จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
สัมภาษณ์
อาจเป็น "กสทช." มือใหม่ แต่ไม่ใช่คนหน้าใหม่แต่อย่างใด เพราะ "กสทช.-ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์" เป็นอดีตผู้จัดการกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ สมัยที่ยังเป็นสำนักงาน "กทช." จึงมีความเข้าใจการทำงานทั้งต่อตัวองค์กรเดิม และการบริหารจัดการกองทุนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่สังคมจับตามอง หลังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือท้วงติง การบริหารจัดการกองทุน ซึ่งว่ากันว่าจะมีเม็ดเงินมหาศาล
"ประชาชาติธุรกิจ" ฉบับนี้มีโอกาสพูดคุยกับ "กสทช.-ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์" ในหลายแง่มุมดังต่อไปนี้
- มีภารกิจใดบ้างที่ต้องเร่งดำเนินการ
ตามกฎหมาย สิ่งแรกที่ต้องเร่งคือแผนแม่บทประกอบกิจการทั้ง 2 ด้าน ทั้งโทรคมนาคมและบรอดคาสติ้ง รวมถึงการจัดทำตารางบริหารคลื่นความถี่ โดยบอร์ดชุดเล็ก กสท. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์) และ กทค. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) ต้องนำมาหารือในคณะทำงานของตนเองก่อนนำเข้าที่ประชุมบอร์ดใหญ่ โดยต้องดำเนินการให้เสร็จเร็วที่สุด แต่ไม่เกิน 1 ปี
ถ้าไม่มีตารางความถี่ก็ผลักดัน 3G ให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดไม่ได้ 3G เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายในสังคมรอคอยและคาดหวัง ถ้าไม่มี 3 แผนแม่บทนี้ข้างต้นก็เกิดไม่ได้ เพราะครั้งที่แล้วศาลปกครองระบุชัดตอนระงับการประมูลครั้งก่อน
บอร์ด กสทช.จึงต้องนำทั้งหมดมา รีวิวใหม่ ขณะนี้ได้ให้ทีมงานนำร่างเดิมที่บอร์ดชุดที่แล้วทำไว้มาพรีเซนต์ เพื่อให้พิจารณาว่าจะดำเนินการแก้ไขส่วนใดบ้าง โดยหลักการ คือไม่รื้อใหม่หมด แต่แก้ไขบางประเด็น ส่วนตารางคลื่นความถี่จะใช้กรอบ ITU ซึ่งเป็นหลักสากลคงไมมีปัญหา มีแต่ส่วนของวิทยุสมัครเล่นอาจต้องปรับบางส่วน
ด้านบรอดแคสต์ที่ต้องมีการคืนคลื่นเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ ไม่น่ามีปัญหากับการประกาศตารางคลื่นความถี่ เพราะแม้คลื่นนั้นจะมีการใช้อยู่ก็ประกาศตารางได้ เพียงแต่ระบุในบทเฉพาะกาลว่าจะมีการดึงกลับมาจัดสรรใหม่เมื่อใด
- โครงสร้างองค์กรต้องเร่งไหม
เร่งครับ กทช.เดิมมีแต่บุคลากรด้านฝั่งโทรคมนาคม เมื่อเป็น กสทช. มีงานด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ต้องดูว่าส่วนไหนต้องแยกออกจากกัน และเรื่องไหนที่ต้องทำงานร่วมกัน ต้อง รีวิวว่า สำนักงานที่ดูแลคุ้มครองผู้บริโภค เดิม สบท. หรือที่ดูแลด้านการวิจัยและพัฒนา เดิมอย่างทรีดี้ จะอยู่ตรงไหนดี
ในระยะแรกคงทำเป็นโครงสร้างชั่วคราวไปก่อนเพื่อทดลองกับการทำงานจริงสักพัก จะได้รู้ว่าต้องปรับปรุงส่วนใดบ้างก่อนเป็นโครงสร้างจริง ประกาศไปแล้วมีปัญหาจะแก้ไขยาก
โครงสร้างองค์กรเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องลงรายละเอียดให้ได้ว่า แต่ละหน่วยภารกิจคืออะไร ปริมาณงานแค่ไหน ใช้คนเท่าไร ทั้งได้ให้ฝ่ายกฎหมายดู หลาย ๆ ส่วน เช่น กรณี กสทช.จะกระจายอำนาจงานส่วนใดได้บ้างเพื่อให้งานเร็วขึ้น เช่น ใบอนุญาตที่ไม่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรใหม่หรือคลื่นใหม่
- มั่นใจว่า 3G ไปได้เร็ว
เป็นเรื่องที่ต้องเร่ง เพราะทุกคนรอคอย และ กสทช.เกือบทุกคนหาเสียงไว้หากประกาศใช้ 3 แผนแม่บทแล้ว ตามกระบวนการคงต้องยื่นขอศาลให้ยกเลิกการคุ้มครองชั่วคราว ส่วนกระบวนการที่เกี่ยวกับการประมูลที่มีอยู่เดิมคงต้องมีการทบทวนใหม่ อาทิ การคำนวณมูลค่าคลื่น หรือแม้แต่จำนวนใบอนุญาต N-1 แม้จะคิดว่ายัง OK อยู่
