จากประชาชาติธุรกิจ
หลังจากที่องค์การยูเนสโก ประกาศให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นแหล่งโอโซนชั้นเลิศที่ติดอันดับ 1 ใน 7 แห่งของโลกที่มีอากาศบริสุทธิ์ที่สุด เป็นเหตุให้ที่ดินบริเวณรอบ ๆ ผืนป่าแห่งนั้นอุดมไปด้วยรีสอร์ตและบ้านพักคนที่อยากมีบ้านบนเขาไว้ฟอกปอด แต่ไม่ได้จะหากันง่าย ๆ
ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลและเอกชน
หนึ่งในผู้หลงใหลธรรมชาติของเขาใหญ่ จึงได้ไปซื้อที่ดินริมสนามกอล์ฟคีรีมายา กอล์ฟ รีสอร์ท สปา เขาใหญ่ จำนวน 12 ไร่ มาปลูกสร้างบ้านเรือนไทย ขนาดไม่เล็กแต่ใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 1,000 ตารางวา ใช้เงินในก่อสร้างกว่า 20 ล้านบาท เพื่อสร้าง "บ้านขุนราม" แห่งเขาใหญ่
เรือนหลังนี้ ดร.โกร่งลงทุนคิดและออกแบบเองจากความชอบส่วนตัว ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปูชนียบุคคลสำคัญของไทย ที่มักจะใช้ชีวิตอยู่ใต้ถุนบ้าน
เรือนที่สร้างไว้ใหญ่โตนั่นหาใช่ที่หลับที่นอนของ ดร.โกร่ง เรือนท้ายบ้านหลังเล็กต่างหาก ที่ดร.วีรพงษ์เลือกเป็นที่พักผ่อนสูดโอโซน เรือนหลังน้อยทำจากเศษไม้ที่เหลือจากสร้างเรือนหลังใหญ่ ถูกนำมาสร้างบ้านลักษณะเหมือนกุฏิพระมากกว่าจะเป็นบ้านพักอดีตรองนายกรัฐมนตรี
ภายในเรือนหลังน้อยนั้นมีเพียงเสื่อผืนหมอนใบและมุ้งกันยุง แปลงกระติ๊บข้าวยักษ์เป็นที่เก็บเสื้อผ้า และมีเชี่ยนหมากพลูอยู่กลางบ้าน เพื่อฝึกเคี้ยวหมากแทนจุดไปป์สูบทำลายพื้นที่โอโซน
ดร.โกร่งกับเรือนที่ถูกเรียกกันเองว่า กุฎิน้อย
ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ดร.วีรพงษ์ได้เปิดบ้านขุนรามต้อนรับคณะผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ นอกจากนั้นยังได้โชว์ฝีมือการทำอาหารเมนูเด็ด แกงเนื้อรสเด็ด เคล็ดลับอยู่ที่เครื่องเทศ แกงหม้อเดียว ต้องใช้เครื่องเทศถึง 12 ชนิด ซึ่ง
เชฟโกร่งท่องได้ขึ้นใจว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง ก่อนจะลงไปเด็ดผักสวนครัวรั้วกินได้มาโชว์สเต็ปเทพผัดผักกวางตุ้งไฟลุก จนกองเชียร์ถอยกรูดกันเป็นแถว ส่วนรสชาติสมราคาคุย อร่อยจริง ๆ
จากนั้นหันมาตั้งวงสนทนากับ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจในประเทศไทย
ทั้งยุคเฟื่องฟูและยุคตกต่ำ เรียกว่า ดร.โกร่งได้ร่วมเผชิญมาเกือบทั้งหมด ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปี ในฐานะนักการเมือง
นักวิชาการและนักสังเกตการณ์ ผู้เคยทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีของไทยมากว่า 7 คน
ดร.วีรพงษ์เคยดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาล นายอานันท์
ปันยารชุน เป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นที่ปรึกษาของทีมเศรษฐกิจ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช และได้รับตำแหน่งจากคณะรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
และยังมีตำแหน่งสำคัญทางภาคเอกชนหลายตำแหน่ง เป็นประธานกรรมการ 8 บริษัท และกรรมการหรือที่ปรึกษาอีก
20 บริษัท นอกจากนี้ยังรับงานระหว่างประเทศ เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง สปป.ลาว อีกทั้งได้รับความไว้วางใจจากพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนให้ไปแสดงปาฐกถาถึงศูนย์กลางพรรคให้พูดเกี่ยวกับ "ความล้มเหลวของไอเอ็มเอฟในเมืองไทย"
ระหว่างที่สนทนามีเสียงหัวเราะอันเป็นเอกลักษณ์ของ ดร.โกร่ง แว่วดังกลบเสียงจิ้งหรีดเรไรรอบข้าง สร้างความสนุกสนานครื้นเครงตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ในวันที่ไม่มีตัวเลขจีดีพีเข้ามาเกี่ยวข้องในบทสนทนา
ดร.โกร่งเปรียบตัวเองเหมือนกับ "ตุ่มน้ำ"
"ผมเหมือนตุ่มน้ำที่วางอยู่ข้างทาง ใครกระหายจะตักดื่ม หรือเดินผ่านไปก็ได้ ผมซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของตัวเอง ผมอาจจะผิดก็ได้ แต่ผิดโดยสุจริต แต่โชคดี 30 กว่าปีมานี่ ยังไม่เคยผิดเลย นักวิชาการย่อมยินดี เมื่อมีคนมาใช้ และมีความสุข ที่ความคิดของตัวเองถูกนำไปใช้ และเกิดผลตามที่คาดหวัง ก็แค่นั้น ชีวิตนักวิชาการ และผมไม่เคยเสนอตัวกับพรรคไหน หรือเดินไปหาใครเลย"
ดูเหมือนว่าตุ่มใบนี้ได้รับความนิยมจากนายกรัฐมนตรีหลายคนเลือกตักน้ำจากตุ่ม แต่จะตักดื่ม หรือเททิ้ง ก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีแต่ละคนเลือกใช้
"ผมแฮปปี้ที่สุดในชีวิตการทำงาน คือการเสนอให้ลดค่าเงินบาท ในที่สุดก็ลดค่าเงินบาท ช่วยให้ประเทศไทยไม่เจ๊ง และทุกข์ที่สุด ก็คือเสนอบิ๊กจิ๋ว แต่บิ๊กจิ๋วไม่เอาด้วย แล้วบ้านเมืองก็พัง (หัวเราะ) ส่วนที่แฮปปี้รองลงมา คือการยกเลิกโควตาการส่งออก ทำให้ราคาข้าวกระโดดขึ้นทันที การได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรก ผมยอมรับว่าชอบ จากนั้นมาก็เฉย ๆ ซึ่งไม่ได้ปิดตัวเอง แต่ตอนนี้ผมเป็นประธานตั้งหลายบริษัท รายได้เยอะ อันนี้พูดกันตรงไปตรงมา (หัวเราะ) แต่อย่าพูดเลย"
อันที่จริงแล้ว หากนับกันจริง ๆ ดร.โกร่งมีความใกล้ชิดและสนิทสนมกับนายกรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่ง คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์
ปราโมช ที่เรียกให้หนุ่มนักเรียนนอก
ดีกรีด็อกเตอร์เข้าพบ และมีนัดกินข้าวกันทุกวันพุธ เป็นเวลา 3 ปี เพราะถูกอกถูกใจกับนิสัยใจคอ
