สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จุดบอดครม.ผลประโยชน์ทับซ้อนซ้ำรอย..ทักษิณ

จาก โพสต์ทูเดย์

ไม่มีคำอธิบายใดครอบคลุมที่สุดต่อการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

ไม่มีคำอธิบายใดครอบคลุมที่สุดต่อการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วยคำว่า “เป็นไปด้วยความเหมาะสม” เช่นเดียวกับคำยืนยันของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาการันตีบุคคลเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีใน ครม.ปู 2 ล้วนเป็นไปด้วย “ความเหมาะสม ไม่มีการต่างตอบแทน”

แต่ทว่า ความเหมาะสมดังกล่าวถือเป็นความเหมาะสมเฉพาะมุมมองผู้มีอำนาจแต่งตั้งและผู้สั่งการอยู่ข้างหลังเท่านั้นหรือไม่

เพราะทันทีที่ประกาศรายชื่อ ครม.ปู 2 ในแง่ของตัวตนคนเข้ามากำกับดูแลนโยบายด้านเศรษฐกิจ แม้จะมีเสียงตอบรับจากภาคเอกชน เนื่องจากแต่ละรายคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี แต่ถ้าส่องกล้องติดตามปูมประวัติกลุ่มบุคคลเหล่านี้ เห็นทีต้องมีหมายเหตุพ่วงท้าย ถึงการเชื่อมโยงธุรกิจการเมือง ที่จะเป็นจุดอ่อนในรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ปมหนึ่งที่ทุกรัฐบาลบริหารงานไม่ราบรื่น คือ การเผชิญข้อกล่าวหาบริหารคลุมเครือไม่โปร่งใส ยิ่งผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคนใดถูกกล่าวหามีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ย่อมบั่นทอนศรัทธาและความเชื่อถือต่อรัฐบาล

ไม่เพียงกรณี ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ทุกกระแสเสียงออกมาวิจารณ์ “ความไม่เหมาะสม” ในเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ ในฐานะจำเลยคดีก่อการร้าย ล่าสุด นลินี ทวีสิน รมต.ประจำสำนักนายกฯ ยังไม่ทันได้เริ่มทำงาน ต้องผงะกับกระแสข่าวทางการสหรัฐห้ามเข้าประเทศ จากสาเหตุที่มีชื่อเกี่ยวพันคดีกับประธานาธิบดีซิมบับเว เกิดข้อสงสัยคุณสมบัติอันคลุมเครือก่อนมาเป็นรัฐมนตรี ขณะที่เจ้าตัวไม่ได้อธิบายให้เกิดความกระจ่างนัก นอกจากกล่าวเพียงสั้นๆ “เป็นความเข้าใจผิด” เช่นเดียวกับคนในรัฐบาลไทย ตั้งแต่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ นพดล ปัทมะ มือกฎหมายส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประสานเสียงเดียวกันว่า ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของไทย ถือว่านลินีไม่ขัดคุณสมบัติ สามารถเป็นรัฐมนตรีได้

 

การยกเหตุความเหมาะสมอีกประการ “ด้วยการดึงคนนอกร่วม ครม. มุ่งเดินหน้านโยบายบริหารประเทศระลอกใหม่” ไม่ว่าจะเป็น อารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน สุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกฯ แต่ถ้าพิจารณาเชิงลึก คณะบุคคลเหล่านี้จัดอยู่ในประเภทคนเคยค้าม้าเคยขี่ ทำงานรับใช้เครือข่ายธุรกิจตระกูลชินวัตรมานาน ประการสำคัญมีโครงข่ายความสัมพันธ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ถึงขั้นต่อสายทะลุทะลวงชนิด 4จี ยังตามไม่ทันกลุ่มคนเหล่านี้

อารักษ์ เคยเป็นทั้งกรรมการ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น เป็นทั้งประธานบริหาร บริษัท ไทคม ซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐมาก่อน จนเกิดกรณีปัญหาข้อพิพาทดาวเทียมไทคม และยังเป็นเพื่อนเรียนคณะวิศวกรรม จุฬาฯ รุ่นเดียวกับ บุญคลี ปลั่งศิริ อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชินคอร์ป นักธุรกิจมือฉมังที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไว้ใจ ทั้งอารักษ์และบุญคลีอยู่ในกลุ่มก๊วนเดียวกับนิวัฒน์ธำรง จากกลุ่มชินคอร์ป ที่วันนี้มาเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ

บทบาทการทำงานของอารักษ์ จากนี้ต้องมาเก็บกวาดงานค้างเก่าของ พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาม็อบแท็กซี่ ม็อบรถบรรทุก จากผลพวงขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี เร่งเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ที่กำลังจะถังแตกอยู่แล้วมีผลกระทบไปถึงการปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคตามมา

ประเด็นสำคัญ อารักษ์จะถูกสปอตไลต์ส่องมาที่การดำเนินนโยบายจัดหาแหล่งพลังงานเพื่อเกิด ประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด ซึ่งดูจะอยู่ในเส้นทางสุ่มเสี่ยงกับข้อครหาผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างปฏิเสธไม่ ได้ เนื่องจากความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มุ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจพลังงาน ด้วยการตระเวนเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีแหล่งพลังงานทั้งหลายแหล่

เช่นเดียวกับกรณีนิวัฒน์ธำรง จากค่ายชินคอร์ปภูมิใจเสนอ ซึ่งแต่เดิมติดโผจะได้เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ใน ครม.ปู 1 โอกาสจะเป็นเลขานายกฯ แค่เอื้อม แต่มาสมใจ รมต.ประจำสำนักนายกฯ คราวนี้ การกลับมาครั้งนี้หนีไม่พ้นที่จะเข้ามากำกับดูแลนโยบายสื่อสารมวลชนของรัฐ ตามที่ตนเองเคยประกาศมีความถนัดเป็นพิเศษ

เพราะจากที่ทำงานอยู่ฉากหลังคอยสร้างภาพลักษณ์ให้นายกฯ เมื่อมาอยู่แถวหน้า การเดินนโยบายสื่อตามสไตล์นิวัฒน์ธำรง จะเป็นไปในลักษณะคุมไอทีวี จนจอดำจากปัญหาค้างจ่ายค่าสัมปทานรัฐหรือไม่ และหากเกิดภาพความพยายามที่รัฐบาลจะเข้าไปดำเนินกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางตัวบุคคล กำหนดรายการ ก็ไม่อาจหนีข้อครหารัฐบาลแทรกแซงสื่อ ขนาดยังไม่ทำงานเต็มตัวก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากนักการเมืองสายรัฐบาลทั้ง บ้านเลขที่ 111 ทั้งบ้านไทยคู่ฟ้า เข้าไปควบคุมปรับผังจัดรายการในสื่อของรัฐในสื่อค่าย อสมท บ้างแล้ว

ความที่เคยเป็นผู้บริหารสื่อ ย่อมมองถึงธุรกิจผลประโยชน์ด้านสื่อ กับการมาเป็นรัฐมนตรีกำกับนโยบาย โดยที่เคยสวมเสื้อยี่ห้อชินคอร์ปด้วยแล้ว หากสลัดบทบาทไม่ออก ภาพของผลประโยชน์ทับซ้อนย่อมตามมา

แม้การจัดวางคนนอกเป็นรัฐมนตรี จะเป็นเพราะความเหมาะสมเพื่อให้งานเดินหน้าคล่องตัว หรือเหมาะสมตามใจที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์และคนดูไบต้องการ แต่ก็เป็นเส้นทางการบริหารที่สุ่มเสียง โดยเฉพาะภาพของกลุ่มก๊วนทางธุรกิจที่เข้านอกออกในบ้านจันทร์ส่องหล้า ย่อมเป็นสายล่อฟ้าต่อการถูกตรวจสอบอย่างแน่นอน กอปรกับความสามารถการทำงานของยิ่งลักษณ์ ที่ต้องยอมรับว่าใน 5 เดือนที่ผ่านมา ผลิตแต่ผลงานความไม่มั่นใจในหมู่ประชาชน ดังจะเห็นจากผลเอแบคโพลล์ล่าสุด ความนิยมในตัวนายกฯ ในรอบ 2 เดือนลดลงต่อเนื่อง

หากการเริ่มต้นบริหารประเทศภายใต้ภาพ ครม.ปู 2 เผชิญกับข้อครหาประโยชน์ทับซ้อนเอื้อคนดูไบ กลุ่มทุนอย่างเด่นชัด ยิ่งจะตอกย้ำเพิ่มคะแนนความเสื่อมทรุดรัฐบาลเข้าไปอีก

บทเรียนในอดีตของรัฐบาลทักษิณ เรื่องปมผลประโยชน์ทับซ้อน การทุจริตคอร์รัปชันที่พุ่งไปที่เครือญาติ บริวารเป็นพิษเข้าไปอินไซเดอร์ หาประโยชน์ทุจริตเชิงนโยบาย หากเลือกเดินตามเส้นทางนี้ รัฐบาลก็อาจพบความเสี่ยงกัดกร่อนตัวเองในที่สุด


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : จุดบอดครม. ผลประโยชน์ทับซ้อน ซ้ำรอย..ทักษิณ

view