ส่วนเรื่องการประมูล กฎหมายกำหนดชัดเจนคงเลี่ยงไปใช้วิธีอื่นไม่ได้ แต่จะประมูลวิธีไหน ยื่นซองพร้อมกันใครถูกสุดได้ไป หรือแบบใดต้องทบทวน
ผมเองคงไม่สามารถบอกได้ว่าข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมาทำให้คนทั้งประเทศเห็นว่า ความล่าช้าเกิดผลเสียเยอะมาก
- เคยดูแลกองทุน มองข้อสังเกตของ สตง.อย่างไร
ที่กังวลว่าจะมากไป ใหญ่ไป ต้องย้อนกลับไปดูวัตถุประสงค์ว่าเพื่ออะไร 1 ในนั้นคือต้องสนับสนุนวิทยุชุมชน ซึ่งกฎหมายระบว่า ไม่ให้มีโฆษณา ถ้าจะให้วิทยุชุมชนอยู่ได้มีคุณภาพ ต้องใช้สตางค์เยอะ ซึ่งเราคงต้องไปสนับสนุน อย่าไปมองว่ากองทุนจะเล็กหรือใหญ่ ในกฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน มีคณะกรรมการติดตามประเมินผล มีการเปิดเผยข้อมูลอยากให้ทำไปก่อน มีปัญหาค่อยแก้กันได้
- ต่างจาก USO เดิมที่เคยบริหารไหม
กองทุนเดิมบอร์ด กทช.มีอำนาจดูแลทั้งหมด กองทุน USO จึงเปรียบได้กับธนาคาร คือ แค่เซ็นเช็คจ่ายให้กับโครงการที่บอร์ด กทช.อนุมัติแล้ว แต่กองทุนใหม่มีคณะกรรมการบริหารต่างหาก มี 5 คนมาโดยตำแหน่ง อาทิ เลขาฯสภาพัฒน์ ปลัดสำนักนายกฯ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นต้น กลุ่มนี้จะเลือกกรรมการอีก 5 คน วิธีบริหารจะเป็นอย่างไร ต้องรอให้กรรมการบริหาร ชุดนี้เสนอกสทช.เพื่อให้อนุมัติ เป็นอีกเรื่องที่ต้องเร่ง ถ้ากองทุนตั้งได้ช้าก็ไม่สามารถใช้เงินทำโครงการต่าง ๆ ได้
- ข้อกังวลในการบริหารเงินกองทุนใหม่
ก็มีอยู่บ้าง เพราะกรรมการบริหารครึ่งหนึ่งมาโดยตำแหน่ง ซึ่งแต่ละคนมีภารกิจประจำมากอยู่แล้ว ถ้าไม่กระจายงานให้ดีอาจทำให้การบริหารจัดการล่าช้า และยิ่งถ้ากรรมการผู้เชี่ยวชาญอีกครึ่งหนึ่งที่ต้องแต่งเข้ามามีงานประจำอยู่ด้วยก็จะยิ่งช้า
อีกเรื่องคือหน่วยงานที่จะมาสนับสนุนการทำงาน ถ้าเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงาน กสทช. จะมีขั้นตอนการทำงาน จะใช้เงินตั้งเบิกคลังกลางทำให้ช้า จึงต้องดีไซน์องค์กรให้มีหน่วยงานสนับสนุนการทำงานกองทุนเฉพาะดีกว่า
- คิดอย่างไรกับที่คนมองเป็น กสทบ.
กฎหมายกำหนดกระบวนการ และผลการสรรหาเป็นแบบนี้แล้วจะทำอย่างไรได้ องค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อก็ส่งมาแบบนี้ กรรมการสรรหาก็เลือกมาแบบนี้ ถ้ามองอีกมุมก็มองได้ว่า เทคโนโลยีสื่อสารส่วนใหญ่ทั่วโลก ทหารเป็นคนริเริ่มพัฒนา ขณะที่การคัดเลือกครั้งนี้เป็นครั้งแรก
- ควรมีความสัมพันธ์กับรัฐระดับไหน
ในเชิงนโยบายคงต้องดูนโยบายรัฐและรับมาปฏิบัติในกรอบกว้าง ๆ แต่ในกรอบแคบ อาทิ นโยบายที่รัฐบาลใช้หาเสียงหรือประชานิยม ต้องดูความเหมาะสม อย่างฟรี Wi-Fi รัฐบาลควรใช้เงินงบตนเอง แต่ถ้าเป็นการประสานในเชิงนโยบายให้ กสทช.กำกับผู้ประกอบการให้ขยายบริการทั่วถึงทำได้ กสทช.เป็นองค์กรกำกับดูแลจึงต้องเป็นกลาง
- สิ่งที่อยากผลักดันเป็นส่วนตัว
ในฐานะที่ใกล้ชิดคุ้นเคยกับองค์กรนี้อยากปรับให้การทำงานกระชับขึ้น มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ขณะที่การกำกับดูแลกิจการในฐานะที่เป็น 1 ใน กทค. มองว่า จะทำอย่างไรให้การบริหารจัดการโทรคมนาคมไทยดีขึ้น ทุกทั้งเชิงเศรษฐศาสตร์และมิติสิ่งแวดล้อม
โครงสร้างตลาดโทรคมนาคมไทยยังไม่เกิดการแข่งขันสมบูรณ์ เพราะมี ผู้ประกอบการน้อยราย โทร.พื้นฐานแค่ 2 เจ้า กินมาร์เก็ตแชร์ 80% มือถือ 3 เจ้า กินแชร์ 95% ทำอย่างไรจะแข่งขันมากขึ้น ส่วนการปลดล็อกสัมปทานเป็นใบอนุญาตสนับสนุนเต็มที่ แต่ไม่ใช่อำนาจที่จะเข้าไปตัดสินได้ ปัญหาสำคัญอยู่ที่การจ่ายผลตอบแทน ทั้งอยากผลักดันการคุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุก โดยให้ข้อมูลต่าง ๆ ไม่ต้องรอให้ร้องเรียน
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี