การเตรียมการสำหรับ AEC 2015
โดย : กอบศักดิ์ ภูตระกูล
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
หนึ่งในสิ่งที่หลายคนอยากรู้อยู่เสมอมา ก็คือ “เราควรเตรียมการสำหรับ AEC อย่างไร”
ซึ่งในการที่จะตอบประเด็นนี้ เราต้องเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า “อุตสาหกรรมไหนจะได้รับผลกระทบบ้าง” และคิดต่อไปถึงแนวทางการปรับตัวที่เหมาะสม เพื่อรองรับการกับการแข่งขันภายใต้ AEC เพื่อให้เราได้รับประโยชน์สูงสุดจากโอกาสต่างๆ ที่กำลังเปิดตัวขึ้น
อุตสาหกรรมไหนบ้างที่จะถูกกระทบจาก AEC
สำนักวิจัยต่างๆ ตลอดจนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ทำการวิเคราะห์ในประเด็นนี้ไว้อย่างดีแล้ว หากจะสรุปง่ายๆ อุตสาหกรรมที่ไปได้ดีอยู่แล้ว เช่น เกษตร เกษตรอุตสาหกรรม อาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน ท่องเที่ยว บริการ ซึ่งต่างเป็นจุดแข็งของไทยก่อนการเปิดเสรี จะเป็นภาคส่วนที่ได้เปรียบมากยิ่งขึ้น
ถ้าเจาะลึกแยกเป็นรายสาขา ลงไปในรายละเอียดเพิ่มเติม ข้าว มันสำปะหลัง ยาง น้ำตาล อาหารสัตว์ ไก่ ปลาทูน่ากระป๋อง เครื่องใช้ไฟฟ้า (เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ) อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้าง ก่อสร้าง แฟชั่น ยานยนต์และชิ้นส่วน โรงแรม ท่องเที่ยว โรงพยาบาล บริการสุขภาพและความงาม เป็นสาขาที่น่าจะได้รับประโยชน์
ส่วนสาขาที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ชา กาแฟ มะพร้าว ไม้ตัดดอก มันฝรั่ง พริกไทย กระเทียม หัวหอมใหญ่ น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง โคนม/โคเนื้อ เหล็ก โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ การขนส่งทางอากาศ บริการ โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน รวมไปถึงภาคการเงิน
แล้วเราควรปรับตัวอย่างไร
ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์หรือได้รับผลกระทบ เราคงต้องพยายามหาสมดุลระหว่าง (1) การปรับตัวให้เข้ากับการแข่งขันที่จะรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งจะสร้างความท้าทายให้กับการดำเนินธุรกิจในช่วงต่อไป และ (2) การนำโอกาสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในทางการค้า โอกาสในทางการลงทุน โอกาสในทางการลดต้นทุน ทั้งในประเทศและในอาเซียน ที่จะเปิดขึ้น มาเอื้อต่อการทำธุรกิจของเราในช่วงต่อไป
ที่สำคัญที่สุด ต้องเข้าใจว่า การแข่งขันบนต้นทุนต่ำแต่เพียงอย่างเดียวนั้น จะทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
จากข้อมูลล่าสุด ถ้าลองเปรียบเทียบต้นทุนแรงงานของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจะพบว่า แม้ต้นทุนแรงงานไทยนั้น จะถูกกว่าที่สิงคโปร์และที่มาเลเซียพอสมควร โดยต้นทุนแรงงานต่อวัน ในสองประเทศนั้นอยู่ที่ 71 และ 20 ดอลลาร์ ตามลำดับ ขณะที่ต้นทุนของเราอยู่ที่ประมาณ 9 ดอลลาร์ ต้นทุนแรงงานของอินโดนีเซียถูกกว่าเราครึ่งหนึ่ง เวียดนามอยู่ที่ประมาณ 1/3 ของเรา เขมรอยู่ที่ประมาณ 1/5 และพม่ายิ่งต่ำกว่านั้น ซึ่งภายใต้กรอบการเปิดเสรีที่จะเอื้อให้ตลาดของอาเซียน 600 ล้านคนหลอมรวมเป็นตลาดเดียวกัน และเป็นฐานการผลิตเดียวกันนั้น การแข่งขันจากประเทศที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า ก็จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเวลาผ่านไป ยิ่งถ้าคู่แข่งเรามองเห็นลู่ทาง ฉกฉวยโอกาสย้ายฐานการผลิตเพื่อไปผลิตที่ประเทศที่ต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า แล้วส่งกลับมาแข่งกับเรา มากขึ้นเท่าไร เราก็จะอยู่ยากขึ้นเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ทางออกเราจึงมีไม่มาก ต้องคิดว่า เราจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขยายขนาดกิจการ ลดต้นทุน สร้าง Brand และนำเทคโนโลยีและ R&D ใหม่ๆ มาใช้ได้อย่างไร เพื่อให้เราแตกต่างจากคู่แข่ง และสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว
ส่วนการจะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร คิดประมาทเอาว่า “ประชาคมอาเซียนไม่น่าจะมีผลอะไรมาก เราไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร ก็ยังอยู่ได้” ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะโอกาสที่กำลังจะมาถึงรอบนี้ จากการผงาดขึ้นอีกรอบหนึ่งของอาเซียนในระบบเศรษฐกิจโลก (หลังจากเราต้องวนเวียนกันกับการเก็บกวาดปัญหาหลังจากวิกฤตปี 2540 มาเป็นเวลากว่า 17 ปีนั้น) จะเป็นโอกาสรอบสำคัญที่น่าสนใจที่สุดในรอบหลายๆ ปี ที่เราจะลงทุน ขยายกิจการ ยึดหัวหาด เปลี่ยนโอกาสที่เปิดขึ้นให้เป็นความได้เปรียบทางธุรกิจของเรา ซึ่งถ้าพลาดโอกาสนี้ไปก็จะน่าเสียดายอย่างยิ่ง
อย่างที่เคยวิเคราะห์ไว้ในบทความครั้งที่แล้ว โอกาสรอบนี้จะเปิดขึ้นทั้งในจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาคต่างๆ ภายในประเทศ รอบพื้นที่ชายแดน ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เขมร พม่า เวียดนาม (แม้เวียดนามกำลังมีปัญหาสถาบันการเงิน และหนี้เสียอยู่ แต่ระยะยาวก็ยังดีอยู่เช่นกัน) และในอาเซียนเอง โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย อีกทั้ง ญี่ปุ่น และ จีน ก็มีความสนใจอาเซียนเป็นอย่างยิ่ง กำลังเตรียมการที่จะย้ายฐานการผลิตเข้ามาที่ภูมิภาคเราเพิ่มเติม พร้อมทั้งได้สร้างเส้นทางเชื่อมต่อลงมาจากจีนเข้าสู่อาเซียนไปแล้วหลายสาย ส่วนสหรัฐและยุโรปก็กำลังคิดเรื่อง การเข้ามาลงทุนที่เราเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจของเขายังจะอ่อนแอไปอีกช่วงหนึ่ง
ทั้งหมดหมายความว่า ขณะที่อาเซียนกำลังจะเข้าเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียวกัน เราต้องปรับตัวใน 2 ส่วน โดย
1. มุ่งทำการค้ากับอาเซียนให้มากขึ้น ธุรกิจเอกชนไทยต้องพยายามคิดเรื่องการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านของเราให้มากขึ้น ในอดีต เราให้ความสำคัญกับตลาดสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น (ซึ่งเป็นตลาดหลักของการส่งออกไทย) แต่เศรษฐกิจอาเซียนกำลังโตในอัตราที่ดียิ่ง ผู้บริโภคของอาเซียนกำลังมีเงินมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด และพร้อมที่จะบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในปัจจุบัน ไทยส่งออกสินค้าไปยังอาเซียนคิดเป็นเกือบ 25% ของการส่งออกทั้งหมด ส่วนการค้าชายแดนของเราไปยังลาว เขมร พม่า เวียดนาม รวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 70% ของมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐ และขยายตัวได้ปีละ 20% (ขณะที่ส่งออกไปสหรัฐขยายตัวแค่ 2-3%) จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจยิ่ง
2. มุ่งลงทุนกับอาเซียนให้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาตามหลังเรา ซึ่งเราต้องเริ่มคิดตั้งแต่วันนี้ว่า จะผสมผสานความแตกต่างระหว่างเรา กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ แรงงานมาก ต้นทุนถูก เข้ากับความรู้ในการทำธุรกิจ knowhow ที่เรามี เทคโนโลยีที่เรานำสมัยกว่าเขาหลายปี รวมทั้งเงินทุนของเรา ให้เป็นโอกาสทางธุรกิจได้อย่างไร ทั้งในการผลิตสำหรับตลาดในประเทศเหล่านั้น ในการพัฒนา Supply chain ของเรา และในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเราในตลาดโลก
ซึ่งการตัดสินใจก้าวออกไปลงทุนและผลิตในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการทำธุรกิจของทุกคน หากทำได้ เราก็จะเปิดโอกาสทางธุรกิจแนวใหม่ให้กับตนเอง ที่จะสามารถขยายผลไปยังประเทศที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ต่อไป และทำให้เราเข้มแข็งยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งของเรา ส่วนคนที่กังวลใจ ไม่กล้าเดินออกไป ไม่ออกไปยึดหัวหาดเสียตั้งแต่ตอนนี้ ในขณะที่ประเทศเหล่านี้กำลังเปิด อ้าแขนรับนักลงทุนจากต่างชาติ อนุญาตให้ทำธุรกิจได้อย่างเสรี การไปในช่วงหลัง ก็จะไปได้ยากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ การไปลงทุนในต่างประเทศนั้น จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเรา เราต้องรู้จักตลาดที่จะเข้าไปให้ดี ต้องเข้าใจศักยภาพว่าเราจะแข่งได้หรือไม่ มีจุดแข็งพอหรือไม่ ต้องเข้าใจผู้ที่เราจะเข้าร่วมทุนด้วย เข้าใจท้องถิ่น ทั้งในเรื่องแรงงาน ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี กฎหมาย เข้าใจ Connection ต่างๆ และต้องมีความพร้อมด้านการเงิน
ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนในการปรับตัวรอบนี้ ขอให้ทุกคนเปิดใจรับโลกที่จะกำลังมาหาเรา ใช้ให้เป็นโอกาสในการทำธุรกิจ และใช้ AEC เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเรา อย่าตายใจ อย่าปิดกั้นตนเอง อย่าปล่อยโอกาสที่ดีเช่นนี้ผ่านไป ซึ่งถ้าเราทำได้เช่นนี้ ในจังหวะที่เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญครั้งนี้ของทุกคน ดอกผลที่จะได้ ก็จะยั่งยืนไปนาน
หมายเหตุ สนใจอ่านเพิ่มเติม หรือเสนอแนะได้ที่ “Blog ดร. กอบ” ที่ www.kobsak.com ครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน