สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ราคายางพารา...ผันผวน ! สะเทือนยอดขายสินค้า-ผ่อนรถ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย รัตนา จีนกลาง


ในช่วง 4-5 เดือนนี้ สำรวจดูราคาพืชผลเกษตรของไทย แทบทุกตัวล้วนเผชิญปัญหาราคาผันผวนทั้งสิ้น


ไล่ เรียงตั้งแต่ "ลิ้นจี่" ซึ่งมีแหล่งผลิตหลักอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ปีนี้ราคาผลผลิตที่เกษตรกรขายได้เหลือเพียง 5-10 บาทเท่านั้น ต่างจากปีที่แล้วที่ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 50-80 บาท

เมื่อ สัปดาห์ก่อนมีโอกาสตะลุยขึ้นดอยไปดูสวนลิ้นจี่ที่ปลูกอยู่บนยอดดอยขุนช่าง เคี่ยน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกับแหล่งปลูกต้นพญาเสือโคร่ง ที่ออกดอกสวยงามสะพรั่งในช่วงเดือน ม.ค.ทุกปี จนได้ฉายาว่าเป็นซากุระญี่ปุ่น

วันนี้ดอยขุนช่างเคี่ยน เป็นแหล่งปลูกลิ้นจี่ 3 สายพันธุ์คือ พันธุ์ฮงฮวย พันธุ์โอวเฮียะ ทั้ง 2 พันธุ์นี้ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนพันธุ์จักรพรรดิจะให้ผลผลิตช่วงเดือน มิ.ย.นี้ ชาวสวนบอกว่า ปีนี้ผลผลิตลิ้นจี่ออกมาเยอะกว่าปี 2554 ราคาจึงตกต่ำลง แถมยังได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาล เพราะแรงงานเก็บลิ้นจี่ก็เรียกร้องค่าแรงวันละ 300 บาทเช่นกัน เรียกว่าต้นทุนก็พุ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว

ขณะที่ผลไม้ในภาคตะวันออก ทุเรียนให้ผลผลิตลดลงเพราะสภาพอากาศแปรปรวน ราคาจึงไม่น่าห่วง แต่ราคาเงาะก็ยังตกต่ำเหมือนเดิม ส่วนราคาสับปะรดก็ผันผวนเช่นกัน

นอก จากนี้ พืชอีกตัวที่มีราคาต่ำมากทั้ง ๆ ที่สถานการณ์เมื่อ 2 ปีก่อนราคาเคยพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยตั้งแต่ต้นปีนี้ราคามะพร้าวผลแก่ตกลงจาก 15-18 บาท เหลือเพียงผลละ 5-10 บาทเท่านั้น

ขึ้นอยู่กับขนาดของผลมะพร้าว แถมผู้ปลูกยังเจอปัญหาใหม่อีกเมื่อผู้ประกอบการแปรรูปหันไปนำเข้ามะพร้าวจาก อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งมีราคาถูกกว่ามะพร้าวไทย และได้สิทธิอาฟต้า

ปัจจุบัน แหล่งปลูกมะพร้าวอยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ชาวสวนมะพร้าวนั่งกุมขมับไม่รู้จะทำอย่างไร หลายรายเริ่มโค่นทิ้งแล้วหันไปปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา หรือขายที่ดินให้นายทุนไปทำรีสอร์ต

ชาวสวนมะพร้าวที่สุราษฎร์ธานี บอกว่า เกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวมีไม่เยอะเหมือนกับพืชตัวอื่น จึงไม่มีการรวมตัวกันเพื่อออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยดูแล หรือเรียกได้ว่ามะพร้าวไม่ใช่พืชการเมือง และยังเป็นห่วงกันว่าอนาคตมะพร้าวไทยอาจสูญพันธุ์ได้เพราะมีการปลูกเพิ่ม น้อยมาก ขณะที่มะพร้าวนอกกำลังเข้ามาทดแทน ถ้ามองในมุม "ความมั่นคงทางอาหาร" ก็น่าเป็นห่วงมากเช่นกัน

ขณะที่พืชเศรษฐกิจ ส่งออกที่กำลังคุกรุ่นในเวลานี้ก็คือ "ยางพารา" เพราะราคาผันผวนมาก แม้ว่าจะมีโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา หรือโครงการ 15,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันเกษตรกรสามารถนำยางเข้ามาขายในโครงการกับองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) โดย อ.ส.ย.เริ่มเปิดรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคลไปแล้วตั้งแต่ เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยรับซื้อในราคานำตลาดประมาณ 115 บาท/กก.

แต่ สถานการณ์ราคายางก็ยังผันผวนไม่กระเตื้องขึ้นเท่าที่ควร เพราะพ่อค้ารายใหญ่หรือบรรดานักเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าอ่านเกมรัฐบาล ออกหมดแล้ว

"ในเดือนมิถุนายนนี้ราคายางแผ่นดิบจะมีราคากิโลกรัมละ 120 บาทอย่างแน่นอน ปัจจัยสนับสนุนคือเป็นช่วงฤดูมรสุมของอินโดนีเซีย กรีดยางลำบาก มาเลเซียก็เน้นการโค่นยางแก่"

นั่นคือความมั่นใจของ นายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผู้อำนวยการองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ที่ให้ความหวังแก่เกษตรกรชาวสวนยาง

สถานการณ์ ราคายางยังต้องจับตาใกล้ชิด เพราะตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป ภาคเหนือ อีสานจะเปิดกรีดยางในพื้นที่ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีก ผนวกกับผลผลิตยางในภาคใต้และตะวันออกที่จะประดังออกมาพร้อม ๆ กัน

ฉะนั้นปริมาณน้ำยางหรือซัพพลายยางในตลาดจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว แต่ดีมานด์ไม่ได้เพิ่มขึ้น ราคาก็จะตกต่ำลงได้

แต่ ที่แน่ ๆ หากราคาต่ำกว่า 100 บาท/กก. เกษตรกรชาวสวนยางก็นั่งไม่ติดแล้ว ตอนนี้เริ่มมีเสียงโอดโอยว่าจะมีเงินส่งงวดรถหรือไม่ จะมีเงินส่งค่าเทอมลูกหรือไม่ เพราะราคายางไม่ดีขึ้นเลย

ฉะนั้นคน ที่ต้องนั่งลุ้นราคายาง นอกจากชาวสวนยางหรือพ่อค้ารายย่อยแล้ว บรรดาดีลเลอร์รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ โทรศัพท์มือถือ ร้านวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในต่างจังหวัดก็ต้องลุ้นตัว โก่งเช่นกัน เพราะยอดขายสินค้าเหล่านี้ขึ้นอยู่กับราคายาง ถ้าราคายางดีก็หายห่วง กำลังซื้อมา การจับจ่ายสะพัด

แต่วันนี้ก็ยังไม่เห็นสัญญาณบวกว่าจะดันราคายางให้ขึ้นไปยืนที่ระดับ 120 บาท/กก. ตามที่รัฐบาลขายฝันไว้

นี่คือสภาพของประเทศผู้ผลิต และส่งออกยางพารามากอันดับหนึ่งของโลก


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ราคายางพารา...ผันผวน สะเทือนยอดขายสินค้า ผ่อนรถ

view