เตรียมธรรมาภิบาลที่ดีให้ SME ไทยสู้ศึก AEC
โดย : ดร.บัณฑิต นิจถาวร bandid.econ@gmail.com
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
อาทิตย์ที่แล้วมีผลสำรวจที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยว่าผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีกว่า 70% ไม่พร้อมแข่งขัน
AEC เป็นนโยบายของรัฐบาลประเทศอาเซียน ที่จะผลักดันการเชื่อมต่อของเศรษฐกิจประเทศอาเซียนให้มีพลังทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งในปี 2558 นโยบาย AEC จะหมายถึง ความเป็นเสรีของการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ รวมถึงปัจจัยการผลิต คือ เงินทุน และแรงงานระหว่างประเทศอาเซียน พูดง่ายๆ ก็คือ ธุรกิจที่เริ่มต้นในประเทศอาเซียนประเทศใดประเทศหนึ่ง จะสามารถขยายไปทั่วอาเซียนได้อย่างเสรี ซึ่งหมายถึง ตลาดที่ใหญ่ขึ้น คือ มีประชากรกว่า 500 ล้านคน และความสามารถทำกำไรที่สูงขึ้น
สำหรับบริษัทธุรกิจขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ผลกระทบจาก AEC จะมีสองด้าน หนึ่ง จะแข่งขันอย่างไรกับผู้ประกอบการอาเซียนรายใหม่ที่จะเข้ามาทำธุรกิจในบ้านเราที่อาจพร้อมกว่า และมีความสามารถแข่งขันที่เหนือกว่า สอง จะหาประโยชน์อย่างไรกับความเป็นเสรีของตลาดที่จะเกิดขึ้นภายใต้ AEC เพื่อให้ธุรกิจเติบโตมีกำไร และสามารถพัฒนาไปสู่ธุรกิจระดับภูมิภาค หรือสากล
ปีที่แล้ว ในคอลัมน์นี้ผมได้เขียนถึงประเด็นการแข่งขันจาก AEC ที่เราต้องเตรียมตัว วันนี้อยากพูดถึงโอกาสทางธุรกิจจาก AEC และความสำคัญของการมีธรรมาภิบาลที่ดีที่จะช่วยเอสเอ็มอีไทยฉกฉวยโอกาสนี้
เมื่อ AEC เกิดในปี 2558 นอกจากการแข่งขันระหว่างบริษัทธุรกิจในอาเซียนที่จะมีมากขึ้นแล้ว นโยบาย AEC ก็จะดึงดูดให้เงินทุนโดยตรงจากต่างชาติไหลเข้าประเทศอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะจาก อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน สำหรับจีน บริษัทจีนคงอยากขยายธุรกิจเข้าอาเซียนอยู่แล้ว เพราะอาเซียนเป็นตลาดใหญ่ที่จะรองรับกำลังการผลิตส่วนเกินของจีนที่มีอยู่มากขณะนี้ สำหรับอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จากปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศเหล่านี้มีอยู่ ซึ่งจะใช้เวลานานในการแก้ไข บริษัทเอกชนใน อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ก็คงต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์มาขยายธุรกิจในอาเซียนมากขึ้น เพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่จะเติบโต และเมื่อ AEC เกิด การเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศอาเซียนใดประเทศหนึ่งก็สามารถใช้ประโยชน์ของ AEC ขยายธุรกิจไปประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้และช่องทางที่ง่ายที่สุดที่บริษัทธุรกิจต่างประเทศจะเริ่มธุรกิจในอาเซียน ก็คือ การหาบริษัทพันธมิตรในอาเซียนที่จะร่วมทุนทำธุรกิจด้วย ซึ่งคำถามที่ตามมา ก็คือ เขาจะเลือกไปที่ไหน และลงทุนกับใคร
ในเรื่องนี้สิ่งที่ต้องตระหนัก ก็คือ ในสายตาบริษัทต่างประเทศความสามารถทางธุรกิจของบริษัทเอสเอ็มอีในอาเซียนไม่แตกต่างกันมากเพราะต้องทำธุรกิจภายใต้ภาวะแวดล้อมเดียวกัน คือ มีต้นทุนราคาวัตถุดิบคล้ายๆ กัน ใช้เทคโนโลยีเหมือนๆ กัน และคุณภาพแรงงาน และระบบภาษีในแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไม่มาก แต่จุดที่แตกต่าง ก็คือ ความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจโดยเฉพาะการมีธรรมาภิบาลที่ดีในการกำกับดูแลกิจการบริษัทที่จะสำคัญต่อการลดต้นทุนทางการเงินของบริษัท และสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจในระยะยาว ดังนั้น ประเด็นสำคัญ ที่บริษัทต่างประเทศจะใช้พิจารณาในการเลือกบริษัทเอสเอ็มอีเป็นพันธมิตร เพื่อขยายธุรกิจ หรือเพื่อช่วยเหลือทางการเงิน ก็คือ การมีระบบธรรมาภิบาลที่ดีในการบริหารกิจการ อันนี้เป็นจุดแตกต่างสำคัญที่จะสร้าง ความมั่นใจให้กับบริษัทต่างประเทศในการเลือกบริษัทพันธมิตร ทำให้บริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดีจะได้เปรียบบริษัทที่บกพร่องในเรื่องนี้
แล้วเราจะเตรียมธรรมาภิบาลที่ดีให้กับธุรกิจ SME ไทย เพื่อสร้างความแตกต่างนี้อย่างไร
หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ และบริษัทเอสเอ็มอี โดยสาระจะไม่แตกต่างกัน ใช้หลักการเดียวกัน แต่ที่จะแตกต่างก็คือ การนำหลักดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีจะแตกต่างกับบริษัทขนาดใหญ่ในเรื่องจำนวนผู้เป็นเจ้าของ ที่มาของผู้บริหาร องค์ประกอบของผู้มีส่วนได้เสีย และลักษณะของลูกจ้าง ซึ่งในกรณีของไทย บริษัทธุรกิจเอสเอ็มอีอาจแบ่งได้เป็นสี่ประเภท
หนึ่ง ธุรกิจครอบครัว มีเจ้าของคนเดียว ผู้บริหารและลูกจ้างเป็นคนในครอบครัว
สอง ธุรกิจครอบครัวมีเจ้าของคนเดียว ผู้บริหารเป็นคนหรือญาติของครอบครัว แต่มีลูกจ้างที่เป็นคนนอก
สาม ธุรกิจครอบครัวเติบโตเป็นธุรกิจหลายเจ้าของ มีทั้งคนในครอบครัว และคนนอกเป็นเจ้าของ ผู้บริหารมีทั้งคนในครอบครัว และคนนอก และมีลูกจ้างเป็นคนนอก
สี่ ธุรกิจที่มีหลายเจ้าของทำให้ความสำคัญของการแยกแยะระหว่างความเป็นเจ้าของ กับการบริหารมีความสำคัญมากขึ้น ขณะที่ลูกจ้างก็ต้องมีระบบในการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ
ทั้งสี่ประเภทนี้ ประเด็นสำคัญของการบริหารธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีจะไม่แตกต่างกัน คือ ทำธุรกิจต้องถูกต้องตามกฎหมาย ความน่าเชื่อถือของบริษัทในสายตาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการมีภาพลักษณ์และชื่อเสียงดี สำคัญต่อการลดต้นทุนการเงินของบริษัท ผู้บริหารต้องสามารถประเมิน และบริหารความเสี่ยงที่ธุรกิจประสบ และบริษัทมีระบบการทำงานที่ทำให้เกิดการตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ แต่ที่จะแตกต่างกันระหว่างเอสเอ็มอี ทั้งสี่ประเภท ก็คือ เราจะระบุสิ่งที่เอสเอ็มอีแต่ละประเภทควรต้องปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลที่ดีที่ได้พูดถึง
ตัวอย่างเช่น ในกรณีธุรกิจครอบครัวทั้งที่มีและไม่มีลูกจ้างเป็นคนนอก ข้อปฏิบัติสำคัญของการทำธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี ก็คือ การมีระบบบัญชีที่ถูกต้องที่นำไปสู่การปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องภาษี มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน รวมถึงมีการทบทวนแผน เพื่อให้ผู้ร่วมทุน และสถาบันการเงินที่ให้กู้สามารถตรวจสอบได้ มีเครื่องชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานะของธุรกิจ มีระบบภายในที่จะประเมิน และบริหารจัดการความเสี่ยงสำคัญที่มีต่อธุรกิจ มีระบบและนโยบายชัดเจนในเรื่องบุคลากร มีระบบข้อมูลที่แสดงความโปร่งใสในฐานะการเงินของบริษัท และมีผู้ให้คำปรึกษาซึ่งเป็นคนนอก รวมถึงกรรมการบริษัทที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมา เพื่อให้เกิดระบบตรวจสอบ Check และ Balance ภายในบริษัท
สิ่งเหล่านี้ คือ ตัวอย่างของ “กิจกรรม” ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีที่บริษัทธุรกิจ เอสเอ็มอีขนาดเล็กที่เป็นธุรกิจครอบครัว สามารถจัดให้มีได้ เพื่อสร้างให้เห็นถึงความเป็นระบบและการมีหลักปฏิบัติในการบริหารกิจการที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลที่ดี สิ่งเหล่านี้จะทำให้บริษัทที่ทำมีความแตกต่างชัดเจนเทียบกับบริษัทที่ไม่ทำ ความสำคัญเรื่องธรรมาภิบาลอย่างที่กล่าวนี้ เป็นเรื่องที่คนนอกตลาดการเงินมักไม่ตระหนัก เพราะในด้านการลงทุน คำถามสำคัญที่บริษัทต่างประเทศจะถามในการเลือกบริษัทพันธมิตร ก็คือ “บริษัทคุณมีนโยบายและการปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลอย่างไร”
ประเด็นนี้ทำให้ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีหลักปฏิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้กับธุรกิจ เอสเอ็มอี เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติ และสร้างแต้มต่อให้กับเอสเอ็มอีไทยในด้านการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยเอสเอ็มอีไทยและเศรษฐกิจไทยสู้ศึก AEC ที่จะเกิดขึ้นในสามปีข้างหน้า
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี