สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เค้าโครงเศรษฐกิจชาติ 20 ปี บิ๊กตู่ มัด 5 รัฐบาลใหม่ แก้กับดักการเมือง

จากประชาชาติธุรกิจ


5 ปีเป็นอย่างน้อยที่ "รัฐบาลใหม่" ต้องรับบทเป็นสถาปนิก-คนคุมงาน "ขึ้นโครง" ประเทศ ต่อจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

20 ปีตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ-ปฏิรูปประเทศมี "สภาพบังคับ" ให้ "5 รัฐบาล" ต้องเดินตาม ด้วยร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ....

"เมื่อมีพระบรมราชโองการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติแล้วได้กำหนดให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้านต้องจัดทำแผนแม่บทเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติโดยเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาและบังคับใช้ต่อไป"

ปักหมุด "สปีดเทรน" จีน-ญี่ปุ่น

แผนแม่บท-พิมพ์เขียวประเทศจะมาจากแผนยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ ที่ถูกออกแบบไว้แล้วในช่วงการยึดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์และชาวคณะ คสช.ในช่วง 4 ปีเต็ม (1 เทอม) ก่อนจะมีการเลือกตั้งราวปลายปี"61 ได้แก่


แผนแม่บทด้านคมนาคมขนส่ง ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (พ.ศ. 2558-2565)

1.การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง โครงการรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีนตอนใต้ ได้แก่ 1.ชุมทางจิระ-ขอนแก่น 2.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 3.นครปฐม-หัวหิน 4.มาบกะเบา-นครราชสีมา 5.ลพบุรี-ปากน้ำโพ 6.หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ อีก 2 เส้นทาง คือ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และรถไฟสายชายฝั่งตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย 

โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 




ตัดถนนลอยฟ้า 8 สี 10 เส้นทาง

2.แผนการพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งการพัฒนาถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้า 8 สี 10 เส้นทาง ได้แก่ 1.สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม 2.สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง 3.สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี 4.สายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 5.สายสีน้ำเงิน บางแค-พุทธมณฑลสายสี่ 6.สายสีเขียว สมุทรปราการ-บางปู และคูคต-ลำลูกกา 7.สายสีแดงอ่อน บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก 8.สายสีแดงเข้ม บางซื่อ-หัวลำโพง

3.แผนการเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศและเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านปรับปรุงโครงข่ายถนนระหว่างเมืองหลักและเชื่อมเมืองหลักกับด่านพรมแดนให้เป็น 4 ช่องจราจร การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง อาทิ สายพัทยา-มาบตาพุด สายบางปะอิน-โคราช และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี

เชื่อม 2 ฝั่งอันดามัน-อ่าวไทย 

4.แผนงานการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ เปิดประตูการขนส่งด้านฝั่งทะเลอันดามัน เชื่อมโยงเป็นสะพานเศรษฐกิจกับท่าเรือฝั่งอ่าวไทย และเป็นเมืองท่าของประเทศขยายตัวจากภาคตะวันออกไปสู่ภาคใต้ ได้แก่

โครงการสถานีขนส่งทางลำน้ำ จ.อ่างทอง ท่าเรือชุมพร ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ระยะที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าในแม่น้ำป่าสัก ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเรือสงขลา แห่งที่ 2 โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง

ขยาย 4 สนามบินรับนักท่องเที่ยว

5.แผนงานการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ อาทิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 รองรับผู้โดยสาร 90 ล้านคนต่อปี โครงการพัฒนาอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต รองรับผู้โดยสาร 12.5 ล้านคนต่อปี และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก รองรับผู้โดยสาร 1.5 ล้านคนต่อไป

แผนแม่บทด้านพลังงาน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) อาทิ 1.โครงการก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้า เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าวังน้อยทดแทนชุดที่ 1-2 และโรงไฟฟ้าวังน้อยทดแทนชุดที่ 3 โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทนเครื่องที่ 1-2 โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ประกอบด้วยเครื่องผลิต 2 เครื่อง

2.โครงการระบบส่งไฟฟ้า อาทิ โครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่เป้าหมาย อ.แม่สอด จ.ตาก อ.เมือง จ.มุกดาหาร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว อ.คลองใหญ่ จ.ตราด อ.เมือง จ.หนองคาย และ อ.สะเดา จ.สงขลา

เสริมความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า


3.โครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า ได้แก่ โครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าภาคตะวันออก โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้ โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับการเชื่อมต่อโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน รองรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน และรองรับการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคเหนือตอนบน โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคเหนือตอนบน ระยะที่ 2 โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคใต้ โครงการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ทะเลไปยัง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 

4.โครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับการเชื่อมต่อโรงไฟฟ้า โครงการระบบไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาลิกไนต์ โครงการเพื่อรับซื้อจากเอกชน รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำงึม 3 และน้ำเทิน 1

โครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า จ.เลย หนองบัวลำภู และขอนแก่น และโครงการบริเวณ จ.อุบลราชธานี ยโสธร และอำนาจเจริญ เพื่อรับซื้อจาก สปป.ลาว โครงการระบบส่งไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อโรงไฟฟ้าใหม่ภายในประเทศ โครงการระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรับซื้อจากโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และมาเลเซีย 

เพิ่มน้ำต้นทุน-ฟลัดเวย์


แผนแม่บทด้านการบริหารจัดการน้ำ ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2558-2569 ประกอบด้วย 6 ภารกิจ ได้แก่ ภารกิจที่ 1 จัดการน้ำอุปโภคบริโภค ระยะสั้น (2558-2559) มีน้ำประปาใช้ทุกหมู่บ้าน ในปี 2560

ภารกิจที่ 2 ความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ระยะสั้น ศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระยะกลาง (2560-2564) และระยะยาว (2565-2569) โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล โครงการเพิ่มน้ำต้นทุน ลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล 

ภารกิจที่ 3 จัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ระยะสั้น ศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระยะกลางและระยะยาว จัดทำโครงการใหญ่ เช่น ทางน้ำและทางกั้นน้ำ 

ภารกิจที่ 4 จัดการคุณภาพน้ำ (น้ำเสีย น้ำเค็ม) ระยะสั้น เพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย ระยะกลางและระยะยาว จัดสรรน้ำเพิ่มเพื่อผลักดันน้ำเค็มในฤดูแล้ง

ภารกิจที่ 5 อนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม ระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม 4.7 ล้านไร่ และภารกิจที่ 6 การบริหารจัดการ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในภาวะปกติและวิกฤต อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

เสริมสมรรถนะ ศก.ตะวันออก 


นอกจากแผนแม่บทระดับชาติที่เปรียบเป็น "กระดูกสันหลัง" ของเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังมีแผนแม่บทระดับภูมิภาคที่เปรียบเป็น "เส้นเลือดใหญ่" ของเศรษฐกิจกระแสใหม่เช่นกัน ได้แก่

แผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ตามแผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (พ.ศ. 2560-2564) ประกอบด้วย 1.ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา

2.ทางเรือ ได้แก่ ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด 3.ทางถนน ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรุงเทพฯ-ชลบุรี พัทยา-มาบตาพุด และแหลมฉบัง-นครราชสีมา

4.ทางราง ได้แก่ รถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง เชื่อม 3 สนามบินระดับชาติ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา 

โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ด เป็นจุดจอดเรือยอชต์ เรือข้ามฝาก (Ferry) และเรือสำราญ (Cruise) เชื่อมโยง 2 ทะเลอ่าวไทยกับอันดามันมาบรรจบกัน

กระตุ้น 10 เขต ศก.ชายแดน 


แผนพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน 10 พื้นที่ อาทิ การพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1 (SEZ 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร

แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับเมียนมา อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ปรับปรุงทางหลวงช่วงกาญจนบุรี-ชายแดนไทยและเมียนมา ณ ด่านชายแดนบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี

ขณะที่โครงการสนองนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" เพื่อก้าวไปสู่เทคโนโลยี-อุตสาหกรรมใหม่ และประเทศมีรายได้สูง อาทิ การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในรูปแบบ Cluster และส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve แผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ตามแผนรัฐบาลดิจิทัล ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2559-2561) แผนยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติ 20 ปี และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)

เป็นการนับ 1 ย่ำรอย-รับไม้ต่อจากรัฐบาลทหารที่ฟูมฟักแผนชาติมานานนับเทอม



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เค้าโครงเศรษฐกิจชาติ 20 ปี บิ๊กตู่ มัด 5 รัฐบาลใหม่ แก้กับดักการเมือง

view