จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวการเงิน
สาเหตุของความกังวลในเรื่องปัจจัยเสี่ยงของเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นในอนาคต ถือเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 3.50%
แม้การตัดสินใจรอบนี้ คณะกรรมการจะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ย 5 ต่อ 2 ก็ตาม
แต่ก็ถือว่า การขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ครั้งนี้ ยังเป็นไปตามที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ และสามารถรักษาความเป็นอิสระในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินไว้ได้อย่าง แท้จริง
แม้ว่า ก่อนการประชุมของ กนง.จะมีแรงกดดันออกมาจากฝ่ายการเมืองที่ประสานไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ที่ต้องการให้ ธปท.ตรึงดอกเบี้ยนโยบายในระดับเดิมออกไปก่อน
ขณะที่ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ที่สั่งให้หน่วยงานในสังกัดไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการขยายกรอบเพดานเงิน เฟ้อออกไป โดยหวังจะใช้เรื่องของอัตราดอกเบี้ยต่ำมาเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้าง ผลงานให้กับรัฐบาล
ที่สำคัญนโยบายของรัฐบาลที่กำลังจะทยอยกันออกมาหลังจากแถลงนโยบายของ รัฐบาลต่อรัฐสภาผ่านพ้นไป มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ทำให้เกิดการใช้จ่ายของประชาชนจะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีอยู่แล้วขยายตัวมากยิ่งขึ้น และหากอยู่ในระดับสูงเกินศักยภาพเศรษฐกิจของไทย ก็จะเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อยิ่งเพิ่มมากขึ้น ธปท.จึงจำเป็นต้องสกัดการพุ่งของเงินเฟ้อไว้ก่อน
การตัดสินใจของ กนง.ครั้งนี้ จึงถือเป็นด่านแรกที่ ธปท.ไม่สนแรงเสียดทานทางการเมือง อาศัยความเป็นองค์กรอิสระในการตัดสินใจตามกรอบที่ได้ตกลงไว้กับรัฐบาลชุด ก่อน ที่ได้กำหนดเป้าหมายในการดูแลเงินเฟ้อในปี 2554 ไว้ว่า
“กนง.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบร่วมกันที่จะยังคง ใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสที่ 0.5-3.0% ต่อปี ซึ่งเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 โดยเห็นว่ายังคงเป็นเป้าหมายที่มีความเหมาะสมในการช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจ ไทยมีเสถียรภาพและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะต่อไป ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเป้าหมายดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2553”
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ก็อยู่ในระดับสูงกว่ากรอบที่ได้ตกลงกันไว้ เมื่ออยู่ระดับที่ 4.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 3.0% อันเป็นผลมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทอาหารสำเร็จ รูปและเนื้อสัตว์ อาหารสด
ประเภทผักผลไม้ และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ
แต่ใช่ว่าการพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ในแต่ละครั้ง จะอยู่ภายใต้กรอบแคบๆ ดูแค่เรื่องอัตราเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียวไม่ แต่ยังให้ความสำคัญกับการดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเสถียรภาพด้านอื่นๆ อาทิ ภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน ภาคสถาบันการเงิน และตลาดการเงินอีกด้วย
ทั้งนี้ ทาง กนง.ยังเห็นว่า ดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังอยู่ใน ระดับต่ำกว่าปกติ ทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบอยู่ในระดับสูงโดยก่อนหน้าที่ดอกเบี้ย นโยบายปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะติดลบอยู่ 0.6% แต่หลังจากดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นรอบนี้ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบเหลือ 0.35% ทำให้ดอกเบี้ยในตลาดมีความใกล้เคียงกันและอยู่ในระดับสมดุลมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์ของทางธนาคารไทยพาณิชย์ยังเห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่า กนง.อาจไม่หยุดการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.50% เนื่องจากผลการประชุมของ กนง.ครั้งล่าสุด ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับนี้ ในขณะที่การใช้จ่ายในประเทศยังขยายตัวได้ดี บวกกับยังมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเกินกว่ากรอบที่ กนง.ได้กำหนดไว้ในต้นปีหน้า
ทำให้การประชุม กนง.ครั้งต่อไป อาจมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก
แต่เป็นการปรับขึ้นจากระดับปัจจุบันไม่มากนักและในระยะยาวคงไม่เกิน 4% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบเหลือเพียง 0.35% เท่านั้น
จึงเท่ากับว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับขึ้นได้ไม่เกิน 0.25-0.50%
นอกจากนี้ ยังให้จับตาดูการประชุม กนง.ที่จะมีขึ้นในเดือน ต.ค.นี้ ว่าปัจจัยเรื่องการชะลอของเศรษฐกิจเป็นหลัก เนื่องจากประเด็นเรื่องเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ ธปท.จำเป็นต้องชะลอการขึ้นดอกเบี้ยอาจมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วยว่า จะกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.เปิดเผยถึงนโยบายการเงินในระยะต่อไปของ ธปท.ว่า นอกจากจะต้องประเมินความเสี่ยงของเงินเฟ้อแล้ว ยังจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ด้วย เพื่อให้นโยบายการเงินสอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจด้วย หากนโยบายการเงินสามารถควบคุมแรงกดดันและการคาดการณ์เงินเฟ้อได้ ก็จะช่วยรักษาต้นทุนของภาคธุรกิจให้อยู่ในระดับต่ำได้ในระยะยาวได้
ผู้ว่าการ ธปท.ยังย้ำอีกว่า ผู้บริหารนโยบายเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของภาครัฐ หรือ ธปท.ต่างมีเป้าหมายเศรษฐกิจเดียวกัน คือการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและทั่วถึง ซึ่งในส่วนของแบงก์ชาติก็ได้ยึดมั่นในเป้าหมายนี้มาโดยตลอดโดยในส่วนของ ธปท.เองมีหน้าที่หลักคือ การรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน โดยการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ตลอดจนความมั่นคงและ
ความมีประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน
ทุกท่านในที่นี้คงเห็นพ้องต้องกันว่า ทั้งเป้าหมายเศรษฐกิจของประเทศและเป้าหมายของแบงก์ชาติต่างก็เป็น
เป้าหมายในระยะยาวที่ต้องอาศัยการมองไกลไปข้างหน้าทั้งสิ้น ดังนั้นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบโดยไม่หวังเพียงผลดีในระยะสั้น ที่อาจส่งผลกระทบทางลบที่ยากจะแก้ไขในระยะยาว ซึ่ง ธปท.พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการดูแลเศรษฐกิจให้ลุล่วงตามเป้าหมายที่ ได้ตั้งไว้
เป็นการส่งสัญญาณจากผู้ว่า ธปท.ที่พร้อมให้ความร่วมมือรัฐบาลในระดับหนึ่ง หากเห็นว่าไม่ส่งผลจนเสียหายต่อประเทศในระยะยาวมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วก็เชื่อได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเมื่อวันที่ 24 ส.ค.นี้ อาจเป็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายในปีนี้ก็ว่าได้ แม้ในปีนี้ กนง.จะเหลือการประชุมอีก 2 ครั้งก็ตาม
เพราะถึงอย่างไรรัฐบาลก็คงต้องออกแรงกดดันไม่ให้ กนง.ขยับดอกเบี้ยไปมากกว่านี้อีกแน่ แม้ตัวเลขเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบที่กำหนดไว้ตาม
เนื่องจากทางรัฐบาลเองก็ต้องการใช้มาตรการด้านดอกเบี้ยเป็นส่วนหนึ่งใน การลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนหรือสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการราย ใหม่ได้เกิดขึ้น ใช้เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดกำลังจับจ่ายใช้สอยในระบบมากขึ้น เพื่อดันให้เศรษฐกิจเติบโตให้ได้มากที่สุด รักษาคะแนนนิยมของรัฐบาลไว้ไม่ให้ตก
สุดท้ายแล้ว หากเศรษฐกิจไม่มีแนวโน้มเลวร้ายหรือร้อนแรงเกินไป เชื่อว่า ธปท.คงต้องยอมพบกันครึ่งทางกับรัฐบาล เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้บริหารประเทศตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ เพื่อรอดูผลที่จะตามมาอีกระยะเวลาหนึ่งก่อนก็ยังไม่สาย
แนวโน้มของดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้จึงน่าจะหยุดไว้ที่ 3.50% แค่นี้เพื่อเธอ
ยกเว้นเงินเฟ้อวิ่งทะเล่อทะล่าไม่หยุด...
เพราะในสถานการณ์ของวิกฤตโลกที่เกิดขึ้นนั้นได้ทำให้การทำมาหากินฝืด เคืองหนัก ขณะที่ต้นทุนทางด้านราคาน้ำมันก็ยังวิ่งหน้าตั้งไม่หยุด หากขึ้นดอกเบี้ยไปกว่านี้เห็นทีผู้ประกอบการจุกอกกว่านี้แน่...