สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไม่ใช่ขาดข้อมูล-ไม่มีผู้เชี่ยวชาญน้ำ/แต่ไม่มีใครอ่าน คู่มือบริหารภัยพิบัติ 50

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
อดิศักดิ์ ลิมปรุงพัฒนกิจ


ผมเห็นใจ "นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเรา" อย่างมาก ที่เมื่อเริ่มต้นบริหารประเทศ

    หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อปลายสิงหาคมก็ถูกทดสอบ "วุฒิภาวะผู้นำในภาวะวิกฤติ" จากภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ที่เป็นปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติที่ยากอย่างยิ่งต่อการจัดการหรือเอาชนะธรรมชาติ หากบุคคลนั้นๆ ไม่เคยผ่านประสบการณ์การตัดสินใจในภาวะวิกฤติหรือภาวะคอขาดบาดตายเป็นตายเท่ากันมามากพอ

   ไม่อยากตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ให้เสียกำลังใจในการบริหารจัดการภัยพิบัติของ "นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเรา" ในช่วงนี้ที่ถือเป็นช่วงวิกฤติที่สุดในการจัดการภาวะฉุกเฉินให้ผ่านพ้นภัยพิบัติไปให้ได้ ด้วยความเสียหายน้อยกับประชาชนและประเทศชาติน้อยที่สุด

   เพราะไม่ว่าจะสวมเสื้อสีอะไร จะใส่หน้ากากหน้าไหน จะสังกัดพรรคการเมืองใด จะเป็นสื่อแบบไหน จะเป็นประชาชนที่เลือกพรรคไหน จะเป็นเศรษฐีหรือยาจก หรือจะเป็นไพร่หรืออำมาตย์
   ห้วงเวลานับจากนี้ไปอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ จะเป็นช่วงวิกฤติที่สุดของมหาอุทกภัยของประเทศไทยปีนี้ ขอให้ทุกคนในประเทศนี้ร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าวิกฤติภัยพิบัติน้ำท่วมไปให้ได้ด้วยความบอบช้ำน้อยที่สุด

   แต่อยากจะตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยไม่ได้ขาด "ข้อมูล" ระดับน้ำในเขื่อนทุกเขื่อน ระดับน้ำในคลองทุกคลอง ภาพถ่ายทางอากาศแผนที่น้ำท่วม ฯลฯ  แต่สิ่งที่ขาด คือ การบูรณาการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ หรืออยู่ในหน่วยงานเดียวกัน

   น้ำท่วมครั้งนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าประเทศของเราไม่ได้ขาดผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติที่ดาหน้ากันออกมาเสนอแนะกัน  อย่างที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนว่านักวิชาการเหล่านี้ได้เฝ้าศึกษาการบริหารจัดการน้ำมาอย่างลึกซึ้งมากยิ่งกว่าหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบโดยตรง

   แทบไม่น่าเชื่อว่าๆ มหาวิทยาลัยของประเทศไทยล้วนแต่มีศูนย์วิจัยด้านภัยพิบัติที่มี "คนเก่ง" มากมาย และยังมี "นักคิดอิสระ" และบริษัทเอกชนที่มีความสนใจศึกษาการบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติปรากฏตัวออกมาอีกหลายคน

   ผมได้ลองค้นหาข้อมูลต่างๆ จาก Google พบว่าข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับระดับน้ำมีอย่างครบถ้วน และยังเป็นแบบ Realtime ที่สามารถนำมาใช้คาดการณ์พยากรณ์ล่วงหน้าได้ทุกอย่างเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ

   และที่สำคัญกว่านั้นในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ยังมีเอกสารสำคัญอยู่ 2 เล่มที่ไม่รู้ว่านักการเมือง ข้าราชการเคยได้อ่านหรือทำความเข้าใจบทเรียนการบริหารจัดการภัยพิบัติอย่างถ่องแท้หรือเปล่า

   หนังสือเล่มที่หนึ่งเป็นคู่มือการบริหารจัดการภัยพิบัติอย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุมที่ได้จัดพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม 10,000 เล่มแล้วแจกจ่ายไปตามหน่วยราชการต่างๆ มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 ประกอบด้วย
   คู่มือที่ 1 การตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจและประกาศภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
    คู่มือที่ 2 การอพยพหนีภัย
   คู่มือที่ 3 การค้นหาและกู้ภัย
   คู่มือที่ 4 การประเมินความเสียหายและการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การฟื้นฟูบูรณะโครงสร้างพื้นฐาน

 หนังสือเล่มที่สองเป็นรายงานการศึกษาเพื่อวางระบบบริหารจัดการในภาวะวิกฤติจากภัยพิบัติฉบับสมบูรณ์

  หนังสือทั้งสองเล่มได้ผ่านการศึกษามาอย่างเป็นระบบ ศึกษาบทเรียนจากภาคปฏิบัติและข้อผิดพลาดในการบริหารจัดการภัยพิบัติอุทกภัยในปี 2549 โดยศูนย์วิจัยภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์แบบทั้งในเชิงทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 แม้ว่าจะเต็มไปด้วยขั้นตอนต่างๆ ตามแบบราชการ แต่กฎหมายนี้ได้ให้อำนาจผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติโดยตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอย่างเต็มที่ ในการป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

   จึงไม่แปลกใจว่าการบริหารจัดการภัยพิบัติครั้งนี้ออกจะโกลาหลเอามากๆ  เพราะเริ่มต้นจากการจัดตั้งศูนย์บัญชาการอำนวยการบริหารจัดการภัยพิบัติครั้งนี้เป็นได้เพียงแค่ "ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย" (ศปภ.) ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน แทนที่จะเป็นนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

   ซึ่งไม่เป็นเช่นนี้อาจจะมาจากความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของนายยงยุทธเอง ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมให้เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาอุทกภัยทั้งระบบและดินโคลนถล่มที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ด้วยการผลิตผลงานยอดแย่ให้ "นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเรา" พูดไปแล้วกลับเสียรังวัดอย่างมาก คือ "บางระกำโมเดล" 2P2R ที่กลายเป็นการกินหัวคิวกัน จนป่านนี้บางระกำยังน้ำท่วมไม่แห้งเสียที

   มีความพยายามอธิบายคำสั่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง พล.ต.อ.ประชาให้เป็นผู้อำนวยการ ศปภ.ว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในคณะรัฐมนตรีชุดนี้  แต่ผลงานบริหารวิกฤติภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้ที่สับสนอลหม่านอย่างมาก ย่อมจะยิ่งทำให้คำว่า "ตัวเลือกที่ดีสุด" ทำได้แค่นี้เอง  แล้วรัฐมนตรีที่เหลือจะไม่ยิ่งแย่ไปกว่านี้อีกหรือ

   ความเห็นของผมที่เคยได้บอกไปแล้วว่า ทั้ง พล.ต.อ.ประชาและคุณยงยุทธล้วนแต่ไม่เหมาะจะเป็น "ผู้บัญชาการ" บริหารภัยพิบัติอุทกภัยครั้งนี้ที่รุนแรงมาก จำเป็นจะต้องให้ "นายกรัฐมนตรีหญิงของเรา" ลงมาบัญชาการเองโดยตรง
   เตือนไปแล้วว่า "นายกรัฐมนตรีหญิงของเรา" ไม่สามารถหลีกหนีความรับผิดชอบไปได้เลย หากการบริหารจัดการน้ำท่วมครั้งนี้ที่เลือกจัดตั้งองค์กรในระดับรัฐมนตรีเป็นประธาน จะมีโอกาสล้มเหลวสูงที่ไม่สามารถสั่งการระบบราชการให้เขยื้อนรับมือได้ทันกับวิกฤติใหญ่น้ำท่วมที่ทะลักทลายเข้ามาได้

   แต่เอาเถอะจะเอาอยู่หรือไม่ว่ากล่าวกันในยามนี้ไปมากกว่านี้ จะเป็นการบั่นทอนจิตใจคนทำงานให้หมดใจเกิดอาการท้อถอยไม่ทำงานอย่างทุ่มเทเพื่อให้ประเทศของเราผ่านพ้นห้วงเวลาวิกฤตินี้ไปได้ ขอให้ถือเป็นบทเรียนที่จะต้องมาชำระสะสางกันหลังวิกฤติครั้งนี้ผ่านพ้นไปแล้ว

    หากว่ากันตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ พ.ศ. 2550 ระบุว่า หน่วยงานโดยตรง คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่ในภัยพิบัติครั้งนี้กรมนี้ได้มีบทบาทอย่างไรไม่ปรากฏแน่ชัด แต่แน่ๆ คือ ไม่ได้เป็นแกนนำใน ศปภ.ที่ฟังแค่ชื่อก็น่าจะทำได้แค่ขอบเขตการประชาสงเคราะห์ผู้ประสบภัยที่เอาเข้าจริงก็ค่อนข้างล้มเหลว  แม้กระทั่งตัวเองยังเอาตัวไม่รอด  จนต้องเปลี่ยนโฆษก ศปภ.กันหลายคน  จนจำไม่ได้แล้วว่าโฆษกคนแรกชื่อเสียงเรียงนามว่าเป็นใคร  แล้วอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษาจะเป็นโฆษกคนสุดท้ายจนผ่านพ้นวิกฤติไปหรือไม่

    ในหนังสือคู่มือบริหารจัดการภัยพิบัติได้บอกไว้ว่าวัฏจักรการบริหารจัดการภัยพิบัติจะแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1. การป้องกันและลดผลกระทบ 2. การเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ 3. การจัดการในภาวะฉุกเฉิน และ 4. การจัดการหลังจากเกิดภัย

     มองจากสถานการณ์แล้วเรายังอยู่ในขั้นตอนที่ 3 และ 4 เท่านั้นเอง  หากยังบริหารจัดการไม่ดีอย่างที่เห็นกันอยู่มันอาจจะกลับไปเริ่มต้นใหม่ คือ ภาวะมหาวิบัติหลังน้ำท่วมที่อาจจะกลายเป็นกลียุคได้ไม่ยาก

     อยากจะให้ "นายกรัฐมนตรีหญิงของเรา" ตัดสินใจจัดระบบการบริหารภาวะภัยพิบัติใหม่อีกรอบ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเช่นนั้น    ด้วยการโละโครงสร้างแบบ ศปภ.แล้วกล้าๆ หน่อยลงมาจัดการเองจะจัดตั้งองค์กรใหม่เฉพาะกิจก็น่าจะดีกว่า ศปภ.เพื่อให้เป็นไปตามระบบบริหารจัดการในภาวะวิกฤติที่ถูกต้อง Incident Command System (ICS) ที่เป็น Single Command ตัดสินใจคนเดียวภายใต้คณะทำงานด้านข้อมูลที่ผ่านการศึกษากลั่นกรองอย่างถูกต้อง


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ไม่ใช่ขาดข้อมูล ไม่มีผู้เชี่ยวชาญน้ำ ไม่มีใครอ่าน คู่มือบริหารภัยพิบัติ 50

view