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เคยบอกว่า "ดร.โกร่งรู้ไหม ผมเริ่มรักคุณตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมรักคุณ เพราะเวลาผมด่าคุณแล้วคุณเข้าใจ คุณเป็นคนไทยที่แท้จริง" (หัวเราะ)
ดร.โกร่งเล่าต่อว่า "ถ้าผมไม่ไปจะโดนด่า บอกคนให้ไปจิกหัวมันมา (หัวเราะ) สั่งคนให้มาบอกว่า กูทำกับข้าวไว้เต็มโต๊ะจะเลื่อนนัดกูได้ยังไง พร้อมกับบอกว่า อวดดี จากนั้นมาผมก็ไม่กล้าปฏิเสธอีกเลย"
ช่วงเวลานั้นเองที่ ดร.วีรพงษ์ได้เรียนรู้และศึกษานิสัยคนจากปูชนียบุคคลสำคัญของไทย
ก่อนจะมาเริ่มงานกับนายกรัฐมนตรีคนแรกพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือป๋าเปรม ผู้ที่ไว้ใจให้ ดร.โกร่งร่วมเข้ามาบริหารประเทศในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จนกระทั่งลดตัวเองลงมาเป็นรัฐมนตรีช่วย ขยับขึ้นมาเป็นรอง
นายกฯ และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ดร.โกร่งได้สะท้อนการทำงานร่วมกับนายกฯตั้งแต่คนแรกถึงคนปัจจุบันไว้ได้อย่างน่าสนใจ
"ป๋าเปรมเป็นนายกฯคนแรกที่ผมทำงานด้วย ท่านก็ใช้ข้าราชการ ทำตามระบบข้าราชการ แต่ก็เลือกคนทำงาน ส่วนน้าชาติ ตอนนั้นผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประทับใจวิธีบริหารของท่าน จะให้อำนาจผู้ที่รับผิดชอบเต็มที่ และมีคำคมให้เราคิดเสมอ
มีครั้งหนึ่งน้าชาติพูดว่า "อั๊วเป็นนายกฯ อั๊วเป็นนักการเมือง ต้องสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชน ลื้อมีหน้าที่ทางด้านการคลัง ต้องทำหน้าที่ หน้าที่ลื้อ ถ้าอั๊วพูดแล้วทุกอย่างลื้ออนุมัติให้หมด
อั๊วจะตั้งลื้อมาทำไม" ลึกมาก วิธีพูดของนายกฯชาติชายไม่ใช่เป็นโจ๊กนะ น้าชาติจะไม่บอกตรง ๆ เราต้องคิดตาม มาถึงสมัยท่านอานันท์ จะบริหารแบบราชการ แต่เป็นข้าราชการที่ก้าวหน้า อยู่ในระบบคล้าย ๆ ป๋าเปรม
ส่วนบิ๊กจิ๋วนี่เริ่มเละแล้ว เราตะโกนให้ลดค่าเงินบาทก็ไม่ยอมลด ท่านพูดทีไรเละทุกที ขนาดป๋าเปรมเรียกผมและบิ๊กจิ๋วเข้าไปพบ แต่บิ๊กจิ๋วบอกว่าได้ยินแล้ว ดร.โกร่งให้ลดค่าเงิน แต่ไม่เห็นมีใครเห็นด้วยเลย
ป๋าเปรมก็บอกว่า "จิ๋ว...โกร่งมันอยู่กับเรามาตั้งแต่หนุ่มจนแต่งงานมีลูกแล้ว มันยังไม่เคยผิดเลยนะ เพียงแต่บางอย่างเอากับมันไม่ได้ เพราะเอากับมันแล้วรัฐบาลจะล้ม ฟังมันบ้าง ถ้าเผื่อยังไง ให้มันเขียนมาก็ได้ ให้มันมาชี้แจง" บิ๊กจิ๋วก็บอก "ครับ" แล้วกลับไป
พออีกวันรุ่งขึ้น ป๋าเปรมโทร.มาถามผมว่า "จิ๋วโทร.มาหรือเปล่า" ผมก็บอกว่า "ไม่ได้โทร." ท่านก็บอกว่า "แย่แล้วประเทศไทย" แสดงว่าท่านเห็นด้วยกับผม แต่นายกฯไม่เห็นด้วยกับผม
สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ผมได้มาเป็นที่ปรึกษาตอนต้น ๆ แล้วก็ไป จนมาถึงนายกฯสมัคร ผมมาเป็นที่ปรึกษา ช่วงนั้นนายกฯแทบไม่มีเวลาไปคิดอะไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เพราะเสื้อเหลืองเสื้อแดงเต็มถนนไปหมด แทบไม่ได้ประชุม เรื่องเศรษฐกิจไม่ต้องพูดถึง เคยประชุม 2 ครั้ง ครั้งแรกรายงานตัว ครั้งที่ 2 ไม่ได้ทำอะไรเลย ประธาน (สมัคร) พูดอยู่คนเดียว
และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผมว่านายกฯยิ่งลักษณ์ได้เปรียบ เพราะอายุน้อย สามารถทำงานหนักได้ ไปโน่นมานี่ และเป็นนายกฯที่ทำการบ้านเหมือน
ป๋าเปรม ไม่เหมือนน้าชาติชายไม่อ่านเลย ให้บ้านพิษณุโลกอ่านให้อย่างเดียว (หัวเราะ)
ผมคิดว่ายิ่งลักษณ์เป็นนายกฯที่ดีคนหนึ่ง นโยบายเรื่องการพัฒนาประเทศในระยะยาวก็ถูกต้อง เงินก็มี ยิ่งสนุกเลย"
แม้จะทุลักทุเลในบางรัฐบาล เศรษฐกิจดีบ้างแย่บ้าง แต่ ดร.โกร่งก็ยืนยันว่า "นายกฯทุกคนดีกับผม และผมเข้าไปด้วยการเชื้อเชิญ"
ผ่านงานการเมืองไปแล้ว มาที่งานนอกประเทศกันบ้าง ดร.โกร่งถือว่าเป็นนักวิชาการที่ประเทศคอมมิวนิสต์ให้การยอมรับทั้งประเทศ จีนและประเทศเวียดนามไว้ใจให้นักวิชาการไทยคนนี้เข้าประเทศในฐานะนักวิชาการ ที่สามารถพูดได้ทุกเรื่อง
ส่วนประเทศที่ ดร.โกร่งมีบทบาทเข้าไปช่วยเหลือมากที่สุดก็คือ ส.ป.ป.ลาว ในช่วงที่เปลี่ยนจากคอมมิวนิสต์มาเป็นประเทศเสรี ต้องกู้เงินกับธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี ชื่อ ดร.วีรพงษ์เป็นตัวเลือกอันดับ 1 ที่เอดีบีเสนอให้ทางการลาวเรียกตัวไปทำเรื่องกู้ ซึ่งจะต้องรวบรวบตัวเลขจีดีพี ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศลาว
"ผมหิ้วพิมพ์ดีดกับรถประจำตำแหน่ง (จักรยาน LA) ปั่นสองล้อไปทำงานในกระทรวงวางแผนทุกวัน เพื่อวางเป้าหมายและทำให้เจ้าหน้าที่ลาวทำความรู้จักกับจีดีพี"
นับจากนั้นเป็นต้นมา ดร.วีรพงษ์คือนักวิชาการที่ทางการลาวนับถือมาก
เจ้าแขวงเกือบทั้งประเทศเป็นลูกศิษย์ ดร.โกร่ง และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน
ทั้งหมดคือชีวิตการทำงานที่ ดร.โกร่งบรรจุไว้ในเมโมรี่มาอย่างยาวนานนำมาเล่าสู่กันฟัง และทุกวันนี้ก็มีความสุขกับกิจกรรมโปรด คือการออกรอบตีกอล์ฟ ในวัย 70 ปี ได้นอนหลับพักผ่อนในพื้นที่โอโซนที่ลงทุนสร้างเองกับมือ เพราะกลัวจะตายก่อนได้ใช้เงิน
"แก่แล้ว มีเงินเดือนมากมาย จากการเป็นประธานที่ปรึกษาหลายบริษัท ก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช้ เวลาเราตาย ลูกก็เอาไปใช้หมด (หัวเราะ)"
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน