จาก โพสต์ทูเดย์
โดย....ทีมข่าวการเมือง
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ ประมาณพ.ศ.2556 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท วาระที่ 2และ3 วันแรก วันที่ 15 ส.ค.เป็นไปอย่างเข้มข้น เมื่อการอภิปรายของฝ่ายค้านได้เน้นตอกย้ำถึงความล้มเหลวในการบริหารราชการ แผ่นดินของรัฐบาล โดยเฉพาะการจำนำข้าว
ผ่องศรี ธาราภูมิ กรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า นโยบายการจำนำข้าวก็กำลังมีปัญหาโดยกมธ.พบว่าองค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) และกรมส่งเสริมสหกรณ์การเกษตร มีการของบประมาณเป็นค่าเช่าโกดังคลังสินค้าเป็นจำนวนมากเกินกว่าปริมาณข้าว ที่ประเทศไทยจะมี เช่น ถ้าเรามีข้าว10ล้านตันที่จะเข้าร่วมโครงการจำนำก็มีการของบประมาณเกินกว่า การรองรับปริมาณข้าว 10 ล้านตัน เป็นต้น
กรณ์ จาติกวนิช สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ว่า โครงการจำนำข้าวกำลังสร้างความเสียหายต่อประเทศในทุกระดับชั้นโดยเฉพาะเม็ด เงินงบประมาณที่ต้องใช้รัฐบาลต้องรับภาระขาดทุนและทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ จากการส่งออกข้าวถึง 1 แสนล้านบาท ถึงเวลาที่ต้องทบทวนโดยเร็ว น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ เกษตรกรไม่ได้รับรายได้อย่างที่ควรจะเป็น หลังจากมีนักวิชาการออกมาให้ข้อมูลและวิเคราะห์ว่าในทุกๆ100บาทที่รัฐบาลจัด สรรงบประมาณนั้นมีเม็ดเงินถึงมือเกษตรกร 30 บาทเท่านั้น
“คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเคยให้สัมภาษณ์เมื่อ18 ส.ค.2554ว่า "รัฐบาลจะทำให้ราคาข้าวไทยเพิ่มมากขึ้นและไม่มีการทุจริตในโครงการ" ปรากฏว่าผ่านมา1ปีวันที่ 10 ส.ค.2555 ท่านให้สัมภาษณ์ว่า “เชื่อว่าการทุจริตโครงการจำนำข้าวยังมีหลายจุดและที่ผ่านรัฐบาลไม่เคย บอกว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่มีการทุจริต"
นอกจากนี้ มีการเสนอให้กระทรวงพาณิชย์จัดสรรงบประมาณสำหรับข้าวในฤดูกาล 2555/2556 เพิ่มขึ้น 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้เป็นเม็ดเงินเท่ากับที่รัฐบาลใช้ในฤดูกาลที่ผ่านมาทั้งที่ต่าง ทราบดีว่าฤดูกาลเพาะปลูกข้าวที่ผ่านมามีผลผลิตต่ำเพราะเกิดปัญหาน้ำท่วม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้พยากรณ์ไว้ว่าข้าวในฤดูกาลนี้จะเพิ่มขึ้นอย่าง น้อย 4-5ล้านตัน ดังนั้น เม็ดเงินดังกล่าวไม่พอแน่นอน”
อดีตรมว.คลังรายนี้ ย้ำว่า รองนายกฯเคยให้สัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งเมื่อ 6 ต.ค.2554ว่า “ถ้ารัฐบาลทำโครงการรับจำนำข้าวแล้วทำให้รัฐเสียหายมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณสำหรับการประกันรายได้เกษตรของรัฐบาลในอดีต รัฐบาลพรรคเพื่อไทยคงอยู่ไม่ได้ ไม่ต้องคำถามเลยว่าในฐานะรองนายกฯเศรษฐกิจจะรับผิดชอบอย่างไร” นี่คือสิ่งที่พูดเอาไว้ วันนี้รัฐบาลขาดทุนไปแล้ว1แสนล้านบาท แต่ส่วนตัวขอร้องว่าอย่าลาออกแต่ขอให้ทบทวนนโยบายก็พอ
เกียรติ สิทธิอมร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายเสริมในการบริหารโครงการรับจำนำข้าวว่า ขณะนี้เราถูกประจานจากทั่วโลก นิตยสาร economist ระบุว่านโยบายสร้างปัญหาให้เกษตรกรและรัฐบาลเสี่ยงขาดทุนสูงในการขายข้าว ด้านรอยเตอร์บอกว่านโยบายจำนำข้าวต้องใช้เงินสูงถึง 6 แสนล้านบาทและจะขายข้าวได้ยาก เพราะมีคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนาม
"ทั้งนี้เป้าหมายของรัฐบาลคือ 1.5 -2 หมื่นบาท แต่ตัวเลขของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย.55 ระบุว่า ค่าข้าวเปลือกเจ้าชาวนาได้ราคาตั้งแต่ 9,600 บาท –10,467 บาท ดังนั้นอยากถามว่าส่วนต่างประมาณ 5 พันบาทไปอยู่ในกระเป๋าใคร" เกียรติ ตั้งข้อสังเกต
"ที่สำคัญยังเสี่ยงต่อการขัดกติกาขององค์การค้าโลก (WTO) เพราะนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พูดเองว่าไทยมีสิทธิใช้งบประมาณจำนำไม่เกิน 1.9 หมื่นล้านบาทจากการลงนามตั้งแต่ปี 2537 กับ WTO แต่เมื่อคำนวณจากค่าผลผลิตข้าวเปลือกของประเทศไทยทั้งประเทศ 33 ล้านตันขาดทุนไปแล้ว1.5 แสนล้านบาทต่อปี จึงอยากบอกรองนายกฯกิตติรัตน์ว่าข้าวไม่ใช่หุ้น หากเก็บไว้นานจะยิ่งเสื่อม ทั้งยังเสียค่าเก็บรักษาข้าว จ่ายค่าดอกเบี้ย โกดัง ไซโล เสียเป็นเงิน 4.1 หมื่นกว่าล้านบาท"
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม สส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ นำเสนอว่า ขณะนี้มีการทุจริตมี 3 รูปแบบ คือ
1.ทุจริตความชื้น ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการกำกับติดตามโครงการจำนำข้าวที่มีบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์เป็นประธาน มีมติชัดเจนเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ปี 54 กำหนดว่าถ้าความชื้นสูงเกินไป ให้คิดความชื้นสูงสุดเพียง 30% แต่ชาวนาหลายรายถูกโกงความชื้นที่ตัวเลข 34-37%
2.ทุจริตตาชั่ง เมื่อชั่งน้ำหนักได้ 10 ตัน แต่เมื่อลงข้อมูลน้ำหนักเบื้องต้นในใบประทวน กลับเขียนตาชั่งเริ่มต้นที่ 8 ตัน และ
3.ทุจริตสิ่งเจือปน โดยมีการอ้างว่าข้าวที่เข้าโครงการมีสิ่งเจือปนเพื่อกดราคาให้กับชาวนา ดังนั้น รัฐบาลควรรื้อใบประทวนให้หมด คืนความเป็นธรรมให้ชาวนา
"โครงการนี้มีการเปิดเสรีทุจริต เห็นได้จากการที่นักวิชาการได้ชี้ว่าข้าวนอกระบบมาเข้าโครงการจำนำเกินกว่า ที่ผลิตได้ถึง 3 ล้านตัน เช่น ร้อยเอ็ด 176% จ.มหาสารคาม 112% จ.กำแพงเพชร 223% จ.เชียงใหม่ 185% เป็นต้น ผมกับเพื่อน สส.ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าทุกโรงสีโกงได้อย่างเสรี เพราะวงจรปิดเจ๊งหมด จอดำ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ตั้งเจ้าหน้าที่ 1 คนคุม 8 โรงสี เวลาไปเซ็นชื่อโรงสีนั้น อีก 7 โรงสีเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ เขาให้เซ็นอะไรก็เซ็น มันจึงเกิดการโกงเสรีภายใต้โครงการจำนำข้าว"น.พ.วรงค์กล่าว
เป็นที่น่าสังเกตว่าการชี้แจงกมธ.ในซีกของรัฐบาลทั้งในส่วนของคณะ รัฐมนตรีไม่ได้ตอบข้อสงสัยของฝ่ายค้านในเชิงรายละเอียดของโครงการจำนำข้าว มากนัก มีเพียงสส.ของพรรคเพื่อไทยในฐานะกมธ.ที่ลุกขึ้นอภิปรายชี้แจงในภาพรวมทั่วๆ ไปแทนเท่านั้น
อาทิ นิยม ช่างพินิจ สส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย ยอบรับว่า "ในการบริหารนโยบายสาธารณะขนาดใหญ่จะต้องมีปัญหาการทุจริตบ้างแต่รัฐบาลไม่ได้ปล่อยปะละเลย"
ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ระบุว่า "กมธ.ได้กำชับกระทรวงพาณิชย์ และอคส.เคร่งครัดไม่ให้เกิดการทุจริตและหากฝ่ายค้านมีข้อมูลให้ส่งมาที่ร.ต. อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีได้เพราะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการตรวจสอบการรับจำนำข้าว"
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน