จากประชาชาติธุรกิจ
การนำเข้าน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์(RBD Palm Oil) ลอตแรกจำนวน 10,000 ตัน จากทั้งหมด 40,000 ตัน ได้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาเมื่อได้รับการคัดค้านจากผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ในนามสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย กับสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย ในข้อที่ว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนน้ำมันปาล์มดิบ แต่กลับมีสต๊อกน้ำมันปาล์มเหลือเพียงพอต่อการบริโภค
เพียงแต่ว่าน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศมีราคาแพงเกินกว่าที่โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์จะซื้อมาผลิตเป็นน้ำมันปาล์มขวด(ขนาด1 ลิตร) จำหน่ายในราคาขวดละ 42 บาท ซึ่งเป็นราคาควบคุมของกรมการค้าภายในได้
จากสถิติราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2554 ปรากฏว่าราคาผลปาล์มทะลายภายในประเทศได้ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ 5.13 บาท/กก.ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน
ต่อเนื่องมาถึงเดือนมีนาคม 2555 ที่ผลปาล์มทะลายมีราคาสูงสุดถึง กก.ละ 6.17 บาท ซึ่งสอดคล้องกับราคาน้ำมันปาล์มดิบของโรงสกัดน้ำมันปาล์มที่แจ้งราคาน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้นจากระดับ 28.14 บาท/กก.ในเดือนตุลาคมและขึ้นไปสูงสุดอยู่ที่ราคา 35-36 บาท/กก.ในเดือนมีนาคม 2555 เช่นกัน
โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบได้อธิบายราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเหตุผล 2 ประการคือ 1) เป็นช่วงปลายฤดูผลผลิตปาล์มปี 2554/55 ผลปาล์มออกสู่ตลาดน้อยลง กับ
2) ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอดและมีแนวโน้มระดับราคาที่สูงขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2555 (ราคา FCPO ตลอดปี 2555 จะไม่ต่ำกว่า 3,380 RM)
ราคาตลาดโลกที่สูงขึ้นทำให้ทั้ง โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบกับโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ มีทางเลือกในการส่งออกน้ำมันปาล์มออกไปต่างประเทศ ผลดีก็คือราคาผลปาล์มทะลายของเกษตรกรสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงคือ อยู่ระหว่าง กก.ละ 5-6 บาท แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นก็คือ ราคาขายปลีกน้ำมันปาล์มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตรไม่สามารถปรับขึ้นราคาจำหน่ายตามต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบ ที่สูงขึ้นได้ เนื่องจากถูกกรมการค้าภายในควบคุมราคาขายปลีกสูงสุดไว้ไม่ให้จำหน่ายเกินขวดละ 42 บาท
ทว่า ในความเป็นจริงหากโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบในราคา กก.ละ 35-36 บาท (ผลปาล์มทะลายเกษตรกร กก.ละ 6 บาท)
โรงกลั่นน้ำมันปาล์มจะต้องจำหน่ายปลีกน้ำมันปาล์มบรรจุขวดในราคาขวด ละ 47-48 บาท แต่กรมการค้าภายในกลับไม่ยอมให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ปรับขึ้นราคา จำหน่ายตามต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบที่สูงขึ้น(นับเป็นความประหลาดที่เลือกจะคุม ราคาจำหน่ายสูงสุดเฉพาะปาล์มบรรจุขวดแต่ไม่ยอมคุมราคาจำหน่าย
น้ำมันปาล์มบรรจุปี๊บและน้ำมันปาล์มเพื่ออุตสาหกรรม ส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เลือกที่จะไม่ผลิตน้ำมันปาล์มขวด แต่หันไปผลิตน้ำมันปาล์มปี๊บส่งขายอุตสาหกรรมด้วยการปรับขึ้นราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้นได้)
จนกลายเป็น "ความพิกลพิการ" ของโครงสร้างราคาน้ำมันปาล์มภายในประเทศที่ว่า
ด้านหนึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์อยากให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มขายผลปาล์มทะลายได้ในราคาสูงแต่อีกด้านหนึ่งกลับ"กดราคา" จำหน่ายปลีกน้ำมันปาล์มขวดให้ถูกลงเพื่อไม่ให้กระทบกับ
ค่าครองชีพของประชาชน ก่อให้เกิดความผิดเพี้ยนของโครงสร้างพืชน้ำมันไปทั้งระบบ โดยกรมการค้าภายในเองดูเหมือนจะไม่ยอมรับรู้ความผิดปกติที่เกิดขึ้นแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อเนื่องกันไปทุกๆปี
วิธีคิดที่ไม่ยอมให้มีการปรับขึ้นราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้กรมการค้าภายในตัดสินใจนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ นัยว่าเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศที่มีราคาแพง หรือเกิดความพยายามที่จะ "ดัดหลัง" โรงสกัดน้ำมันปาล์ม
แต่การดัดหลังดังกล่าวกลับเป็นตัวฟ้องวิธิคิดที่ผิดพลาดและไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริงจากเหตุผลดังต่อไปนี้
1)พื้นฐานน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศไม่ขาดแคลนตัวเลขการแจ้งสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบต้นปีในเดือนมกราคม 2555 สูงถึง 263,465 ตัน (ตามแจ้ง กกร.) ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ผลปาล์มฤดูกาลใหม่เริ่มออกสู่ตลาด ประมาณการสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบน่าจะเหลืออยู่ถึง 177,170 ตัน และขึ้นสู่ระดับ 208,439 ตันในเดือนมิถุนายน
2) ราคาน้ำมันปาล์ม RBD หรือน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ มีราคาใกล้เคียงกับราคาน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศที่ขายโดยโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบกล่าวคือ ราคาที่อินโดนีเซียซึ่งถือเป็นราคาที่ถูกที่สุดในขณะนี้อยู่ในระดับ กก.ละ 34-35 บาท ในขณะที่โรงสกัดน้ำมันปาล์มขายในราคาเฉลี่ยเดือนเมษายนอยู่ที่ กก.ละ 35.94 บาท (น้ำมันดิบ (A) สกัดแยก)
คำถามที่กรมการค้าภายในจะต้องตอบต่อสาธารณชนก็คือ จะนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบเข้ามาทำไม ? ในเมื่อสต๊อกภายในประเทศไม่ขาดแคลน ส่วนข้ออ้างที่ว่าระดับ safety stock จะต้องอยู่ที่ 200,000 ตันนั้นเป็นประมาณการสต๊อกคงที่ (ไม่มีการหมุนเวียน) ที่สูงเกินไป หรือไม่ (แตกต่างจากปี 2554 ที่สต๊อกต้นปีเหลือต่ำกว่า 70,000 ตัน) ประกอบกับเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนระดับสต๊อกภายในประเทศมีแต่จะเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว
และหาก "จำเป็น" ที่กรมการค้าภายในจะต้องจัดหาน้ำมันปาล์มดิบในราคาถูก (ไม่เกิน 30 บาท/กก.) เพื่อให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขายน้ำมันปาล์มขวดที่ราคาไม่เกิน 42 บาทแล้ว ทำไมไม่ซื้อน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศ แต่กลับเลือกที่จะนำเข้าจากต่างประเทศโดยที่ตัวเองเป็นฝ่ายแบกรับ "ส่วนต่าง" ราคาที่ขาดทุนไว้ถึง กก.ละ 4-5 บาท และปล่อยส่วนต่าง
ดังกล่าวให้โปรกเกอร์ขายน้ำมันปาล์มต่างประเทศไปเสียอย่างนั้น
จะทำไปทำไม?
ข้อพิรุธนำเข้าน้ำมันปาล์ม
1) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ส่วนราชการ/ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร-สมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มประเทศไทย-สมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกรมการค้าภายในในการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศ ประกอบกับที่ประชุม กนป.เองก็มีความเห็นว่า "การนำเข้าน้ำมันปาล์มจะส่งผลกระทบต่อราคาผลปาล์มในประเทศ"
ทำไมกรมการค้าภายในถึงอ้าง "ผู้แทนเกษตรกรรายย่อยหลายราย" ซึ่งไม่รู้ว่าคือ "ใคร" ออกมาสนับสนุนให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มลอตนี้
2) ครม.มีมติให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มจำนวน 40,000 ตัน เนื่องจาก อคส.ได้รับการ "ยกเว้น" ภาษีนำเข้าภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) แต่ อคส.กลับแจ้งว่าผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มลอตนี้ (10,000 ตันแรก) คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประเด็นก็คือ ปตท.ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าหรือไม่
3) ไม่มีการเปิดประมูลซื้อน้ำมันปาล์มดิบลอตนี้ ซึ่งต่างจากการนำเข้าน้ำมันปาล์ดิบ 2 ครั้งที่ผ่านมา และไม่ยอมเปิดเผยราคานำเข้า ไม่มีความโปร่งใสในการได้มาซึ่งน้ำมันปาล์มดิบ
4) น้ำมันปาล์มลอตนี้นำเข้ามาเมื่อไร เมื่อเทอมการส่งมอบให้โรงกลั่นกลับเป็นการส่งมอบโดยเรือเล็ก เดินเรือในอ่าวไทย หรือ ปตท./อคส.ยอมรับภาระแม้กระทั่งค่าขนส่ง
5) ใครเป็นผู้รับภาระ "ส่วนต่าง" ระหว่างราคานำเข้ากับราคาจำหน่ายให้กับสมาชิกสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ระหว่างรัฐบาล-องค์การคลังสินค้า หรือบริษัท ปตท. และหาก ปตท.เป็นผู้รับภาระจะตอบคำถามผู้ถือหุ้น บมจ.ได้อย่างไร
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน