลิตออกมาจาก Startup ซึ่งล้อไปกับ S-Curve ของรัฐบาลไทย ไปผูกอยู่กับ 10 โครงการอุตสาหกรรมที่เรากำลังเปลี่ยนผันอุตสาหกรรมบ้านเราให้เหมือนอย่างเกาหลี ซึ่งแต่ก่อนนั้นเขาเคยตามเราและตอนนี้แซงหน้าเราไปเรียบร้อยแล้ว
จากการที่ผมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ ในวงการ ทำให้ทราบว่าเวลานี้
Thai Startup มีแบ่งระดับตามความสามารถกันแล้ว และขณะเดียวกันกลุ่มการเงินก็ไหลเข้ามามากขึ้น กลุ่มมืออาชีพที่เดิมทำธุรกิจภาคองค์กร และ SME ก็เริ่มหันมาสนใจ Startup ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุน หรือเป็นผู้เล่นซะเอง ส่วนคนทำ Startup นั้น มีแนวโน้มว่าจะอายุมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การทำ Startup หลายคนบ่นให้ผมฟัง เรื่อง "ความท้าทาย"
ความท้าทายในการทำ Startup ในเมืองไทย ปี 2017 จะเจอกับอะไรบ้าง ?
อันดับแรก ไปทางไหนคนจะพูดแต่ Fintech กับ IoT หรือ Internet of Things
ถ้าลองเอา Startup ในทุก ๆ ประเภทมาเรียงตรงหน้า แล้วถามว่า Startup ประเภทไหนน่าตื่นเต้นที่สุด ได้ผลกำไรหนักสุด passive income มากที่สุด และมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วที่สุด คำตอบก็คือ Fintech นั่นเอง สิ่งที่อยากให้ดูคือ
ลองนึกถึง Stockradars ครับ ว่าทำไมเขาถึงได้โตเร็วอย่างนี้ หรือถ้าใครที่ตามข่าวลึก ๆ หน่อย จะเห็นว่าธนาคารต่าง ๆ เริ่มผันตัวเข้ามาลงทุนและทำ Startup เองภายในองค์กร เพื่อสร้างนวัตรกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ออกมา ด้วยจุดมุ่งหมายป้องกันการ "หมดอายุ" ของธุรกิจการเงินแบบเก่า และสร้าง "ความได้เปรียบ" ทางธุรกิจกับธุรกิจการเงินอื่น ๆ ยกตัวอย่างธนาคารที่เยอรมนีมีธนาคารอยู่ธนาคารหนึ่งซึ่งตอนนี้ไม่มีสาขาให้เดินเข้าไปทำธุรกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี Blockchain ที่เข้ามาเชื่อมโยงเรื่องการจัดการข้อมูลแบบเข้ารหัส ไหนจะเรื่อง big data analytic ซึ่งใครที่คิดว่าจะเข้ามาแค่ทำแอปจ่ายเงิน ลืมไปได้เลยครับ เพราะตอนนี้ Fintech กำลังลึกขึ้นและดุขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าใกล้ ๆ บ้านเราคงจะเป็นความดุของ Ant Financial ไหนจะ Alipay Linepay Wechatpay ที่ไหลเข้ามาเมืองไทยพร้อมกับนักท่องเที่ยวจีนเรื่อย ๆ
นี่ยังไม่นับกับปรากฏการณ์ของบริษัท IoT ชื่อดังอย่าง ThingWorx ที่โดน PTC ยักษ์ใหญ่ด้าน Engineering Software เข้ามาควบรวมกิจการ จากคำแนะนำของอาจารย์ Michael E. Porter เพื่อนสนิทของผู้บริหารของ PTC แสดงให้เห็นว่างานนี้ IoT เองก็น่าจะมีส่วนทำให้การทำ Startup ในปีนี้น่าสนุกตื่นเต้นยิ่งขึ้นไปอีก
อันดับต่อมา Funding ไม่ต้องแปลกใจครับ ว่าทำไมเรื่องเงินยังเป็นอันดับต้น ๆ ที่เป็นสิ่งท้าทาย ผมเองเคยเขียนไปตอนเก่าก่อนแล้ว ว่ากาไรพิจารณาการลงทุนมีองค์ประกอบอยู่ไม่มาก ไม่พ้นเรื่องเงิน, กำไร, การเติบโต, สมาชิก, ความสามารถในการคุมตลาด เป็นต้น ซึ่ง Startup เกือบ 100% เรียกว่าต้อง Bootstrap หรือใช้เงินตัวเองทำ Startup ก่อนทั้งสิ้น ไม่ได้ดูสวยหรูอย่างที่หลายคนเข้าใจ ว่าเข้ามาในธุรกิจนี้แล้วจะมีคนลงทุน สำหรับคนที่ได้รับการลงทุนไปแล้ว ถือว่าต้องแสดงศักยภาพให้เต็มที่ ส่วนบางรายเองได้รับการลงทุนแล้วเงินกำลังจะหมดรอบ serie ก็มีเยอะ ที่กำลังรอการต่ออายุเพื่อการโตเต็มที่ ผมคงจะสรุปได้แค่ว่า Funding ในบ้านเรายังคงเป็นสิ่งท้าทายเหมือนเดิม ไม่ว่าจะมี VC มากขนาดไหนก็ตาม
สุดท้ายคือ บุคลากร พูดถึงเรื่องนี้ทีไร เพื่อน ๆ ชาว Startup รุ่นใหญ่แต่ละคนต้องตบเข่าฉาดทุกที นั่นก็เพราะคนอยากทำ Startup ในไทย ผมเดาว่า 95% ต้องอยากทำ Software เป็นหลัก และแน่นอนว่าต้องมี Programmer ซึ่งทุกวันนี้ลองไปหาตัวดูเถอะครับ ค่าตัวเฟ้อสุด ๆ ผมเองก็ต้องหาเหมือนกัน แต่พอดูราคาค่าตัวแล้ว แม้จะเป็นคนจบใหม่ไม่มีประสบการณ์ก็ค่าแรงสูงมาก และที่สำคัญถึงแม้จะมีคนให้เราจ้าง แต่ใช่ว่าเขาจะเลือกเรา ถ้าเรายังเป็น Startup หน้าใหม่ยังตั้งตัวไม่ติด แม้กระทั่งเพื่อนผมที่ทำอยู่ วงในดอทคอม เอง ก็ยังมีปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ ดูเหมือนจะเป็นปัญหาตลอดกาล และรวมถึงในปี 2017 ด้วย
ตอนต่อไปจะมาว่ากันต่อถึงความท้าทาย
อีก 5 ข้อ ที่คนคิดจะทำ Startup ควรระวังและเตรียมรับมือ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน