จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวการเงิน
ถึงแม้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะออกมายอมรับว่าความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยปี 2554 ครั้งนี้ มีมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านล้านบาท แต่เมื่อลองพลิกดูแผนฟื้นฟูของรัฐบาลกลับพบว่า ที่ผ่านมามีการใช้เงินเพื่อเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนไปเล็กน้อยเท่านั้น คิดเป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
ในจำนวนนั้นเป็นการให้ฟรีแก่ประชาชนร่วม 1.3 หมื่นล้านบาท เหลืองบปะผุซ่อม ปรับปรุงเล็กน้อยเท่านั้น
ทั้งๆ ที่ธนาคารโลกประเมินว่า ประเทศไทยน่าจะมีความต้องการใช้เงินในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากน้ำท่วมเพื่อให้ กลับมาเริ่มต้นผลิตใหม่ในช่วงปี 2555-2556 ในวงเงินประมาณ 7.56 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเม็ดเงินที่ต้องใช้ในระยะสั้น 6 เดือน 2.47 แสนล้านบาท
งบฟื้นฟูช่วง 6 เดือน ถึง 2 ปี ประมาณ 3.86 แสนล้านบาท และที่จะใช้เป็นเวลามากกว่า 2 ปี อีก 1.23 แสนล้านบาท
เวิลด์แบงก์ประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.36 ล้านล้านบาท แยกเป็นความเสียหายของทรัพย์สินต่างๆ 6.4 แสนล้านบาท และค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ 7.16 แสนล้านบาท โดยความเสียหายส่วนใหญ่เกิดกับภาคอุตสาหกรรม 9.3 แสนล้านบาท ภาคการท่องเที่ยว 9.4 หมื่นล้านบาท
แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะไร้เงินในการใช้จ่าย
โครงการที่คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) ที่มี ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เป็นประธาน ได้เห็นชอบในโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยด้านโครงสร้าง พื้นฐานและด้านคุณภาพชีวิต เป็นวงเงินรวม 19,786 ล้านบาท
แบ่งออกเป็นโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 12,983 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่มี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาแล้ว แบ่งเป็นด้านคมนาคมขนส่ง 4,444 ล้านบาท ด้านสถานที่ราชการและระบบสาธารณูปโภค 384 ล้านบาท ด้านศาสนาและโบราณสถาน 1,593 ล้านบาท ด้านสถานศึกษา 1,462 ล้านบาท และด้านแหล่งน้ำและชลประทาน 5,098 ล้านบาท
โครงการด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต วงเงิน 6,803 ล้านบาท ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ที่มี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ประกอบด้วย โครงการของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ 2,296 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ 778 ล้านบาท กระทรวงแรงงาน 1,283 ล้านบาท กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 130 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข 669 ล้านบาท และกระทรวงมหาดไทย 1,645 ล้านบาท ล้วนแล้วแต่ถูกดองเค็ม ทบทวนแล้วทบทวนอีก
เพราะหากพิจารณาจากข้อสรุปจากการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษที่ได้ข้อสรุป ว่า รัฐบาลจะกันเงินงบกลางปี 2555 จำนวน 1.2 แสนล้านบาท มาฟื้นฟูประเทศ
แต่ปัญหาคือ ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณที่คาดว่าจะผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรในเดือน ก.พ. 2555 ทำให้เกิดช่องว่างการเบิกจ่ายงบประมาณ
ขณะที่คณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติกรอบวงเงินช่วยเหลือเยียวผู้ประสบภัยไป ก่อนหน้านี้แล้ว 6 หมื่นล้านบาท จึงต้องนำเงินงบกลางปี 2554 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบจากน้ำท่วม ที่สามารถเบิกจ่ายใช้ได้ไปพลางๆ ซึ่งมีวงเงิน 4.76 หมื่นล้านบาท มาใช้
ที่ผ่านมาได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 2.01 หมื่นล้านบาท จึงเหลืองบประมาณที่สามารถเบิกจ่ายได้ไปพลางๆ ก่อนประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท ที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเพื่อใช้เป็นงบฟื้นฟูให้กับประชาชนได้ถึงสิ้นเดือน ม.ค. 2555 นี้
ถามว่า รัฐบาลมีความพยายามน้อยเกินไปหรือไม่ในการช่วยเหลือประชาชน เพราะเงินที่คาดว่าน่าจะลงไปเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนนับจากนี้ไปถึงสิ้นเดือน ม.ค. จะมีอีกแค่ 2.7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
ขณะที่ช่วงเวลานี้ น่าจะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการเร่งฟื้นฟู เพราะหลายพื้นที่น้ำเริ่มแห้งสนิท คนกำลังเข้าไปซ่อมแซมบ้านเรือน โรงงานที่เสียหาย
แล้วทำไมรัฐบาลถึงไม่เร่งมือจัดเงินลงไปเยียวยาให้ผู้ที่เดือดร้อนได้เร็วที่สุดอย่างที่ ยิ่งลักษณ์ เคยสัญญากับประชาชนไว้
เหตุผลสำคัญที่ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณ “อืดเป็นเรือเกลือ” มาจากการทำงานในรูปแบบข้าราชการแบบเดิม ที่ต้องมีการประชุมพิจารณาภาพรวม –เสนอกรรมการตั้งวงประชุมเพื่อพิจารณาการเสนอของบ-ทบทวนโครงการ-ตีกลับ โครงการ
รวมเวลาในการดำเนินการนานเป็นเดือนๆ กว่าที่งบจะออก
ที่สำคัญข้าราชการและนักการเมืองยังหวังสูบงบเยียวยาจากคนเดือดร้อน จึงพยายามเสนอโครงการที่ยังไม่มีความจำเป็นเข้ามาขอใช้งบประมาณที่มีอยู่ อย่างจำกัด ทำให้หน่วยงานกลาง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต้องเสียเวลาในการคัดกรองเอาเฉพาะโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
รวมถึงการตั้งกรรมการมากมายหลายชุดทำให้การทำงานซ้ำซ้อน ข้าราชการที่ทำงานก็กลัวจะไปเหยียบเท้านักการเมือง หรือคนที่มีเส้นสายทางการเมืองส่งเข้ามาทำงาน ทำให้การพิจารณาจัดสรรงบประมาณลงไปฟื้นฟูเยียวยาจึงต้องรอผลการประชุมของคณะ กรรมการแต่ละชุดก่อน
ขณะที่ข้าราชการระดับล่าง เช่น ข้าราชการที่สำนักงานเขต ก็ไม่ทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ จะเห็นได้จากกรณีของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่น้ำลดเกือบทุกพื้นที่แล้ว แต่ล่าสุดธนาคารออมสินสามารถจ่ายเงินชดเชยครัวเรือนละ 5,000 บาท ให้กับผู้ประสบภัยใน กทม.ได้เพียง 6,000 รายเท่านั้น
น้อยมากหากพิจารณาจากการที่คาดว่าน่าจะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดกว่า 6 แสนราย
เนื่องจากเขตและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ยังไม่ส่งรายชื่อมา ทำให้ธนาคารออมสินจ่ายเงินไม่ได้ เพราะจะเบิกจ่ายเงินให้ได้เฉพาะกรณีที่มีรายชื่อส่งมาเท่านั้น
แม้ว่ามีการคาดว่าภายในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ธนาคารออมสินจะสามารถเบิกจ่ายเงินชดเชยได้เพิ่มเติมอีกประมาณ 3 หมื่นครัวเรือน
ส่วนเรื่องที่ต้องจ่ายเงินชดเชยเพิ่มเติมในกรณีที่บ้านเสียหายบางส่วน โดยจ่ายตามจริงไม่เกินครัวเรือนละ 2 หมื่นบาท และกรณีที่เสียหายทั้งหลังจ่าย 3 หมื่นบาทนั้น ปรากฏว่ายังไม่มีสำนักงานเขตไหนออกระเบียบเพื่อรับเรื่องร้องเรียนจาก ประชาชน เนื่องจากยังไม่ได้รับคำสั่งจากส่วนกลาง
ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติมีความเสียหายร้ายแรงและต้องการความช่วยเหลือแบบ ฉุกเฉิน รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องการเบิกจ่ายงบแบบรวด เร็วเป็นการเร่งด่วน ไม่ควรยึดระเบียบการเบิกจ่ายเงินตามระบบเช่นที่ผ่านมา
จะเห็นว่าในการประชุม ครม.นัดพิเศษ ได้มีการออกเกณฑ์การจ่ายงบประมาณเพื่อการฟื้นฟูว่า
1.เพื่อเยียวยาประชาชน โดยเฉพาะการจ่ายเงินให้ผู้ประสบอุทกภัยครอบครัวละ 5,000 บาท และการเยียวยาพื้นที่การเกษตรที่เสียหาย
2.งบดูแลฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ชำรุด ซึ่งต้องเร่งซ่อมแซม
3.งบเสริมเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เน้นให้เกิดกลไกการจ้างงานในชุมชนมากขึ้น
แต่หากวิเคราะห์ไส้ในจริงๆ จะพบว่ารัฐบาลมีเงินใช้ในตอนนี้ 2.7 หมื่นล้านบาท ถ้าจ่ายเงินให้ผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท ใน 62 จังหวัด และเขต กทม. รวมกว่า 2.63 ล้านครัวเรือน จะเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 1.31 หมื่นล้านบาท
เท่ากับว่ารัฐบาลจะมีเงินอีกเพียง 1.4 หมื่นล้านบาท ที่จะใช้เยียวยาด้านต่างๆ ซึ่งยังไม่นับรวมการจ่ายเงินชดเชยกรณีที่บ้านเสียหายครัวเรือนละ 2 หมื่นบาท และ 3 หมื่นบาท กรณีที่อุปกรณ์ทำกินได้รับความเสียหายจะได้รับเงินจ่ายชดเชยอีกครัวเรือนละ ไม่เกิน 1 หมื่นบาท
นอกจากนี้ ยังต้องจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรที่ผลผลิตเสียหาย และเงินที่ต้องจ่ายเพื่อซ่อมแซมวัด โรงเรียนอีกหลายพันแห่ง
นี่ยังไม่รวมกับงบที่ต้องใช้ฟื้นฟูโรงงานอุตสาหกรรมที่จมน้ำอีกไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท
เชื่อว่าภาระที่ว่านี้น่าจะหนักอึ้งเกินไปสำหรับยิ่งลักษณ์ เพราะหากความเสียหายอย่างที่รัฐบาลบอกว่ามี 1.3 ล้านล้านบาท เชื่อว่าในข้อเท็จจริงน่าจะมีมากกว่านี้อีกโข แต่เสียหายแค่เท่านี้ก็ดูท่าว่า รัฐบาลของยิ่งลักษณ์กำลังจะจมน้ำเสียแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะหาเงินจากไหนมาเยียวยา
เพราะในขณะนี้รัฐบาลมีกระสุนที่เตรียมไว้ฟื้นฟูประเทศแค่ 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่ความเสียหายมากมายกว่า 1.3 ล้านล้านบาท โดยที่แหล่งเงินจากแหล่งอื่นยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะมาจากไหน และเป็นเงินเท่าไร
คณะกรรมการที่ทำหน้าที่หาเงินระดมทุนก็ยังเพิ่งตั้งไข่งบปี 2555 ก็จำกัดจำเขี่ย
ผลที่จะตามมาหากมีการจัดสรรงบประมาณล่าช้าอาจทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เหงื่อตก เพราะยิ่งมีการเบิกจ่ายงบ จัดโครงการต่างๆ ล่าช้า ประชาชนและนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาของรัฐบาลมากขึ้น
ผลพวงสำคัญที่จะตามมารังควานอีกก็คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ งานนี้เชื่อว่าถ้าก่อนปีใหม่รัฐบาลยังไม่เร่งหาของขวัญปลอบใจประชาชน ปีหน้าก็น่าจะอยู่ลำบาก เพราะขาดฐานเสียงสนับสนุน
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี