อ่านตลาดเกิดใหม่360องศาผ่านสายตาสุดยอดกูรู'โมเบียส'
โดย : อุไรวรรณ ภู่วิจิตรสุทิน
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ตลาดเกิดใหม่ทำไมถึงเนื้อหอม Fundamentals นำเสนอกันอีกรอบผ่านสายตากูรูระดับโลกอย่างมาร์ค โมเบียส
ปีนี้วิกฤติหนี้รัฐยุโรปดูจะจบยาก สหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างเชื่องช้า ยิ่งทำให้ตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกรวมไทย ยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักลงทุน
ต้นเดือนเม.ย. ปีนี้ "มาร์ค โมเบียส" กูรูผู้รู้จริงพัฒนาการตลาดเกิดใหม่ เดินทางมาเยือนไทยตามคำเชิญของบลจ.กรุงศรี เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ข้อมูลแบบรอบด้านสำหรับข้อสงสัยที่ว่าหุ้นตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะละตินอเมริกา เหตุใดจึงมีเสน่ห์ดึงดูดเงินทุนจากทุกมุมโลกไหลเข้าต่อเนื่อง
Fundamentals ได้มีโอกาสรับฟังสุดยอดกูรูผู้นี้จึงขอเก็บตกรายละเอียดทุกมุมมองเกี่ยวกับพัฒนาการกับอนาคตสดใสของตลาดเกิดใหม่ มานำเสนอนักลงทุนไทยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นเหมือนคู่มือช่วยหาจังหวะช่องทางทำรีเทิร์นดีจากตลาดเหล่านี้ในระยะยาว
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
0 ย้อนดูรีเทิร์นโดดเด่น
ด้วยประสบการณ์การศึกษาพัฒนาการตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกอย่างถ่องแท้มานานหลายสิบปี จนผู้คนยกให้ มาร์ค โมเบียส ประธานบริหารเทมเพิลตัน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตส์ เป็นสุดยอดกูรูตลาดเกิดใหม่ และการมาเยือนไทยครั้งล่าสุดนี้เขามีข้อมูลสถิติตัวเลขเศรษฐกิจมากมายเกี่ยวกับตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกมาฝาก
โมเบียสหยิบยกพัฒนาการเฉพาะตลาดหุ้นเกิดใหม่ เปรียบเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นทั่วโลก ทั้งในระยะ 5 ปี และตลอดทศวรรษที่ผ่านมา พิจารณาจากกราฟดัชนีเอ็มเอสซีของมอร์แกน สแตนเลย์ พบว่าดัชนีเอ็มเอสซีไอตลาดหุ้นเกิดใหม่ ไม่ว่าอยู่ในช่วงเกิดวิกฤติการเงินโลกปี 2551-2552 และวิกฤติหนี้รัฐในยุโรปตั้งแต่ต้นปี 2554 และยืดเยื้อถึงต้นปีนี้ หรือในช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้นช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดัชนีเอ็มเอสซีไอสะท้อนให้เห็นว่าผลประกอบการตลาดหุ้นเกิดใหม่ยังสามารถปรับขึ้น ทำได้ดีและเหนือกว่าดัชนีเอ็มเอสซีไอตลาดหุ้นสหรัฐกับทั่วโลกตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
0 ละตินอเมริการีเทิร์นดีสุด
นอกจากเปรียบเทียบดูภาพรวมระหว่างดัชนีเอ็มเอสซีไอตลาดเกิดใหม่กับตลาดสหรัฐและตลาดทั่วโลกแล้ว โมเบียส ยังให้ภาพลึกลงไปด้วยการเปรียบเทียบเฉพาะดัชนีเอ็มเอสซีไอตลาดหุ้นละตินอเมริกากับตลาดเกิดใหม่อื่นโดยรวม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลที่ออกมาคือในระยะเวลาดังกล่าวส่วนใหญ่ละตินอเมริกาให้ผลประกอบการดีเหนือกว่าตลาดเกิดใหม่อื่น
และเขาพยายามเปรียบเทียบให้เห็นชัดขึ้นด้วยระยะเวลาสั้นลงเป็น 5 ปีที่ผ่านมา แยกเป็นดัชนีเอ็มเอสซีไอของ 3 ตลาดเกิดใหม่เหมือนกัน คือละตินอมเริกา, ตลาดเอเชียและยุโรปตะวันออก ปรากฏผลไม่ต่างกันมากนัก เพราะว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตลาดละตินอเมริกาก็ยังให้ผลประกอบการเด่นสุด ทำรีเทิร์นได้ดีและเหนือกว่าตลาดเกิดใหม่อื่นอย่างเอเชียและยุโรปตะวันออก
0 ตลาดแนวหน้า น่าลงทุน
ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่กว่า 40 ประเทศนั้น โมเบียสยังให้คำนิยามกับกลุ่มประเทศหนึ่งที่อยู่ในตลาดเกิดใหม่นี้ว่า เป็นตลาดแนวหน้า (frontier markets) ทั้งที่อยู่ในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออกและเอเชียหลายแห่งโดดเด่นดึงดูดใจให้ลงทุนมากที่สุด ไม่แพ้ตลาดเกิดใหม่ที่มีขนาดใหญ่อย่างจีน อินเดียหรืออินโดนีเซีย และตลาดแนวหน้าข้างต้น ประกอบด้วย ไนจีเรีย เวียดนาม คาซัคสถาน ยูเครน เคนยา กานา ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ อียิปต์และโรมาเนีย
ทั้งนี้ เดนนิส ลิม ผู้จัดการกองทุนเทมเพิลตัน แอสเซต แมเจนเมนท์ ซึ่งเดินทางมาไทยร่วมกับโมเบียส และเป็นผู้เชี่ยวชาญตลาดย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้แนะนำนักลงทุนจับตาการเติบโตกับอนาคตอันสดใสของพม่าและกัมพูชาซึ่งถือเป็นสองตลาดแนวหน้าของอาเซียน
ลิม ให้เหตุผลว่า พม่าอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก๊สธรรมชาติ นอกเหนือจากน้ำมันและแร่ธรรมชาติ ส่วนกัมพูชาเป็นแหล่งลงทุนที่ดีจะได้ประโยชน์จากการค้าขายกับเพื่อนบ้านอย่างไทย เวียดนามและลาว แต่การเข้าไปกัมพูชาต้องศึกษามาตรฐานบรรษัทภิบาลของประเทศนี้ให้ดีก่อน
ส่วน โมเบียส มองพม่าเป็นหนึ่งในตลาดแนวหน้าเช่นกัน และอีก 2-3 ปีเขาอาจเข้าไปลงทุนในพม่า และสนใจลงทุน 3 ภาคธุรกิจ คือ พลังงาน การผลิตระดับท้องถิ่นและการบริโภค เพราะพม่าอยู่ติดกับจีนและอินเดีย มีทรัพยากรอยู่มาก ซึ่งเป็นปัจจัยช่วยพม่าไปได้ดีกว่าเพื่อนบ้าน แต่พม่าต้องพัฒนาตลาดเงินกับค่าเงิน และพัฒนาระบบธนาคารกับสาธารณูปโภคให้ดีก่อน
0 ดึงทุนไหลเข้าได้อีกมาก
โมเบียส เชื่อว่าตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ยังมีช่องว่างให้เติบโตหรือเข้าไปลงทุนได้อีกมาก ขณะที่ความต้องการเข้าไปลงทุนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เขาหยิบยกกราฟสถิติมูลค่าตามราคาตลาดรวม หรือ มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นเกิดใหม่โดยรวม เทียบกับตลาดหุ้นละตินอเมริกา ช่วงปี 2536-2554
ปรากฏว่ามาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นเกิดใหม่โดยรวมปีก่อนเท่ากับ 34% จากเดิมเมื่อ 15 ปีที่แล้ว มีเพียง 5% ของมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นทั่วโลก ส่วนมาร์เก็ตแคปเฉพาะหุ้นตลาดละตินอเมริกาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาถึงขณะนี้ยังขยายตัวน้อยเฉลี่ยเพียง 5% ของทั่วโลก
ขณะที่สถิติเข้าไปลงทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ของกองทุนบำเหน็จบำนาญทั่วโลกช่วงเดียวกัน มีเพียง 3-8% ของมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นทั่วโลก สะท้อนได้ว่านักลงทุนสถาบันยังเข้าไปตลาดกลุ่มนี้ไม่มาก และโมเบียสตั้งข้อสังเกตว่าพอร์ตการลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก ตั้งแต่เดือนม.ค. ปี 2538-2554 มีแต่จะเพิ่มขึ้นและล่าสุดเติบโตถึง 2,823% หรือจากราว 1 พันล้านดอลลาร์ เป็นกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมา
ในช่วงเวลาเดียวกันข้างต้น กองทุนตลาดเกิดใหม่ของเทมเพิลตัน ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2528 นั้น เริ่มต้นจากการมีสินทรัพย์บริหารงานเพียง 100 ล้านดอลลาร์ ตอนนี้โตขึ้นมากกว่า 500 เท่า มีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สะท้อนถึงช่วงที่ผ่านมาดีมานด์ความต้องการลงทุนในตลาดเกิดใหม่มีมาก และในอนาคตความต้องการลงทุนยังขยายตัวได้อีกมาก
0 โครงสร้างพื้นฐานแกร่ง
โมเบียส ให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานของตลาดเกิดใหม่ด้วยว่า ยังน่าสนใจและแข็งแกร่ง ซึ่งเริ่มจากการเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของจีดีพีระหว่างตลาดเกิดใหม่กับตลาดพัฒนาแล้วโดยรวม ในปี 2554 และ ปี 2555 ซึ่งจีดีพีตลาดเกิดใหม่ขยายตัวที่ระดับ 6% และ 5.4% ตามลำดับ ซึ่งดีกว่าตลาดพัฒนาแล้วที่ระดับ 1.4% กับ 0.8% ตามลำดับ
และหากดูตลาดเกิดใหม่แยกรายภูมิภาคด้วยคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีปี 2555 โมเบียสตั้งข้อสังเกต ว่า เอเชียขยายตัวมากที่สุด 6.7% ตามด้วยแอฟริกา 5.5% ละตินอเมริกา 3.6% และตลาดเกิดใหม่ยุโรป 2.6% จากช่วงห่างของการเติบโตดังกล่าว ทำให้เขามองแนวโน้มการเติบโตของตลาดอื่นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่นอกเหนือจากเอเชียซึ่งขยายตัวมากอยู่แล้ว คือไม่ว่าจะเป็นแอฟริกา ละตินอเมริกา และ ยุโรปนั้น ยังมีช่องว่างให้เติบโตได้อีกมาก
ส่วนเงินทุนสำรองสกุลต่างประเทศของตลาดเกิดใหม่เทียบตลาดพัฒนาแล้วตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมีมากกว่าตลาดพัฒนาแล้ว ขณะเดียวกันในเดือนก.พ. ปีนี้ทุนสำรองสกุลต่างประเทศของตลาดเกิดใหม่รวมกันแล้วอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้เป็นของจีนมากที่สุดกว่า 3.2 ล้านล้านดอลลาร์
โมเบียส ยังพิจารณาหนี้สาธารณะเทียบจีดีพีของตลาดเกิดใหม่กับตลาดพัฒนาแล้วช่วงปี 2545-2555 ด้วยว่า แตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหนี้สาธารณะของตลาดเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่องล่าสุดอยู่ที่ 30% ของจีดีพีช่วยสถานการณ์ทางการเงินของกลุ่มประเทศนี้ดีขึ้นมาก ส่วนตลาดพัฒนาแล้วอยู่ที่ประมาณ 100% ของ จีดีพี
0 เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยไม่เป็นปัญหา
โมเบียส รู้ว่าเงินเฟ้อกับอัตราดอกเบี้ย ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในตลาดเกิดใหม่ เขายอมรับว่าเงินเฟ้อในละตินอเมริกาโดยเฉพาะอาร์เจนตินาเคยขึ้นเป็นตัวเลขหลักร้อยซึ่งน่ากลัวมาก แต่จากภาพรวมตลาดเกิดใหม่ช่วงปี 2540-2554 อัตราเงินเฟ้อในตลาดเกิดใหม่กลับอยู่ระดับต่ำมากไม่ถึง 10% ยิ่งละตินอเมริกาช่วงปีเดียวกันต่ำเช่นกันไม่ถึง 10%
เมื่อดูคาดการณ์ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อแยกตามภูมิภาคในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ พบว่าเอเชียต่ำสุด 3.9% แอฟริกา 5.9% ละตินอเมริกา 6.2% ตลาดใหม่ในยุโรป 6.5% ถือว่าเป็นระดับไม่สูงจนน่ากลัว และหากดูอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นตลาดเกิดใหม่ช่วงปี 2550 จนถึงต้นปี 2555 ยังคงอยู่ระดับต่ำล่าสุดไม่ถึง 4% หากแยกดูเฉพาะตลาดละตินอเมริกาตั้งแต่ต้นปี 2552 ก็ลดลงต่อเนื่อง และแม้ปรับขึ้นบ้างช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา แต่ยังอยู่เหนือระดับ 7% เล็กน้อย
ทั้งนี้สรุปแล้วโมเบียสเชื่อว่าทั้งอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเกิดใหม่จากนี้ไป ไม่ใช่ปัญหาและมีแนวโน้มจะลดลงอยู่ระดับต่ำ
0 ค่าพีอีสะท้อนหุ้นถูก
สัดส่วนราคาเทียบกำไรของหุ้น หรือ ค่าพีอี ในตลาดเกิดใหม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่โมเบียสพยายามนำมาอธิบายเพื่อบอกว่า เป็นตัวชี้วัดบอกแนวโน้มราคาหุ้นตลาดเกิดใหม่ช่วง 12 เดือนข้างหน้าได้
เขาหยิบเอากราฟเป็นสถิติค่าพีอีตลาดเกิดใหม่ลงต่ำสุดและขึ้นสูงสุด โดยขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 28 เท่าในเดือนพ.ค. ปี 2521 และลงต่ำสุดที่ 7 เท่าในเดือนพ.ย.ปี 2550 แต่ในเดือนก.พ. ปี 2555 นี้ ค่าพีอียังค่อนข้างต่ำที่ระดับ 10 เท่า สะท้อนว่าราคาหุ้นตลาดเกิดใหม่ยังค่อนข้างถูกอยู่
เมื่อแยกดูเฉพาะค่าพีอีหุ้นตลาดละตินอเมริกา ทั้งค่าพีอีขึ้นสูงสุดกับค่าพีอีลงต่ำสุด พบว่าค่าพีอีสูงสุดที่ระดับ 16 เท่าในเดือนก.พ. ปี 2537 ค่าพีอีต่ำสุดที่ระดับ 5 เท่าในเดือนต.ค. ปี 2541 ส่วนเดือนก.พ. ปี 2555 นี้ ค่าพีอีอยู่ที่ 11 เท่า ถือว่าไม่สูงและราคาหุ้นยังค่อนข้างถูกเช่นกัน
0 ประชากรมากหนุนดีมานด์
โมเบียส แสดงถึงความเชื่อมั่นในพลังการบริโภคของตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะจีนกับอินเดีย เป็นอีกแรงขับเคลื่อนให้ตลาดเติบโตและน่าสนใจ เพราะพิจารณาจากแนวโน้มประชากรตลาดเกิดใหม่ช่วงปี 2493-2554 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและ 2 ปีที่แล้วจำนวนประชากรอยู่ที่เกือบ 6 พันล้านคน ตรงข้ามกับตลาดพัฒนาแล้วทั่วโลกในช่วงเวลาเดียวกันข้างต้น กลับมีจำนวนประชากรทรงตัวเพิ่มขึ้นน้อยมากราว 1.1 พันล้านคน
จากนั้นดูรายได้ต่อหัวของประชากรในกลุ่มบริค ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจดาวเด่นสำคัญของตลาดเกิดใหม่ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และ จีน พบว่ายังไม่สูงและน้อยกว่าตลาดพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส ยอรมนี ละญี่ปุ่น ถึง 10 เท่า สะท้อนว่ายังมีช่องให้รายได้ต่อหัวของประชากรในตลาดสำคัญของตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นได้อีกมาก
นอกจากนี้ยังพิจารณาจีดีพีเทียบการเติบโตของรายได้ช่วงปี 2548-2553 ปรากฏว่าตลาดเกิดใหม่มีจีดีพีเทียบการเติบโตของรายได้อยู่ที่ 87% ซึ่งสูงกว่าตลาดพัฒนาแล้วอย่างมาก ซึ่งช่วงปีเดียวกันนั้นจีดีพีเทียบการเติบโตของตลาดพัฒนาแล้วเท่ากับ 13%
0 ดีมานด์ดันยอดขายพุ่ง
โมเบียส ยังนำเสนอข้อมูลการใช้สินค้าภาคครัวเรือนในชนบทตลาดสำคัญของตลาดเกิดใหม่ เช่น ตู้เย็นมีภาคครัวเรือนในชนบทจีนใช้เพิ่มต่อเนื่องจาก 1%ในปี 2533 เป็น 37% ในปี 2552 เครื่องซักผ้าใช้เพิ่มชึ้นในช่วงเดียวกันจาก 9%ในปี 2533 เป็น 53% ในปี 2552 การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มจาก 0% ในปี 2533 เป็น 7% ในปี 2552
เขาตั้งข้อสังเกตว่า แรงซื้อการใช้สินค้าอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต ยังปรับขึ้นอีกเหมือนเป็นเส้นทางยาวไกลยังไปได้เรื่อยๆ ดูจากการใช้จักรยานของภาคครัวเรือนในชนบทจีนลดลงจาก 118% ในปี 2533 มาอยู่ที่ 96%ในปี 2552 สวนทางยอดขายรถยนต์เทียบตลาดสหรัฐ ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2554ยอดขายรถในจีนอยู่ที่1.6ล้านคันต่อเดือน สะท้อนความต้องการรถยนต์มีมากกว่าตรงข้ามกับการใช้จักรยานที่ลดลง
เช่นเดียวกับอินเดีย ยอดขายรถยนต์ต่อเดือนช่วงปี 2535-2555 แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องล่าสุดเกือบ 1.8 แสนคัน บราซิลมียอดขายรถช่วงปี 2535-2555 เพิ่มต่อเนื่องล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 2.7แสนคัน และในอินโดนีเซียยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ช่วงปี 2535-2555 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่กว่า 6 แสนคัน
โมเบียส ยังใช้สถิติอัตราการมีรถยนต์ใช้เทียบประชากรทั้งประเทศ บ่งชี้ว่าความต้องการใช้รถยนต์ประเทศสำคัญตลาดเกิดใหม่ อย่าง อินเดีย จีน บราซิลและเม็กซิโก ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากเมื่อเทียบกับสหรัฐ โดยอัตราผู้มีรถยนต์ในอินเดียกับจีนมีเพียง 1% และ 4% ของประชากร ส่วนบราซิลกับเม็กซิโกมีอัตราผู้ใช้รถ 12% และ 17% ตามลำดับ ตรงข้ามกับสหรัฐมีอัตราผู้ใช้มากถึง 42% ของประชากร
และหากดูการผลิตไฟฟ้าสนองความต้องการใช้ในจีน, ละตินอเมริกาและอินเดีย ช่วงปี 2519-2552 มีแต่จะเพิ่มขึ้น แต่ตลาดจีนมีการใช้เพิ่มขึ้นมากสุดถึง 4 ล้านล้านเมกะวัตต์ ทิ้งห่างละตินอเมริกาที่ใช้ราว 1.4 ล้านล้านเมกะวัตต์ ตามด้วยอินเดีย ใช้ 1 ล้านล้านเมกะวัตต์
โมเบียส กล่าวถึงการใช้อินเทอร์เน็ตในบราซิลและจีน ช่วงปี 2545-2553 พบว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในบราซิลเพิ่มจากกว่า 15 ล้านคน ในปี 2545 เป็น 80 ล้านคนในปี 2553 ส่วนจีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มต่อเนื่องจาก 50 ล้านคน ในปี 2545 เป็น 650 ล้านคน ในปี 2553
นอกจากนี้การนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นทองคำ น้ำมัน โลหะต่างๆ และสินค้าด้านพลังงานอื่นๆ ของตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะจีน ช่วง 10-40 ปีที่ผ่านมา มีแต่จะเพิ่มขึ้น สวนทางกับตลาดพัฒนาแล้วที่ทรงตัวและค่อยๆ ลดลง
0 เปิดรับความเสี่ยงน้อย
โมเบียสยอมรับทุกที่ทุกตลาดย่อมมีความเสี่ยง แต่หากพูดถึงความเสี่ยงสำหรับตลาดเกิดใหม่นั้น โมเบียสเชื่อว่าความเสี่ยงมีน้อยกว่าตลาดพัฒนาแล้วมาก พิจารณาจากมูลค่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพี (Goverment Debt Per Capital)ในปี 2553 พบว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น อิตาลี แคนาดา ฝรั่งเศสเยอรมนี สหรัฐ อังกฤษ และ สเปน ยังมากกว่าบราซิล เม็กซิโก และ จีน อยู่มาก
นอกจากนี้การส่งออกตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกไปยังตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งปัจจุบันยังวุ่นวายอยู่กับการจัดการวิกฤติหนี้สาธารณะในภูมิภาคนั้น ปรากฏว่าตั้งแต่ปี 2550-2553 การส่งออกหรือพึ่งตลาดยุโรปลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือเพียง 15% ของการส่งออกโดยรวม หากดูเฉพาะตลาดเกิดใหม่ในละตินอเมริกา พบว่า ส่งออกไปอเมริกาไม่ถึง 13% ของการส่งออกโดยรวม
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน