จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ทนงศักดิ์ หมื่นหนู
เรื่องแป๊ะเจี๊ยะเป็นปัญหาสุดคลาสสิกของวงการการศึกษาไทยมายาวนาน เนื่องจากระบบการศึกษาของบ้านเรามันล้มเหลวแบบฝังรากลึก
การเก็บเงินแป๊ะเจี๊ยะเพื่อเข้าเรียนไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มันมีการบ่มเพาะกันมารุ่นต่อรุ่นจนกลายเป็นค่านิยมของสังคมไทยไปแล้ว
ถ้าเลือกได้ คงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะ เพราะนั่นคือจำนวนเงินที่พ่อแม่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นไปจากต้นทุนการศึกษาที่แท้จริง แต่เพื่อแลกกับการได้เข้าไปเรียนในโรงเรียนชื่อดัง...ที่มีสภาพแวดล้อม และสังคมดี ระบบการเรียนการสอนมีคุณภาพ มีสถิติเด็กนักเรียนเรียนดีสูง ตลอดจนครูอาจารย์ดูแลเอาใจใส่นักเรียน แค่นี้ก็เพียงพอที่พ่อแม่หลายคนที่พอมีกำลัง ยอมจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะก้อนโตเพื่อแลกกับอนาคตของลูก
แต่ในทางกลับกันถ้าเป็นพ่อแม่ที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะได้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการตัดโอกาสเด็กนักเรียนเหล่านี้ไม่ให้ได้รับการศึกษาที่ดีอย่างเท่าเทียม ทั้งที่ในบางครั้งพวกเขาควรได้รับสิทธิเหมือนกับเด็กที่จ่ายแป๊ะเจี๊ยะได้รับนั่นเอง เช่นเดียวกันกับกรณีที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนบดินทรเดชาจำนวน 5 คน ที่อดข้าวประท้วงอยู่ที่บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ได้เรียนต่อชั้นม.4 หลังโรงเรียนไม่รับเข้าเนื่องจากทั้งหมดได้เกรดต่ำกว่าเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด ซึ่งล่าสุดก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติง่ายๆ
จนกระทั่ง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พยายามที่จะแก้ปัญหา โดยที่ประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่มัธยมทั่วประเทศ เมื่อวานนี้ (21 พ.ค.) ได้เสนอ 3 ทางออก คือ 1.ทำแผนพัฒนาโรงเรียนคู่พัฒนาให้เป็นเนื้อเดียวกับโรงเรียนดัง โดยจะมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ บุคลากรจะเป็นของโรงเรียนหลัก และมีการหมุนเวียนให้นักเรียนไปเรียนในโรงเรียนหลักด้วย 2.ตั้งโรงเรียนสาขาของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงขึ้น เหมือนโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ สุวรรณภูมิ ที่เป็นโรงเรียนสาขาของโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ และ 3.กรณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดและค่านิยมของผู้ปกครองนักเรียนได้ คงต้องมองดูว่ามีโอกาสความเป็นไปได้หรือไม่ ในการให้นักเรียนได้เรียนที่เดิม เพราะถ้ายอมเพิ่มจำนวนนักเรียนเข้าไปคงต้องมีคำตอบเรื่องคุณภาพด้วย ซึ่งจะเสนอให้รมว.ศธ.เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกทางออกไหนในวันที่ 22 พ.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมาดูที่นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งพยายามสร้างความโปร่งใสในระบบการเรียกเก็บเงินแป๊ะเจี๊ยะ ให้เปลี่ยนมาใช้คำว่าเงินบริจาค ก็ไม่ได้ทำให้ความหมายในความรู้สึกของสังคมกับคำว่าแป๊ะเจี๊ยะเปลี่ยนไปจากเดิมเท่าไรนัก เพราะปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ค่าแป๊ะเจี๊ยะ แต่มันอยู่ที่ระบบการรับเข้าเด็กนักเรียนที่ไม่ชัดเจน มีช่องโหว่ทำให้เกิดการฝากเด็กได้ แม้ว่าการคัดกรองเด็กเข้าเรียนสามารถทำได้หลายรูปแบบต่างกันได้ แต่ก็ควรที่จะมีระบบตรวจสอบในทุกๆ รูปแบบที่เหมาะสมควบคู่ไปด้วย
จะว่าไปแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนชื่อดังที่มีระบบการเก็บค่าแป๊ะเจี๊ยะ พบว่าโรงเรียนเกรดบีเกรดซีมีการเรียกเก็บแป๊ะเจี๊ยะกันแล้ว แต่อาจจะไม่หวือหวาเท่าโรงเรียนดัง ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีวิธีเรียกเก็บเงินแตกต่างกันออกไป ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการการันตีที่นั่งให้กับเด็ก
สำหรับกรณีของเด็กโรงเรียนบดินทร์ฯ คงเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาจากหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้นเท่านั้น และจะยังเกิดขึ้นอีกต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่กระทรวงศึกษายังไม่ลงไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจริงๆ โดยอย่ามองแต่เม็ดเงินที่จะเข้าโรงเรียน จนละเลยอนาคตของเด็ก ที่พวกเขายังต้องการโอกาสทางการศึกษาที่ดี อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน