สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

องคมนตรีเปิดข้อมูล 3 ตัวอย่าง! หนี ให้อภัยโทษไม่ได้

จากประชาชาติธุรกิจ



@ องคมนตรีเผย "ในหลวง" ทรงใช้สมาธิมาก

เมื่อ เวลา 09.00 น. วันที่ 2 กันยายน ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จ.นนทบุรี นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง "การส่งเสริมการจัดทำจรรยาข้าราชการของส่วนราชการ และการสร้างมาตรฐานความโปร่งใสในภาครัฐ" พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และความโปร่งใสในภาครัฐ" โดยนายอำพลกล่าวตอนหนึ่งว่า ขอบคุณสำนักงาน ก.พ.ที่เชิญมาบรรยาย เพราะคิดว่าตนเป็นอำมาตย์ที่ยังมีคุณธรรมและจริยธรรม ในภาวะหลายคนบอกว่าพวกอำมาตย์ไม่ค่อยดีเท่าไร อย่างไรก็ตาม สำหรับหลักทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงถือปฏิบัติตลอด 52 ปีที่ทรงครองราชย์ และทรงปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด รวมถึงการพิจารณาฎีกาของนักโทษ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะทูลเกล้าฯขอพระราชทานอภัยโทษได้ ต้องเป็นผู้ที่เคยต้องโทษมาแล้ว เคยจำคุกมาแล้ว ไม่ใช่ว่าลอยตัวอยู่แล้วหนีไปที่อื่น แต่มีตัวอย่างว่ามีอยู่ 3 ราย ที่มีเรื่องค้างอยู่แล้วหนีไปที่อื่นอันนี้ไม่ได้ นอกจากนี้คนที่จะขอพระราชทานอภัยโทษต้องเป็นญาติพี่น้องใกล้ชิด ไม่ใช่ให้คนอื่นมาขอให้

"ในแต่ละปีทรงพิจารณาปล่อยผู้ต้องขังปีละ หลายร้อยคดี เพราะมีการเสนอขอพระราชทานอภัยโทษมาก ลองคิดดูว่าขณะนี้พระชนมพรรษาขนาดนี้แล้ว ยังต้องทรงอ่านหนังสือละเอียด ก็ถือเป็นงานที่หนักมาก แม้จะมีเจ้าหน้าที่ช่วยกลั่นกรองและกราบบังคมทูลฯความเห็นก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้สมาธิมาก พระองค์ท่านจะพิจารณาคำบอกเล่า หรือคำกราบบังคมทูลฯ ต่างๆ อย่างรอบคอบ" นายอำพลกล่าว

ต่อมา นายอำพลให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้ตั้งใจพูดถึงอดีตนายกรัฐมนตรี แต่พูดถึงข้าราชการทั่วๆ ไปที่ลืมตัว หรือใช้อำนาจผิดไป ซึ่งสมัยที่ตนรับราชการเมื่อ 17 ปีก่อน พบว่าหลักธรรมที่ขาดกันมากที่สุดคือ ความซื่อสัตย์สุจริต การทุจริตในเชิงนโยบาย และบางคนกลัวคำสั่งนักการเมืองมากเกินไปจนทำให้ประพฤติตนผิดพลาด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีปัญหาเช่นนี้อยู่ เพราะแต่ละคนพันธุกรรมไม่เหมือนกัน มีสันดานไม่เหมือนกัน บางคนดี บางคนไม่ดี และมีโอกาสทำผิดพลาดมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นห่วงสถานการณ์ในวันที่ 19 กันยายนหรือไม่ เพราะกลุ่มคนเสื้อแดงประกาศล้มอำมาตย์ให้ได้ นายอำพลกล่าวว่า ไม่อยากให้ความเห็น ขอให้ไปอ่านหนังสือพิมพ์ หรือฟังจากที่มีผู้วิเคราะห์ข่าว

"หากผมอยู่ในสถานะข้าราชการ เกษียณคงพูดได้ แต่เป็นองคมนตรี ถ้าพูดปุ๊บ เขาจะหาว่าผมคิดอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งไม่ได้ เราต้องพยายามเป็นอำมาตย์ที่เป็นกลาง คุณคิดในใจได้ แต่พูดไม่ได้ เพราะจะไม่เป็นกลาง" นายอำพลกล่าว เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการโจมตีและพาดพิงองคมนตรีค่อนข้างมาก นายอำพลกล่าวว่า "เขาบอกว่าอำมาตย์ลงมา ผมก็เป็นองคมนตรีในลำดับที่ 8 เขากะแยกอำมาตย์จากประธานองคมนตรีลงมา ผมอยู่ในระดับ 8 ก็โดนเหมือนกัน ถ้าตอบไม่ดีผมโดนแน่"

