สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศาลรธน-ชี้แก้ม-190ขัดรธน

ศาลรธน-ชี้แก้ม-190ขัดรธน

จาก โพสต์ทูเดย์

ศาลรธน.ชี้ แก้มาตรา 190 ขัดรธน. มาตรา 68 ใช้อำนาจมิชอบลิดรอนอำนาจการตรวจสอบ  ด้าน ปชป.เตรียมยื่น 2 หมื่นรายชื่อให้ป.ป.ช.จัดการ

เวลา 16.25 น. วันที่ 8 ม.ค. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยคดีคดีที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภา 381 คน ร่วมกันดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่จำกัดอำนาจรัฐสภาในการให้ความเห็นชอบการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศของฝ่ายบริหาร เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองและกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68  หรือไม่

นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คดีนี้มีประเด็นวินิจฉัย 2 ประเด็น 1.กระบวนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 2.การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหารัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเป็นการให้ได้อำนาจการปกครองโดยวิธีการที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ โดย คดีนี้ผู้ร้องใช้สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้

นายทวีเกียรติ กล่าวว่า กรณีที่ 1.ผู้ร้องอ้างว่ามีการปิดอภิปรายและการกำหนดวันแปรญัตติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วาระที่ 1 แม้วิป 3 ฝ่ายจะตกลงแบ่งเวลากันแล้ว แต่เมื่อการอภิปรายเดินมาโดยยังเหลือเวลาอีกกว่า 8 ชั่วโมง ก็มีผู้เสนอปิดอภิปรายเพื่อลงมติวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ และมีการเสนอให้กำหนดวันแปรญัตติเพียง 15 วัน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมองว่า หลักการประชาธิปไตย เสียงข้างมากต้องรับฟังเสียงข้างน้อย หากเสียงข้างมากทำอะไรไม่รับฟังเสียงข้างน้อย ก็เป็นเผด็จการรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่าเผด็จการเสียงข้างมาก และการรวบรัดปิดการอภิปราย การกำหนดวันแปรญัตติเพียง 15 วัน เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ให้กับเสียงข้างมากอย่างไม่เป็นธรรม  เป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่การลงมติเป็นรายวรรค ไม่ขัดกับข้อบังคับของสภาและขัดกับรัฐธรรมนูญ

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กรณีที่ 2.เนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เป็นบทบัญญัติที่มีความสำคัญ เพราะเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการทำสัญญาอื่นๆ ซึ่งทรงใช้อำนาจผ่านฝ่ายบริหาร ดั้งนั้น อำนาจในการทำหนังสือสัญญาจึงมีความสำคัญยิ่ง ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรม ดังนั้นการทำสัญญาใดๆ ครม.จะต้อเสนอกรอบเจรจาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน โดยจะต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นด้วย และต้องเปิดเผยรายละเอียดสัญญาให้ประชาชนตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการ

นายจรัญ กล่าวว่า การที่ผู้ถูกร้องแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มคำว่า “โดยชัดแจ้ง”ต่อท้ายหนังสือสัญญาเป็นการลิดรอนอำนาจในการตรวจสอบรัฐสภา ที่เป็นองค์กรใช้อำนาจนิติบัญญัติ และเพิ่มอำนาจคณะรัฐมนตรีมากขึ้น การกระทำดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการดุล คานอำนาจ ก่อให้เกิดอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับฝ่ายบริหาร

จากเหตุผลข้างต้น จึงวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมากว่า การพิจารณาและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และการที่ผู้ถูกร้องร่วมกันแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญอันเป็นการกระทำเพื่อให้บุคคลหรือคณะบุคคลได้อำนาจเพื่อการปกครองประเทศไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง

ด้าน นายวิรัตน์ กัลยาณศิริ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.190 ขัดและฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญว่า หลังศาลตัดสินออกมาเช่นนี้ส่งผลให้กฎหมายฉบับดังกล่าวตกไป ส่วนการดำเนินการขั้นต่อไปจะเข้าชื่อประชาชน 2 หมื่นชื่อยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน 


จี้นายกฯขอพระราชทานคืนร่างรธน.แก้ม.190

ปชป.แนะนายกฯเร่งถวายคำแนะนำขอพระราชทานคืนร่างรธน.แก้ม.190

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ว่า ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า ชี้ได้ชัดว่าพรรคเพื่อไทยทำผิดซ้ำซากทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายพฤติกรรมของรัฐบาลที่มีท่าทีที่จะไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยดูได้จากคำให้สัมภาษณ์ของนายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทยและทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทยที่จะไม่ยอมรับการตรวจสอบ ซึ่งการที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปล่อยให้บุคคลเหล่านี้ออกมาวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ เท่ากับไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นที่เรื่องที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องพิจาณาว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะกฎหมายนี้ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายไปแล้ว ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ควรถวายคำแนะนำขอพระราชทานคืนกฎหมายฉบับนี้โดยเร็วที่สุด หากไม่ดำเนินการเชื่อว่ากระแสต่อต้านจะมีมากขึ้น

ส่วนที่นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นคนกดบัตรในคลิปที่มีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งหมดเป็นบัตรของตนเอง 4-5 ใบนั้น คำชี้แจงนี้จะต้องจารึกในประวัติศาสตร์เพราะข้อเท็จจริงหากไม่มีบัตรจริงเจ้าหน้าที่ต้องทำบัตรสำรองให้ ซึ่งเป็นสีชมพูซึ่งเป็นเพียงใบเดียว การกระทำเช่นนี้ของผู้ที่เรียกว่า เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาวิกลจริต เป็นการดูถูกประชาชน เพราะบัตรสมาชิก 1 คนมีได้เพียง 1 ใบเท่านั้น จึงอยากให้ประชาชนดูคุณภาพของคนที่อาสาเข้ามาทำงานว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ศาลรธน ชี้แก้ม.190 ขัดรธน

view