มองต่างมุม...ตลาดหุ้นโลกปี 2015
โดย : ผศ.ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ในช่วงปีใหม่นี้โบรกเกอร์และสำนักวิจัยหลายแห่งมีการคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นและเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆในโลกของปี 2015
จะเป็นเช่นไร ผู้เขียนขอทำหน้าที่วิเคราะห์การคาดการณ์ที่ออกมาในช่วงนี้ ว่าตลาดมองภูมิภาคไหนดีหรือแย่จนเกินไปบ้าง ดังนี้
ขอเริ่มจากภูมิภาคที่แทบทุกสำนักมองว่าจะมีเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่ดีที่สุดในปี 2015 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา โดยคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีไว้กว่าร้อยละ 4 เนื่องจากไม่ว่าจะพิจารณาตัวเลขจีดีพี อัตราเงินเฟ้อ หรือแม้แต่อัตราการว่างงาน ต่างชี้ไปในทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากำลังเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ ปีนี้ยังเป็นปีที่เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการสรรหาคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งมักจะเป็นปีที่เศรษฐกิจมีความคึกคักเป็นพิเศษ น่าจะทำให้ทั้งผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นและภาพอนาคตของตลาดหุ้นเองดีใกล้เคียงหรือดีกว่าปีนี้ ทว่าผู้เขียนเห็นว่า ณ เวลานี้ พวกเราอาจจะประเมินเศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐ ไว้ดีจนเกินไป เนื่องจากตลาดได้คำนึงถึงปัจจัยเชิงลบของสหรัฐน้อยเกินไปใน 2 ข้อดังนี้
หนึ่ง หากยังจำกันได้ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2013 ตอนที่นายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด เริ่มจะแบไต๋ว่าเตรียมจะลดปริมาณการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือลดการทำ QE ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั้งในสหรัฐและตลาดเกิดใหม่ตกลงกว่าร้อยละ 10 ทีนี้ หากพิจารณาตัวนายเบอร์นันเก้เทียบกับนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐคนปัจจุบัน ในด้านความสามารถที่จะสื่อสารสัญญาณความเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงินให้กับตลาดได้รับทราบนั้น นายเบอร์นันเก้ถือว่ายังเหนือกว่านางเยลเลน เนื่องจากผ่านเวทีโหดๆ อย่างตอนวิกฤตซับไพร์มปี 2008 มาแล้ว ในขณะที่นางเยลเลนยังไม่เคยผ่านงานยากๆ ทำนองนี้มาก่อน นอกจากนี้ นางเยลเลนยังดูจะมีความนิ่งน้อยกว่านายเบอร์นันเก้เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาที่ตอบยากๆ แบบทันควัน จึงน่าคิดว่าเมื่อถึงเวลาที่เฟดอาจต้องส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดปรากฏการณ์ “Janet Jittery” ในช่วงกลางปีนี้เหมือนกับ “Taper Tantrum” เมื่อเกือบ 2 ปีก่อนหรือไม่
สอง หากสังเกตให้ดี ในการประชุมเฟด 2 ครั้งหลัง มีนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นสมาชิกธนาคารกลางสหรัฐอยู่ท่านหนึ่งที่ค้านการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงกลางปีนี้ เขาคนนี้คือ ดร. นารายานา โคเชอร์ลาโคต้า ประธานเฟด สาขามินนีอาโพลิส ผู้เขียนให้น้ำหนักสมาชิกเฟดท่านนี้มากพอสมควร เนื่องจากเหตุผลที่สมาชิกเฟดท่านนี้ให้ไว้ดูน่าสนใจอยู่ 2 ประการ คือ หนึ่ง อัตราเงินเฟ้อที่เฟดมองว่ามีเสถียรภาพโดยเข้าใกล้อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ร้อยละ 2 นั้นแท้จริงแล้วยังมีความเสี่ยงอยู่ โดยให้ดูจากการที่อัตราเงินเฟ้อยังต่ำกว่าเป้าหมายเป็นเวลากว่า 30 เดือน การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำว่าเป้าหมายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และ การขาดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว
ถ้าให้ผู้เขียนอ่านใจของนายโคเชอร์ลาโคต้า ผมคิดว่าเขาน่าจะกังวลผลกระทบจาก QE ที่อาจจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อแบบจังๆ ในอนาคตอันใกล้ รวมถึงมองว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นเคยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วเกินไปจากการที่สมาชิกธนาคารกลางเริ่มเกิดอาการที่คิดเหมือนๆ กัน หรือ Group Think เป็นระยะเวลานานพอสมควร
คราวนี้ มาพิจารณาตลาดหุ้นและเศรษฐกิจที่ว่ากันว่าน่าจะแย่ที่สุดในปีนี้ ซึ่งก็คือ ยุโรป โดยช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นปี 2014 ข่าวร้ายเกี่ยวกับยุโรปออกมาอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขจีดีพีและอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง หรือ จะเป็นความไม่แน่นอนทางการเมืองของกรีซจนต้องจัดการเลือกตั้งช่วงปลายเดือนนี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาพของตลาดหุ้นยุโรปในปี 2015 ทว่า ยุโรปมีจุดแข็งที่หลายคนอาจให้ความสำคัญไม่มากอยู่ 2 ประการ ได้แก่
หนึ่ง ธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบียังสามารถอัดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอีกได้อย่างน้อยถึง 1.5 ล้านล้านยูโร ดังรูปที่ 1 ที่แสดงขนาดงบดุลของอีซีบี โดยวิธีการที่ถือว่าน่าจะได้ผลต่อเศรษฐกิจที่สุดอย่าง QE ที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลก็ยังมิได้นำมาใช้อีกต่างหาก เรียกได้ว่ามีอาวุธอยู่อีกเยอะและเป็นอาวุธที่หนักก็ยังไม่แกะกล่องนำมาใช้อีกต่างหาก
สอง ขนาดของเศรษฐกิจที่แท้จริงในยุโรปยังมีขนาดที่เล็กกว่าตอนปี 2008 ดังรูปที่ 2 ซึ่งถือว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของอีซีบีน่าจะกระตุกการเติบโตเศรษฐกิจที่มาจากฐานต่ำได้ง่ายกว่าของสหรัฐในบางมุมเสียอีก
คราวหน้า ผมจะขอมองมุมต่างของตลาดหุ้นโลกปี 2015 ในภูมิภาคที่เหลือครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.