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.สส. ในฐานะพี่ชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า บางฝ่ายพยายามกั้นไม่ให้พระองค์ใกล้ชิดกับประชาชน นายอำพลกล่าวว่า "ใครกัน ไม่ทราบครับ อำมาตย์หรือ ถ้าไปเปิดพจนานุกรมดูจะแปลว่าข้าราชการผู้ทำงาน"
.......................
ที่มา : มติชนรายวัน วันที่ 03 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11499


 

องคมนตรี อำพล ย้ำต้องรับโทษแล้วจึงถวายฎีกา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
องคมนตรี ระบุอดีตผู้นำบางคนไม่ยึดหลักทศพิธราชธรรม ลืมตัว ทุจริตเชิงนโยบาย ระบุถวายฎีกาต้องเป็นผู้ต้องโทษ หรือถูกจำคุกแล้ว ไม่ใช่ ผู้หนีคดี

ส่วน ใหญ่ถวายฎีกาด้วยต้องโทษประหารชีวิต ส่วนใหญ่จะทรงลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ระบุผู้นำบางคนมีแต่กิเลส ตัณหา อยากรวยไม่สิ้นสุด รวยแล้วไม่เคยทำบุญ วันมาฆบูชาไปตีกอล์ฟ ไปฮ่องกง ย้ำ"ในหลวง"ไม่เคยละเมิดรัฐธรรมนูญ ทรงวางตัวเป็นกลางทางการเมือง มี อวิหิงสา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่สนับสนุนตีไก่ แข่งม้า

เมื่อวันพุธที่ 2 กันยายน 2552 นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนา “การส่งเสริมการจัดทำจรรยาข้าราชการของส่วนราชการและการสร้างมาตรฐานความ โปร่งใสในภาครัฐ” พร้อมมอบรางวัลให้แก่ส่วนราชการที่มีผลงานดีเด่น ด้านการจัดทำข้อบังคับว่าด้วยจรรยาข้าราชการของส่วนราชการ เช่น กรมอนามัย กรมราชทัณฑ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ณ หอประชุมสุขุมนัยประดิษฐ  สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) จังหวัดนนทบุรี 

จากนั้น ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและความโปร่งใสในภาครัฐ" โดยยกพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งมั่นให้ประชาชนเป็นคนดี เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ และความอยู่เย็นเป็นสุขของพสกนิกร ผ่านการพระราชทานพระบรมราโชวาท กระแสพระราชดำรัส ว่า การพัฒนาจรรยาข้าราชการและสร้างความโปร่งใส จำเป็นต้องสร้างจิตสำนึกให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ

โดยแนวทางหนึ่งที่ทำได้ คือการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประพฤติตามหลักทศพิธราชธรรม 10 ประการ เพราะตลอด 62 ปีที่ทรงครองราชย์ ทรงมีแนวคิดให้คนไทยเป็นคนดี ดังนั้น ธรรมะที่พระองค์ทรงยึดถือมาตลอด คือ ทศพิธราชธรรม และหลักธรรมอื่นๆ ของพระพุทธศาสนา

ที่ผ่านมา พระองค์พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บุคคลต่างๆ ทั้งระดับผู้นำ เช่น ผู้นำฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และ ตุลาการ การพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิตใหม่จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ติดต่อกัน 48 ปี ตั้งแต่ปี 2493-2541 ปริญญาบัตรกว่า 5 แสนฉบับ ใช้เวลากว่า 2 หมื่นชั่วโมง รวมทั้งการพระราชทานพระบรมราโชวาทในวาระสำคัญๆ เช่น วันที่ 4 หรือ 5 ธันวาคม ของทุกๆ ปี และวันขึ้นปีใหม่ เพราะพระองค์ต้องการให้คนเหล่านี้เป็นคนดี ซื่อสัตย์ สุจริต ซื่อตรง  รับผิดชอบ ละอายต่อบาป และทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง

หลักทศพิธราชธรรมที่พระองค์ทรงใช้เป็น แนวทางมาตลอด ได้แก่ 1.ทาน หรือ การให้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ขัดสน ไม่เน้นเชื้อชาติหรือศาสนาใด โดยเฉพาะการสละพระราชทรัพย์ สร้างโรงพยาบาลและพัฒนาการแพทย์ และการตั้งมูลนิธิต่างๆ รวมถึงการให้ความรู้และวิทยาทาน 2.ศีล คือ การรักษาความดีงาม เช่น ทรงรักษาศีล 5 สำรวมกาย วาจา และ ใจ ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยกฎหมายและหลักศาสนา 3.บริจาค คือ เสียสละความสุขส่วนตน ไม่เห็นแก่ตัว 4.อาชชวะ คือ ความซื่อตรงต่อคุณธรรม ต่อตนเองและผู้อื่น ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

5.มัททวะ คือ อ่อนโยน สุภาพทั้งกาย วาจาและใจ มีสัมมาคารวะอ่อนน้อม ไม่แข็งกระด้างไม่เย่อหยิ่ง ไม่ยกตนเหนือคนอื่น ไม่ใช่อำนาจรุนแรง ทำให้คนรักและภักดี แต่ไม่ขาดความยำเกรง ซึ่งข้าราชการผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ไม่มีข้อนี้ ใช้คำว่ามึงกูกับผู้ใต้บังคับบัญชา  6.ตบะ หรือความเพียรข่มกิเลสตัณหา เพียรเผากิเลสกล้า ทำในสิ่งที่ควรทำ ไม่เกียจคร้าน มีจิตใจหนักแน่น และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค 7.อักโกธะ คือ ไม่แสดงอาการโกรธ รู้จักให้อภัย ข่มใจ และมีเหตุผล ไม่ลงโทษผู้ใด แต่จะสั่งสอนแทน

 8.อวิหิงสา คือ ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนทั้งทางตรงและทางอ้อม  เมตตากรุณา ให้อภัยเสมอ ก่อนดำเนินการอะไรต้องถามความเห็นประชาชนก่อน เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เมื่อประชาชนไม่เห็นด้วย ก็ไม่ดำเนินการต่อ ไม่สนับสนุนการตีไก่หรือแข่งม้า  9.ขันติ คือ อดทนต่อกิเลส อดทนต่อทุกขเวทนา โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงที่พระองค์ใช้สมาธิมาก รับฟังการกราบบังคมทูลต่างๆ โดยพิจารณาด้วยความรอบคอบ และ 10.อวิโรธนะ คือ ความไม่คลาดจากธรรม หนักแน่นตั้งมั่นในธรรม ยึดมั่นความถูกต้อง เที่ยงธรรม ศีลธรรม และ หลักกฎหมาย

นายอำพล ย้ำว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด และใช้อำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติผ่านฝ่ายบริหาร ตุลาการ และ นิติบัญญัติ หรือรัฐสภา ซึ่งบางเรื่องหากพระองค์ไม่เห็นด้วยจะส่งกลับมาให้รัฐบาลดำเนินการ แต่พระองค์ไม่เคยทำผิดรัฐธรรมนูญ และไม่ทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แม้พระองค์จะมีสิทธิเลือกตั้งทุกครั้ง แต่ท่านไม่ใช้สิทธินี้ เพราะพระองค์ทรงเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง

นายอำพล กล่าวด้วยว่า แม้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอำนาจพิเศษพิจารณาอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษที่ผ่านการพิพากษา 3 ศาล ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา โดยเฉพาะผู้ต้องโทษประหารชีวิต มีสิทธิทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานอภัยโทษ โดยส่วนใหญ่จะทรงลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งทุกคนทราบว่าการทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานอภัยโทษนั้น ต้องเป็นผู้ต้องโทษ หรือ ผู้ถูกจำคุกแล้ว ไม่ใช่ ผู้หนีคดี ซึ่งมีตัวอย่างอยู่ในขณะนี้ และการขอพระราชทานอภัยโทษนั้น ต้องให้ญาติพี่น้องที่ใกล้ชิดเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ขอ ไม่ใช่ให้คนอื่นมาขอพระราชทานอภัยโทษแทน เช่นนี้ไม่ได้

ส่วน บริจาค ก็ไม่เคยสละความสุขส่วนตัว  อาชชวะ ความซื่อตรง เห็นชัดเรื่องการแต่งตั้ง  มัททวะหรือความอ่อนโยน ก็ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเป็นผู้ก้าวร้าวดูถูก ผู้ไม่เห็นด้วย สำหรับ ตบะ ก็ไม่มี มีแต่กิเลส ตัณหา อยากรวยโดยไม่สิ้นสุด ทำธุรกิจอะไรก็หวังกำไร  แม้ปัจจุบันไปทำเหมืองเพชรอยู่ ส่วน อักโกธะ ก็เป็นคนโกรธง่าย ไม่เชื่อคนอื่นแนะนำ เชื่อคนรอบตัว  ส่วนอวิหิงสา หรือไม่เบียดเบียน แต่เบียดเบียนคู่แข่งด้วยเงิน อำนาจ ซื้อโฆษณาหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ บังคับให้ออกรายการ หรือซื้อหุ้นคู่แข่ง ขณะที่เรื่องขันติ  ไม่มีความอดทน ขาดความรอบคอบ ปรับปรุงระบบราชการ โดยอ้างว่าตั้งมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ยังไม่เคยปรับปรุง จนผ่านมา 10 ปีแล้ว ก็ยังปรับปรุงไม่เสร็จ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ เรื่องของอวิโรธนะ จะเห็นว่าไม่ตั้งมั่นในธรรม ไม่มีความโปร่งใส มีพิรุธ

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549 ขอให้ประชาชนรักษาจิตใจและคุณธรรม 4 ประการ ได้แก่ 1.ให้ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดีต่อกัน หรือมีเมตตาธรรม 2.การที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานประโยชน์กัน ทั้งผู้อื่นและประเทศชาติ หรือ สามัคคีธรรม  3.ทุกคนประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสุจริตในกฎกติกาและระเบียบแบบแผน เท่าเทียมกัน สุจริตธรรม และ 4.การที่ต่างคนต่างทำความคิดเห็นของตนให้ถูกต้องเที่ยงตรง อยู่ในเหตุในผล หรือมโนสุจริต หากข้าราชการได้คิดสิ่งที่พระองค์พระราชทานไว้ให้ ประเทศชาติก็จะดำรงอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข"

"อำพล" ระบุอดีตผู้นำลืมตัวใช้อำนาจเพื่อตัวเอง

นายอำพล เสนาณรงค์ ได้ยกกรณีการพระราชทานพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสให้บุคคล 4 กลุ่มด้วย คือ 1. องคมนตรี ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ และหน่วยงานอิสระ 2.พระราชทานปริญญาบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษา 3.ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ตำรวจ ครู อาจารย์ ลูกเสือชาวบ้าน และ 4. ประชาชนทั่วไป

โดยยกพระราชดำรัสที่พระราชทานในวันลูก เสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2512 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติ คือ "ต้องสนับสนุนคนดีให้ปกครองบ้านเมือง คนไม่ดีก็ต้องควบคุมไม่ให้มีอำนาจก่อความวุ่นวายได้"

นอกจากนี้ นายอำพล ยังได้อัญเชิญพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงยึดทศพิธราชธรรม เป็นแนวปฏิบัติ เป็นหลักธรรมที่พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึง ประชาธิปไตยปฏิบัติสืบต่อมา

อัดผู้นำบางคนลืมตัว หลงอำนาจ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เราเห็นความไม่สำเร็จของผู้นำบางคน ซึ่งตอนนั้น ตนไม่พอใจ และขณะนี้ ท่านนั้นอยู่ในต่างประเทศ เช่น ทาน รวยแล้วไม่เคยทำบุญ วันมาฆบูชา วันหยุดก็ไม่เห็นว่าเข้าเฝ้าในหลวง แต่กลับไปตีกอล์ฟ ไปฮ่องกง หรือกรณีเจ้านายไปทำบุญที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามวันพระหรือวันสำคัญ ก็จะพบข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองอยู่ที่นั่น ส่วนเรื่องศีล ก็ดำเนินนโยบายผิดพลาด ไม่โปร่งใส ทุจริตเชิงนโยบาย

"พระองค์ทรงรับสั่งว่าเวลานี้ผู้ที่มี อำนาจมาก มักลืมตัวกับสิ่งยั่วใจ คิดว่าตัวเองเหนือผู้อื่น โดยเฉพาะข้าราชการผู้ใหญ่อย่าลืมตัว ลืมใจ การมีอำนาจออกคำสั่งเอง ลดภาษีตัวเอง หรือซื้อหุ้นต่างๆ เป็นเรื่องอำนาจ พระองค์ไม่ทรงเคยบำเพ็ญพระราชกรณียกิจละเมิดรัฐธรรมนูญ"

ชี้นักการเมืองสั่ง-แต่ข้าราชการต้องรับผิด

 นายอำพล ยังให้สัมภาษณ์ภายหลังกล่าวปาฐกถา ว่า สิ่งที่ตนพูดตอนท้าย เป็นสิ่งที่ข้าราชการผู้ใหญ่ทั่วไปบางคนที่ขาดและลืมตัวใช้อำนาจที่ผิดไป และในทศพิธราชธรรม ที่ยังมีให้เห็นตั้งแต่อดีตสมัยตนรับราชการ คือ ความซื่อสัตย์ โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตเชิงนโยบาย ผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะนักการเมืองจะเป็นผู้ออกคำสั่ง แต่เมื่อมีความผิดจะไม่ตกกับตัวเอง เพราะมีประสบการณ์ในการหลบเลี่ยง

"สิ่งที่พูดไม่ได้หมายถึงอดีตนายกฯ คนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงข้าราชการทั่วไป ที่เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วอาจจะลืมตัวใช้อำนาจในทางที่ผิดไป รวมทั้งขาดความสุภาพอ่อนโยน ซึ่งต่างจากในหลวงของเรา ซึ่งจะมีความสุภาพอ่อนโยนและไม่เคยดูถูกคนอื่น แต่จะให้เกียรติคนอื่นเสมอ ส่วนสิ่งที่ข้าราชการขาดมากที่สุดในหลักทศพิธราชธรรม 10 ข้อ น่าจะเป็นเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งในเรื่องของการทุจริตในเชิงนโยบายก็มีให้เห็นมาก เกรงกลัวคำสั่งของผู้บังคับบัญชาระดับสูงและนักการเมืองมากเกินไป จนทำให้ประพฤติตนผิดพลาด และเมื่อผิดพลาดแล้วความผิดก็มาตกที่ตัวเองมากกว่าผู้ที่สั่ง"

จี้ทุกฝ่ายยุติกล่าวอ้าง"สถาบัน"

นายอำพล ยังกล่าวถึง การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่บางฝ่ายอ้างสถาบันว่า ตนไม่ทราบ เพราะไม่ได้ติดตามเรื่องนี้ และทราบข่าวเท่าที่เห็นในหนังสือพิมพ์เท่านั้น ส่วนกรณีที่การเรียกร้องให้ฝ่ายที่อ้างสถาบันยุติการอ้างได้หรือไม่ ตนก็ไม่ทราบเช่นกัน ส่วนข้อแนะนำในเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงตามหลักทศพิธราชธรรมใน ช่วงนี้นั้น นายอำพล ให้ความเห็นว่า ต้องการให้การแต่งตั้งข้าราชการพิจารณาเรื่องหลักความซื่อสัตย์สุจริต และให้ทำงานให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

ส่วนกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดง ระบุว่า จะล้มอำมาตย์ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ นายอำพล กล่าวว่า ไม่มีความเห็น อย่าให้ตนวิจารณ์ ซึ่งหากตนเป็นข้าราชเกษียณ ก็จะพูดได้บ้าง แต่ขณะนี้ ตนเป็นองคมนตรี เดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่า ตนคิดอย่างโน้นอย่างนี้ เราต้องพยายามเป็นอำมาตย์ที่เป็นกลาง สิ่งที่คิดให้คิดในใจได้ แต่พูดออกมาไม่ได้ เพราะถ้าพูดแล้ว อาจจะไม่เป็นกลาง ดังนั้น ต้องเป็นมีความกลาง คือ พยายามตามรอยพระองค์ท่าน ตนจึงไม่ควรออกความเห็นเกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองใดๆ

"ผมเป็นองคมนตรีลำดับที่ 8 ก็ยังถูกโจมตีเหมือนกัน เพราะพวกเขาบอกจะตัดอำมาตย์ทิ้ง ตั้งแต่ประธานองคมนตรีลงมาจนถึงข้าราชการ ซึ่งผมก็โดนด้วย ขอไม่พูดดีกว่า" นายอำพลกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการเปิดการสัมมนาช่วงแรกนั้น นายอำพล เกริ่นนำว่า "ผมต้องขอขอบคุณสำนักงาน ก.พ.ที่เห็นว่าผมเป็นอำมาตย์ที่ยังมีคุณธรรมและจริยธรรม เพราะขณะนี้ หลายคนบอกว่าพวกอำมาตย์ไม่ค่อยดีเท่าไร" องคมนตรีอำพล กล่าว

Tags : องคมนตรี เปิดข้อมูล 3 ตัวอย่าง หนี ให้อภัยโทษไม่ได้

view